หลายคนอาจจะติดภาพเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและค้าปลีกของประเทศ แต่อีกด้านหลายคนไม่รู้ว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีสถานการศึกษาดีๆ อย่างสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่มอบทุนการศีกษาจำนวนมากให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษา ทั้งยังทำหน้าที่ช่วยผลิตบุคลากรตามแนวโน้มใหม่ๆของประเทศและโลก เป็น “มหาวิทยาลัยทางเลือก” ที่ครบเครื่อง ล่าสุดเปิดสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระดับปริญญาตรี เพื่อรองรับ Thailand 4.0
บรรยากาศในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) (Panyapiwat Institute of Management: PIM) ในช่วงบ่ายของในวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความคึกคักและชื่นมื่น ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ในรั้วสถาบัน พวกเราเห็นบรรดานักศึกษาใหม่หน้าตาสดใสจับกลุ่มพูดคุยกับเพื่อนใหม่อย่างสนุกสนาน ก่อนที่ทั้งหมดจะชักชวนกันเข้ารับการปฐมนิเทศ ขณะที่นักศึกษาเก่าต่างแฝงตัวอยู่ตามตึกของสาขาวิชาต่างๆ พวกเขารวมกันเป็นกลุ่ม บ้างร่วมทำกิจกรรม บ้างก็ทบทวนเนื้อหาวิชาที่เรียนมาด้วยหน้าตาเคร่งเครียด สลับด้วยเสียงหัวเราะในเวลาเดียวกัน
นักศึกษาส่วนใหญ่ที่นี่ไม่รู้สึกน้อยใจที่ไม่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐ แต่ในทางตรงกันข้าม พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มาเรียนสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์แห่งนี้ เพราะที่นี่ได้หยิบยื่นอนาคตที่ดีให้กับพวกเขา โดยมีทุนการศึกษาจำนวนมากในรูปแบบต่างๆไว้ช่วยเหลือ เนื่องจากมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยมาจากครอบครัวที่ยากจน และมีไม่น้อยที่เป็นบุตรคนแรกของครอบครัวได้เล่าเรียนถึงในระดับปริญญาตรี เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว ด้วยเหตุนี้ ทำให้พวกเขาตระหนักอยู่เสมอว่า โอกาสที่ได้รับเช่นนี้หาได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้น จึงมุ่งหน้าเล่าเรียนอย่างเต็มที่ นำใบปริญญาที่ได้ไปเป็นใบเปิดทางสู่ตลาดแรงงาน เพื่อยกระดับชีวิตของตนและครอบครัวให้ดีขึ้น
“พวกเราให้โอกาสเด็ก ให้ทุนการศึกษาเด็ก ลูกคนแรกที่ได้เข้ามหาวิทยาลัยเยอะมาก พวกเราให้เด็กเข้ามาเรียน ช่วยค่าเทอม ฝึกงานได้ค่าจ้างให้เลี้ยงชีพได้ บางคนเงินหลือก็ส่งเงินกลับบ้านช่วยเหลือครอบครัว” รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เริ่มเกริ่นกับพวกเรา
นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วตั้งแต่ก่อตั้ง ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ช่วยเหลือเด็กนักเรียนให้เข้าถึงการศึกษาระดับสูง เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับพวกเขา สถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2550 ก่อตั้งโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อภายใต้ชื่อ เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเครือเจริญโภคภัณฑ์
ปัจจุบันพีไอเอ็มเติบใหญ่จนเป็นที่รู้จักทั่วประเทศและต่างประเทศ เปิดสอนในระดับปริญญาตรีรวม 10 คณะและเปิดสอนในระดับโทและเอก มีทั้งการเรียนเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาจีน มีศูนย์การเรียนทางไกล 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับคนพื้นที่ห่างไกล จากจำนวนนักศึกษา 400-500 คนในปีแรกที่เปิดสอน เพิ่มมาเป็น 16,000 คนในปีนี้ ถือเป็นอีกสถาบันอุดมศึกษาที่เติบโตเร็วมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนี้ พีไอเอ็มยังสยายปีกเข้าสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่ผ่านมาได้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ระหว่างสถาบัน ปัจจุบันได้เริ่มเดินทางไปโรดโชว์ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแนะนำสถาบันและสาขาการเรียน ทั้งยังมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนได้เข้าเรียน อาทิ พม่า กัมพูชา เวียดนาม
รศ.ดร.สมภพ บอกว่าพีไอเอ็มเป็นโมเดลใหม่และเป็นทางเลือกที่ 3 ในการศึกษาต่อระบบมหาวิทยาลัยของไทย โดยทางเลือกที่ 1 คือ มหาวิทยาลัยของรัฐ และทางเลือกที่ 2 คือ มหาวิทยาลัยเอกชน สำหรับพีไอเอ็มวางตัวเองเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ” (Corporate University) ที่ครบเครื่อง มีสาขาวิชาให้เลือกเกือบจะเท่ากับมหาวิทยาลัยหลักๆที่มี ไม่ว่าจะด้านบริหารธุรกิจ ศึกษาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เกษตร อาหาร โดยชูปรัชญาวิชาการประสานภาคปฏิบัติให้เป็นทางเลือกใหม่ของนักศึกษาและเน้นผลิตบัณฑิตจบแล้วสามารถทำงานได้เลย
“พวกเราผลิตคนเพื่อ ready to work จบแล้วทำงานได้เลย ไม่ต้องลองผิดลองถูก ไม่ต้องไปทดลองงาน เขาสามารถค้นพบตัวเองตั้งแต่ตัวเองเรียนอยู่ รู้ว่าออกทำงานนี้ตัวเองชอบไหม ต่างจากมหาวิทยาลัยทั่วไป นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เลือกเรียนตามเพื่อน ตามพ่อแม่ ตามค่านิยมของสังคม ท้ายสุด ปรากฏว่าไม่ชอบ”
รศ.ดร.สมภพ เป็นอธิการบดีของพีไอเอ็มมา 7 ปีแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจารย์ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้พีไอเอ็มเป็นที่ยอมรับในโลกวิชาการและตลาดแรงงานของประเทศ ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ อธิการบดีคนนี้จึงนำจุดแข็งและจุดอ่อนที่ได้เห็นจากการทำงานในมหาวิทยาลัยของรัฐเข้ามาช่วยเติมเต็มให้กับพีไอเอ็มเพื่อให้นักศึกษาแห่งนี้มีศักยภาพมากที่สุดก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
“เรารับรองเลยว่า เด็กของเราไม่ด้อยกว่าที่อื่น ไม่ใช่เราเองเก่งกล้าสามารถ แต่เพราะเด็กเรามีประสบการณ์ในการทำงาน อย่างเรียนค้าปลีกที่อื่น ก็เรียนทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่”
นอกจากนี้ อธิการบดี ยังกล่าวอีกว่า ตนยังพยายามสร้างเครือข่ายกับสังคมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาต่างๆและภาคเอกชน เพื่อให้พีไอเอ็มเป็นสถาบันการศึกษาที่สมบูรณ์แบบที่สุดรองรับกับตลาดแรงงานในอนาคต ปัจจุบันนอกเหนือเป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ แต่ยังสร้างเครือข่ายกับ 115 มหาวิทยาลัยใน 26 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ภาคธุรกิจพีไอเอ็มมีเครือข่ายกับ 492 องค์กรธุรกิจทั่วโลก รวมถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งที่ตั้งอยู่ใน 20 ประเทศและในประเทศไทยได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา ให้ได้เข้าฝึกงาน ไม่ว่าจะเป็นซีพี ออลล์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) หรือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังมีซัพพลายเออร์มากกว่า 1,000 แห่งของ ซีพี ออลล์ ไม่เพียงที่พวกเขาจะเต็มใจมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ ให้ทุนการศึกษาและรับนักศึกษาเข้าฝึกงานแล้ว แต่ผู้ผลิตเหล่านี้ ยังพยายามร่วมมือด้านการวิจัยใหม่ๆกับสถาบันในอนาคตอีกด้วย
ปัจจุบันบัณฑิตพีไอเอ็มตอบโจทย์การจ้างงานขององค์กรธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ภาษาจีนธุรกิจ เป็นที่ต้องการของตลาด บางรายมีผู้ประกอบการมาจองก่อนจบการศึกษาและบัณฑิตบางรายเลือกที่เป็นเจ้าของธุรกิจโดยขอซื้อแฟรนไชส์จากซีพี ออลล์ เปิดร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นของตนเอง ขณะที่กลุ่มใหญ่ที่จบจากสาขาการจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ก็เข้าทำงานกับร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและธุรกิจค้าปลีกของซีพี ออลล์ ตามนโยบายผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนให้กับบริษัท เพื่อรองรับการการขยายสาขา
รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า โดยรวมนักศึกษาที่นี่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเพราะว่า ทั้งหมดได้ฝึกงานจริงขณะเรียน โดยเฉพาะในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งแต่ละคนจะได้ฝึกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสาขาที่ตนเองเรียน ทำให้บัณฑิตที่จบออกไปมีภาวะความเป็นผู้ใหญ่สูงและการจัดการเรื่องเวลา
“เด็กทุกคนถูกส่งให้ไปฝึกงานทำให้เขาได้สื่อสาร มี socialization สามารถทำให้ร่วมงานกับคนอื่นเป็น มีมนุษยสัมพันธ์ ขาดสิ่งเหล่านี้จะทำงานลำบาก ตอนแรกก็อิดออด ทั้งพ่อและแม่ แต่ต่อมาก็โอเค เพราะเด็กรู้จักรับผิดชอบมากขึ้น จุดประสงค์เราต้องการให้เด็กโต” รศ.ดร.สมภพ กล่าว พร้อมรอยยิ้ม
สำหรับอนาคต รศ.ดร.สมภพ บอกว่า สถาบันแห่งนี้จะต้องพัฒนาให้เติบใหญ่แบบมีคุณภาพต่อไป โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตจะให้สอดคล้องกับ Thailand 4.0 ตามแนวทางของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม อาจารย์บอกว่า นับเป็นความโชคดีที่สาขาส่วนใหญ่ของสถาบันสอดคล้องกับ Thailand 4.0 อยู่แล้ว อย่างเช่น smart agriculture ก็มีคณะการจัดการนวัตกรรมการเกษตรและคณะอุตสาหกรรมเกษตร smart service ก็มีธุรกิจการบิน ธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก ค้าส่ง การค้าสมัยใหม่ โลจิสติกส์ พร้อมมีศูนย์บ่มเพาะทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ ศูนย์นวัตกรรมปัญญาภิวัฒน์ ส่วน smart device ได้เกี่ยวข้องกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ล่าสุดในปี 2560 จะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระดับปริญญาตรี เพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมในอนาคตที่มีแนวโน้มมาใช้หุ่นยนต์ช่วยงานเพิ่มมากขึ้น
“การเปิดสาขาใหม่ๆนี้ จะล้อไปก้บแนวโน้มใหม่ๆของประเทศไทยและความต้องการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันเครือฯกำลังมุ่งสู่ธุรกิจไฮเทค พยายามผนึกกำลังภายในเครือฯ สร้างความเชื่อมโยงกันให้ได้ การเชื่อมโยงนี้จะขึ้นเกิดได้คือ เทคโนโลยีใหม่ที่เป็น convergent technology เช่น internet of things และ big data ที่จะนำไปสู่การ synergy ทำให้เราเน้นการเรียนการสอนด้านนี้มากขึ้น”
อาจารย์บอกว่า บัณฑิตที่จบจากที่นี่จะถูกพร่ำสอนให้รู้จักคำ 2 คำขณะเล่าเรียนคือ management ต้องจัดการได้ ไม่ว่าจะมีปัญหาใดๆเข้ามาก็ตามที และ innovation แม้ไม่ได้เป็นผู้สร้างนวัตกรรม แต่บัณฑิตต้องใช้นวัตกรรมให้เป็น นอกจากนี้ ไม่เพียงสอนให้พวกเขาเป็นคนเก่งมีความสามารถ แต่สถาบันยังสอนให้เขาเป็นคนดีของสังคม มีจริยธรรมในการดำเนินชีวิตและทำธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล ที่ถูกย้ำเน้นในหลักสูตรการดำเนินธุรกิจ
แม้ว่าสถาบันจะไม่ได้กลุ่มเด็กหัวกะทิของประเทศเข้ามาเล่าเรียน แต่อาจารย์บอกว่า เขามีความสุขกับการบริหารงานที่นี่มากเพราะสามารถช่วยให้เด็กอีกกลุ่มให้ประสบความสำเร็จ มีหน้าที่การงานที่มั่นคงในสังคมและช่วยยกระดับชีวิตในครอบครัวของพวกเขาให้ดีขึ้นตามมา สิ่งนี้อาจารย์บอกว่า “เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจมากกว่า” อาจารย์ทิ้งท้ายก่อนการสัมภาษณ์จะจบลงในวันนั้น