สภาวะที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ารับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ โดยสืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องนับปี... นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของประเทศไทยว่าเราจะขับเคลื่อน EEC ในสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร วารสาร ‘บัวบาน’ ฉบับนี้มีโอกาสได้สนทนากับ คุณเบอร์กิท ฮานสล์ (Ms. Birgit Hansl) ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ถึงมุมมองของธนาคารโลกต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ EEC และหนึ่งในโครงการพื้นฐานที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะส่งผลให้ไทยขึ้นเป็นผู้นำด้านการลงทุน เป็นก้าวสำคัญพาประเทศไทยก้าวสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน
โครงการ EEC กับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในฐานะที่ธนาคารโลกมีบทบาทในการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อรัฐบาลประเทศต่างๆในหลายด้าน ทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจ ระดับการกำกับดูแลทางกฎหมายที่เหมาะสม รวมทั้งให้คำปรึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ คุณเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ให้ความเห็นว่า การลงทุนในโครงการ EEC เป็นก้าวที่สำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงได้ โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ
“EEC เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญมาก ถ้าประเทศไทยต้องการที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของการพัฒนาในระยะยาว และกลายเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้สูง การเพิ่มการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นเรื่องที่จำเป็น ขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนระยะยาวคู่ขนานกันไปด้วย”
ในทัศนะของคุณเบอร์กิทมองว่า การลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่ ‘ความยั่งยืน’ หรือ Sustainability นั้น หมายถึงการเติบโตอย่างสมดุลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน รวมถึงการบริหารต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่หาผลประโยชน์ด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ไทยยังมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่อยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นที่สนใจของการลงทุนจากต่างประเทศ
“การลงทุนเพื่อความยั่งยืน หมายถึงการลงทุนที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งควรนำไปสู่ความมั่งคั่งร่วมกันและการสร้างงาน ดังนั้นการพัฒนาให้แรงงานมีทักษะที่เอื้อต่อตลาดแรงงานในทศวรรษหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แรงงานสามารถรับงานที่มีค่าตอบแทนสูงซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวของพวกเขามีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้นได้ ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนต้องสามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นคือการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน”
'ความยั่งยืน’ หมายถึงการเติบโตอย่างสมดุลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน รวมถึงการบริหารต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่หาผลประโยชน์ด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม
โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ พัฒนาเศรษฐกิจสมดุล สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ
หนึ่งในการลงทุนภายใต้โครงการ EEC คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งจะเป็นการสร้างความสมดุลให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจทั่วทั้งประเทศ เนื่องจากในปัจจุบัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีการพัฒนาขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ประเทศไทยต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายออกไปยังภูมิภาคอื่น
“การสร้างศูนย์กลางระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงฯ จึงมีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตขึ้นของพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้อาจจะยังได้รับประโยชน์ไม่เท่ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพฯ ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่เชื่อมต่อทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตน้อยกว่าให้สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและสร้างความเจริญสำหรับคนไทยทุกคน” คุณเบอร์กิทกล่าว ก่อนเสริมว่า นอกจากความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วประเทศแล้ว โครงการรถไฟความเร็วสูงฯจะทำให้เกิดการติดต่อสัมพันธ์ที่มากขึ้นในหมู่ประชาชน โดยสามารถท่องเที่ยวไป-กลับในภูมิภาคที่เคยมีความยากลำบากด้านการเดินทาง ทั้งยังสร้างความสะดวก
ในด้านโลจิสติกส์ มีการถ่ายโยงกันของสินค้าต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น
สิ่งสำคัญคือโครงการนี้จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ให้แก่ภาคเอกชน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้มีโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นการลงทุนที่เพิ่มเข้ามาในภูมิภาค ส่งผลให้มีตำแหน่งงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ไม่ใช่เพียงแค่งานที่เพิ่มเข้ามาจากการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยตรง แต่ยังเป็นการรองรับธุรกิจที่ตั้งอยู่รอบๆ เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งตำแหน่งงานในบริษัทขนาดกลางและเล็กที่เชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานนี้
การสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อบรรลุแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งเป้าหมายที่ต้องการยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี ค.ศ. 2037
“สิ่งที่เราทำคือการให้คำปรึกษาต่อหน่วยงานต่างๆ ว่าอะไรที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และเมื่อเรามองไปยังอัตราการเติบโตที่คาดหวังไว้ ก็พบว่าประเทศไทยจำเป็นต้องไต่ระดับความเติบโตอย่างรวดเร็วภายในอีกสิบปีข้างหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยต้องเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 5% ต่อปี นอกจากนี้การเติบโตของการลงทุนตามเปอร์เซ็นต์ของ GDP จะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 40% ดังนั้นไทยจึงต้องการการลงทุนขนาดใหญ่ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งทุนทรัพยากรมนุษย์ เพื่อบรรลุอัตราการเติบโตในระดับตัวเลขที่กล่าวมา”
‘ทุนมนุษย์’ ความสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่แล้ว อีกสิ่งสำคัญที่จะสร้างการเติบโตเชิงรุกให้ประเทศในมุมมองของคุณเบอร์กิท คือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ประชากรมีคุณภาพสูงสุดและโตไปพร้อมกับประเทศ การลงทุนด้านมนุษย์จะทำให้การเติบโตมีความครอบคลุมมากขึ้น จากดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index-HCI) ของธนาคารโลกล่าสุด ที่ประเมินประสิทธิภาพของแรงงานในอนาคตผ่านการพัฒนาด้านการศึกษาและสุขภาพของเด็กและเยาวชน พบว่าประเทศไทยทำคะแนนได้ดี
“ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 2010-2020 พบว่า ดัชนีทุนมนุษย์ของไทยเพิ่มจาก 0.58 เป็น 0.61 ซึ่งหมายความว่า เด็กไทยที่เกิดวันนี้ จะมีความสามารถและประสิทธิภาพในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน 61% แม้ว่าดัชนีของไทยจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แต่ก็ยังมีช่องว่างสำหรับการปรับปรุง ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยอาจพัฒนาหลักสูตรและระบบการศึกษาของโรงเรียนที่จะสนับสนุนเยาวชนให้ได้รับทักษะที่เหมาะสมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน”
ในขณะเดียวกันคุณเบอร์กิทยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขยายระยะเวลาการทำงานรวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ประชากรสูงวัย “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตของประชากรสูงวัยมากที่สุด โดยอัตราส่วนของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 13% ของประชากรในวันนี้เป็น 31% ในปี ค.ศ. 2060 ซึ่งจะเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับที่ 22 ของโลก จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทยเป็นสัญญาณว่ารายได้เฉลี่ยต่อบุคคลลดลง
“ในปัจจุบันประชาชนมีการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น ดำรงชีวิตยาวนานกว่าเดิม และอยู่ในวัยทำงานยาวนานขึ้นเพราะอายุขัยเพิ่มขึ้น ผู้หญิงเข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้นเนื่องจากมีลูกน้อยลง นโยบายที่จะตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้คือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงาน หรือการเพิ่มอายุเกษียณ อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมการย้ายถิ่นและปรับระบบบำนาญได้เช่นกัน นอกจากนี้ เรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะกลายเป็นเรื่องสำคัญนโยบายต้องสามารถขยายความพร้อมของโอกาสทางการศึกษาและการฝึกอบรม หรือการลงทุนเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ”
ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อความท้าทายของ EEC ในอนาคต
ในปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาเกือบปีแล้ว คุณเบอร์กิทให้ความเห็นว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อการลงทุนในโปรเจกต์ EEC และนำไปสู่การพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้นของบรรดานักลงทุนว่าควรจะลงทุนที่ใด นักลงทุนจำนวนมากอาจจะต้องทบทวนกลยุทธ์การลงทุนและทบทวนการวางแผนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก (Global Supply Chain) ในทศวรรษหน้า นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านการค้าระดับโลก (Global Trade) อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนใน EEC ได้เช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศไทยยังคงมีความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุน “มีหลายปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การมีแรงงานที่มีทักษะที่เหมาะสม ซึ่งจะกลายเป็นความต้องการหลักสำหรับนักลงทุนในเมืองไทยที่ต้องการเข้ามาตั้งบริษัทที่นี่และผลิตสินค้ามูลค่าสูง ดังนั้นประเทศไทยควรให้ความสำคัญอย่างมากกับการลงทุนด้านทุนมนุษย์ นอกเหนือจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรักษาความได้เปรียบ
“ความสามารถในการแข่งขันของไทย คือ แรงงานมีทักษะการทำงานในระดับสูง และประชากรที่มีการศึกษา ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง ความจริงแล้วระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีการพัฒนาก้าวหน้ามาก แต่ควรจะมีการขยายเช่นเดียวกับโครงการ EEC ให้ครอบคลุมพื้นที่ในประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนให้แก่บริษัทต่างๆ และเพิ่มการจ้างงานสำหรับแรงงานไทยไปพร้อมๆ กัน”
ครั้นเมื่อให้มองถึงปัจจัยที่จะเอื้อให้ EEC บรรลุผลสำเร็จได้ คุณเบอร์กิทกล่าวว่า “เมื่อมองไปยังอนาคต กระแสการลงทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ประสบความสำเร็จ หากไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โรงงานใหม่ๆ และทุนมนุษย์ เป็นไปได้ยากมากที่ productivity จะเพิ่มขึ้น การลงทุนเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจมี productivity มากขึ้น เนื่องจากใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการผลิตผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสร้างบริการเสริมใหม่ๆ ให้แก่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น การลงทุนยังสามารถเพิ่ม productivity ให้แก่แรงงาน เมื่อแรงงานมี productivity ที่สูงขึ้นจะทำให้มีโอกาสที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น รายได้ที่สูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนได้เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ทำให้ภาคครัวเรือนเติบโตไปพร้อมๆ กัน นี่คือการเติบโตที่เราต้องการเห็นในท้ายที่สุด แรงงานที่มีรายได้มากพอจะสามารถบริโภคได้มากขึ้น สามารถซื้อที่อยู่อาศัย พร้อมดูแลตนเองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพและการศึกษาให้แก่ครอบครัวของตนได้ดียิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะตามมาทีหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเราจึงต้องการการลงทุนเพื่อการเติบโตที่สูงขึ้นในอนาคต”
โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ จะทำให้เกิดการติดต่อสัมพันธ์ที่มากขึ้นในหมู่ประชาชน สามารถท่องเที่ยวไป-กลับในภูมิภาคที่เคยมีความยากลำบากด้านการเดินทาง ทั้งยังสร้างความสะดวกในด้านโลจิสติกส์ มีการถ่ายโยงกันของสินค้าต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น
ที่มา: วารสารบัวบาน ฉบับ 15 http://www.cp-enews.com/news/details/cplifeplus/5065