• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

5 เทรนด์เปลี่ยนโลกการทำงานปี 2021


23 ธันวาคม 2563



1. Flat & Lean

ในอดีตโครงสร้างองค์กรจะมีโครงสร้างแบบลำดับขั้นตามพีระมิด และใช้วิธีบริหารแบบรวมศูนย์ โดยอํานาจการตัดสินใจต่าง ๆ จะอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงแทบทั้งหมด ขณะที่ผู้บริหารระดับรองลงมาและพนักงานเป็นเพียงผู้รับคําสั่งไปปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ มี job description ที่ค่อนข้างตายตัว ซึ่งองค์กรส่วนมากโดยเฉพาะองค์กรที่มีขนาดใหญ่และอยู่มานาน มักจะมีโครงสร้างองค์กรในลักษณะนี้ แต่ปัจจุบันธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากต้องรอให้ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจทุกเรื่องก็อาจจะไม่ทันการ อีกทั้งการมีลำดับขั้นมากเกินไปก็หมายถึงค่าใช้จ่ายในการจ้างคนที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน องค์กรจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกความท้าทายขององค์กรยักษ์ใหญ่ในการปรับตัว

Adecco คาดว่าโครงสร้างองค์กรในปี 2021 และต่อจากนี้ จะมีความ flat และ lean มากขึ้น เพื่อให้กระบวนการตัดสินใจสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น ตอบสนองผู้บริโภคและลูกค้าได้ทันท่วงที และลดงบประมาณการจ้างงานในตำแหน่งที่ไม่จำเป็น โดยองค์กรจะหันมาพึ่งพาการใช้บริการ outsource มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ้างพนักงาน outsource โดยฝาก headcount ไว้กับเอเจนซี่ การจ้างพนักงานฟรีแลนซ์และพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราว หรือการจ้างเอเจนซี่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจในบางส่วน เพื่อทดแทนจำนวนพนักงานประจำที่ถูกลดทอนตามโครงสร้างองค์กรที่ปรับใหม่ และเสริมกำลังคนในโปรเจกต์เร่งด่วนที่การสรรหาพนักงานประจำในรูปแบบปกติอาจทำได้ไม่รวดเร็วเท่าและไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป
 

รูปแบบโครงสร้างขององค์กร Agile
 

  • Flatter Organization เป็นโครงสร้างองค์กรแบบราบที่ยังมีผู้จัดการอยู่ แต่ลดจำนวนให้มีน้อยที่สุดเพื่อลดลำดับขั้นการตัดสินใจ และกระจายอำนาจตัดสินใจให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการที่อยู่หน้างาน
  • Flatarchies เป็นโครงสร้างองค์กรที่ยังมีความเป็นลำดับขั้นอยู่ แต่ยืดหยุ่นสำหรับการปรับมาใช้โครงสร้างใหม่ที่ราบขึ้นชั่วคราว เช่น การฟอร์มทีมเฉพาะกิจขึ้นมาชั่วคราว โดยนำผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาทำงานร่วมกัน ไม่มีใครเป็นนายใคร เมื่อโปรเจกต์จบก็กลับไปแยกย้ายทำงานตามหน้าที่เดิม
  • Holacracy เป็นโครงสร้างองค์กรที่ไม่มีลำดับขั้นและไม่แบ่งแยกสายงาน แต่แบ่งพนักงานออกเป็นทีมเพื่อรับผิดชอบงานต่างๆ ตามเป้าหมายขององค์กร พนักงานจะไม่มีหน้าที่หรือตำแหน่งตายตัว แต่ทำงานตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ



2. Innovation Culture

เมื่อธุรกิจแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมและการตอบสนองผู้บริโภคที่รวดเร็ว การทำงานจึงไม่สามารถเน้น operation อย่างเดียวตามที่เคยเป็นมาได้อีกต่อไป แต่ต้องหันมาโฟกัสที่นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งการจะสร้างนวัตกรรมได้นั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่ตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแล หรือการกำหนดนโยบายจากผู้บริหารเท่านั้น หากแต่กุญแจสำคัญอยู่ที่ การสร้าง innovation culture ให้เกิดขึ้นจริงในองค์กร

ดังนั้นอีกหนึ่งในความท้ายทายขององค์กรในปี 2021 คือการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ องค์กรต้องกล้าออกจาก comfort zone ยืดหยุ่นกฎระเบียบหรือประเพณีปฏิบัติต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน กล้าที่จะทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และยอมรับว่าความล้มเหลวหรือความผิดพลาดเป็นหนึ่งในขั้นตอนก่อนที่จะประสบความสำเร็จ เพื่อให้พนักงานกล้าริเริ่มสิ่งใหม่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือลงโทษ
 

Case Study

 
  • Google จัดสรรเวลาการทำงานของพนักงานให้ 20% ของเวลาทำงานเป็นช่วงเวลาของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆโดยเฉพาะ
  • ผู้บริหาร 3M ออกกฎให้พนักงานต้องฟังคนที่มีไอเดียจะนำเสนอทุกครั้ง โดยไอเดียจะถูกส่งไปยังทีมเฉพาะกิจ 3 ทีมคือทีม “scouts” “entrepreneurs” และ “implementers” ที่รวมคนเก่งจากแผนกต่างๆ ที่มีประสบการณ์และแบคกราวด์ต่างกันมาช่วยกันคิดต่อยอดไอเดียและทดลองความเป็นไปได้ต่างๆ


3. Learning Agility

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและช่องว่างทักษะที่มีมากในตลาดแรงงาน ทำให้การ reskill และ upskill ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์กรต้องทำ แต่หลายองค์กรยังยึดติดกับการพัฒนาคนผ่านการจัดอบรมให้พนักงานมาเรียนในห้องเรียนแบบเดิมๆ ซึ่งบางครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง ความรู้ที่ได้อาจไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงเพราะติดที่ระบบการทำงานหรือวัฒนธรรมขององค์กรที่มีอยู่เดิม หรือบางครั้งกว่าจะเรียนจบ และนำความรู้มาใช้ ก็โดนคู่แข่งแซงทำไปก่อนแล้ว จึงทำให้การอบรมไม่ได้ประสิทธิผลเท่าที่ควร

Adecco มองว่าเทรนด์การเรียนรู้ในปี 2021 นี้ จะเน้นการเรียนรู้แบบ fast track โดยการสร้าง learning agility หรือการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นในองค์กร เพราะในยุคที่ทุกองค์กรแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมนี้ การทำงานจะไม่สามารถพึ่งพา best practice ได้เหมือนก่อน เนื่องจากทุกอย่างกลายเป็นเรื่องใหม่หมด ดังนั้นรูปแบบการเรียนรู้ของพนักงานจะปรับสู่การเรียนรู้ผ่านการทดลองทำสิ่งใหม่หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำงาน ที่พนักงานอาจต้องเริ่มต้นจากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลผ่านแหล่งความรู้ในอินเทอร์เน็ต หัดทำเอง เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานที่มีความรู้และชุดทักษะต่างกัน เรียนรู้จากบริษัท outsource หรือ partner ที่ร่วมงานด้วย สิ่งเหล่านี้จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ชั้นยอดสำหรับพนักงาน ทำให้องค์กรได้พนักงานที่มีทักษะตรงตามความต้องการมากขึ้น และยังเพิ่มโอกาสการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการที่รูปแบบการเรียนรู้แบบนี้จะเกิดขึ้นได้ องค์กรก็ต้องมีความยืดหยุ่นก่อนเพราะหากยังยึดติดกับรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ พนักงานก็จะไม่มีพื้นที่ให้ทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เลย
 

4. Inclusive Leadership

ในโลกการทำงานยุคใหม่ ปัญหาหรือโจทย์ในการทำงานจะมีความยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น การทำงานจะต้องใช้การระดมความคิดและอาศัยความร่วมมือของทีมงานที่มีความแตกต่างและหลากหลายทางความคิดมาช่วยในการแก้ปัญหา ดังนั้นบทบาทของผู้นำก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นสั่งการให้ลูกน้องปฏิบัติตามจะเปลี่ยนเป็นเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม

ผู้นำจะมีบทบาทในการสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนในทีม สร้างบรรยากาศและพื้นที่ที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ เปิดใจรับฟังทั้งข้อคิดเห็นและข้อขัดแย้ง รวมถึงแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาคนและนวัตกรรม ผู้นำยุคใหม่จึงต้องมีความกล้าอย่างมากที่จะท้าทายขนบเดิม ต่อสู้กับแรงกดดันต่างๆ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร
 

คุณสมบัติผู้นำ 2021

 
  • Growth Mindset
  • วิสัยทัศน์และเป้าหมายชัดเจน
  • ยืดหยุ่นและกล้าทำลายข้อจำกัด
  • สร้างแรงบันดาลใจและสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน
  • สนับสนุนความหลากหลายและการมีส่วนร่วม
  • ทำตัวเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว unlearn และ relearn ได้ตลอดเวลา


 

5. Employee Well-being

ในภาวะที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดและความกดดันกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน สิ่งที่องค์กรควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือสุขภาพและความเป็นอยู่ของ โดยองค์กรอาจต้องปรับมุมมองให้ครอบคลุมมากขึ้น จากที่เคยมองแค่สุขภาพกาย ก็จะต้องเปลี่ยนมาให้ความสำคัญในการดูแลความรู้สึกทางด้านจิตใจและปัจจัยอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับความสุขในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดความกดดันที่มาจากหน้าที่และเนื้องานที่รับผิดชอบ ความมั่นคงทางการเงิน สังคมการทำงาน วิถีชีวิต เพราะหากสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานไม่ดีแล้วก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน well-being จึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรไม่ควรมองข้ามที่จะปรับปรุงในปี 2021 นี้


โดยองค์กรควรเปิดพื้นที่ให้พนักงานเข้ามาแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในนโยบาย well being รวมถึงกล้าที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานบางอย่างที่อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน เช่น การยกเลิกค่านิยมการทำงานหนักและหันมาให้ความสำคัญกับ work-life balance การพิจารณาการ work from home แม้ผ่านช่วงโรคระบาดมาแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ลดความเครียดจากการเดินทางและสร้างสมดุลชีวิตให้เพิ่มมากขึ้น หรือการส่งเสริมการสื่อสารกับพนักงานด้วย empathy เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นแบบรับฟังและช่วยเหลือกัน และลดความกดดันในการทำงาน หรือจัดให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อช่วยรับฟังความเครียดหรือความกังวลต่างๆ ของพนักงาน เป็นต้น วิธีเหล่านี้นอกจะเสียค่าใช้จ่ายไม่มากแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานในระยะยาวได้อีกด้วย

 

บทความโดย: Adecco

ข่าวยอดนิยม

ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12...

09 ตุลาคม 2558
11005

การวัดผลกระทบจากสินค้า Product Environmental Footprint (PEF)...

02 กุมภาพันธ์ 2558
4221

มุมมองต่อบรรจุภัณฑ์ของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials ในยุโรป...

18 มีนาคม 2558
4138

รู้จักเทคโนโลยี “สวนแนวตั้ง” ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ปิด แก้ปัญหาเผ...

15 พฤศจิกายน 2563
3707

แชร์ข่าวสาร

ธนาคารโลกแนะเพิ่มลงทุน ยกระดับสู่ประเทศรายได้สูง... Google ครองแชมป์บริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรดีที่สุดปี 2020 บริ...

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

E-commerce ไม่ใช่แค่เรื่องของคนรุ่นใหม่ การค้าออนไลน์กำลังบูมในกลุ่มผู...

21 มกราคม 2564
80

ส่อง 19 สายงานต้อง “อัพสกิล” ข้ามสาย หากอยากไปต่อและเติบโตในปี 2021...

20 มกราคม 2564
113

จับตา 4 เทรนด์กำหนดอนาคตธุรกิจคลาวด์...

19 มกราคม 2564
143

3 เทคนิคซื้อสินค้ารักษ์โลก: จะช่วยโลกทั้งที ต้องคิดให้ดี มองให้ไกลกว่า...

12 มกราคม 2564
520

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th