เพราะการเรียนรู้แบบดั้งเดิมยังขาดทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสารและแก้ปัญหา รวมถึงการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ ชุมชนการศึกษาทั่วโลกจึงได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมๆ กับการสนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดความคิดริเริ่มและการวิจัยเกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ขึ้น โดยเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 สภาเศรษฐกิจโลก ได้เปิดเผยทักษะที่สำคัญ 16 แบบ ซึ่งจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
เดวิด รอสส์ (David Ross) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาระดับโลก และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารพันธมิตรเพื่อการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 เคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับทักษะต่างๆ เหล่านี้ไว้ว่ามีความสำคัญต่อเยาวชนโลกมากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะมิได้เป็นเพียงกรอบสำหรับการเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จในห้องเรียน แต่ยังการันตีว่าเด็กๆ จะสามารถเติบโตได้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น
ด้าน เรย์มอนด์ เดอ วิลลิเยร์ (Raymond de Villiers) วิทยากรมืออาชีพและที่ปรึกษาระดับนานาชาติผู้ให้ความสำคัญกับโลกสมัยใหม่ การจัดการเชิงความสามารถ รวมถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงบุคลากรขยายความว่า เทคโนโลยีคือปัจจัยที่จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งผู้สอนสามารถเข้าไปรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกมาย่อยให้เข้าใจง่าย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงจากชีวิตของตนเองร่วมกับผู้เรียนด้วย นอกจากนี้ การเล่นยังเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิภาพมากเช่นกัน โดยผู้ปกครองเองก็ควรให้ความสำคัญในการสร้างพื้นที่สำหรับประสบการณ์และวิธีการเรียนรู้อื่นๆ ที่ปราศจากโครงสร้างอันเป็นแบบแผนซึ่งบูรณาการเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาคุณสมบัติของเยาวชน รวมถึงความสามารถที่จะยืนหยัดอย่างมั่นคงในโลกการทำงานในอนาคตได้ สอดคล้องกับข้อความตอนหนึ่งที่ ฮิวจ์ เดลานี หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เขียนไว้ในบทความเรื่อง ‘การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21 : การพัฒนาทักษะคือหัวใจสำคัญของการศึกษา’
“คำว่า ‘การศึกษาสำหรับศตวรรษที่ 21’ ย้ำให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้นเรื่อยๆ และระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัว โดยไม่ใช่แค่การปฏิรูปเพียงครั้งคราว แต่ต้องเป็นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของเยาวชน สังคม และตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต”
อ้างอิงจาก วารสารบัวบาน ฉบับที่ 11