• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

ถอดรหัสคำเตือน IMF ระวัง เศรษฐกิจโลกรูดไม่มีเบรก


โดย ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

17 ตุลาคม 2562
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

คำปราศรัยครั้งแรกสุดในฐานะ กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ของ คริสตาลินา จอร์จีวา นักเศรษฐศาสตร์ชาวบัลแกเรีย ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งสืบต่อจาก คริสตีน ลาร์การ์ด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฟังเผิน ๆ เป็นการบอกเล่าถึงสถานะโดยรวมของเศรษฐกิจโลกตามความเป็นจริงเหมือนที่ทุกคนสัมผัสได้อยู่ในเวลานี้

 

จอร์จีวาบอกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังตกอยู่ในภาวะชะลอตัว การค้าระหว่างประเทศแทบ “หยุดนิ่ง” ส่งผลให้เกิดการชะงักงัน หรือปั่นป่วนขึ้นในระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก กระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจและผู้บริโภค ลุกลามจากภาคการส่งออกไปยังภาคการผลิต การบริการ และส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นทั้งในด้านการลงทุนของบริษัทธุรกิจต่าง ๆ และทั้งต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในอันที่จะควักเงินออกจากกระเป๋ามาจับจ่าย

 

กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟคนใหม่บอกเล่าถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวไปทั้งโลกในเวลานี้ โดยให้น้ำหนักไปที่เรื่องของ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นสำคัญ

 

“เราเคยพูดกันมามากว่า ความขัดแย้งทางการค้านั้นเป็นอันตราย ตอนนี้เราได้เห็นกันแล้วว่า มันก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นจริง ๆ”

 

ในทรรศนะของไอเอ็มเอฟ สงครามการค้าครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกากับจีน ก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 200,000 ล้านดอลลาร์ของจำนวนนั้น คือ “ผลกระทบโดยตรง” ต่อธุรกิจและผู้บริโภค อีกส่วนที่ใหญ่โตกว่ามาก คือ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุน ในการบริโภคลดลงมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์นั้นเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 0.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของโลกทั้งหมดในปีนี้

 

“เท่ากับว่า อยู่ดี ๆ จีดีพีของสวิตฯทั้งประเทศถูกลบหายไปจากจีดีพีของทั้งโลก” จอร์จีวาเปรียบเปรยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าเอาไว้เช่นนั้น

 

แต่จอร์จีวาย้ำเอาไว้ชัดเจนว่า สงครามการค้าไม่ได้เป็นปัจจัยลบเพียงอย่างเดียวที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีการพ้นจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)ของอังกฤษ หรือเบร็กซิต และความตึงเครียดระหว่างประเทศอื่น ๆ 

 

กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟคนใหม่ระบุว่า สภาวการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า เบร็กซิตจะกลายเป็น “ความเจ็บปวด” สำหรับประชาชนอังกฤษโดยรวม แต่ไอเอ็มเอฟกังวลว่า เบร็กซิตจะส่งผลกระทบซ้ำซ้อนต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำที่ต้องพึ่งพาตลาดอังกฤษและอียู ที่เผชิญหน้ากับปัญหาจากสงครามการค้าอยู่ก่อนแล้ว

 

จอร์จีวาบอกว่า ในเมื่อเป็นภาวะชะลอตัวที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของแทบจะทุกประเทศพร้อม ๆ กัน ทุกประเทศก็ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้พร้อมคำถามคือ แก้อย่างไร ?

 

การกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดจากการชะลอตัวหนีไม่พ้น 2 ทาง หากไม่ใช้มาตรการทางการเงินก็เป็นมาตรการด้านการคลัง กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟบอกว่า แนวทางแก้ไขย่อมแตกต่างกันออกไปตามสภาวการณ์ในแต่ละประเทศ

 

ในสภาพอัตราเงินเฟ้อต่ำ การขยายตัวต่ำ อย่างเช่นที่เป็นอยู่นี้ การใช้นโยบายรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ย่อมส่งผลดีต่อการบริโภค กระตุ้นให้เกิดการใช้สอย เกิดการลงทุนไปในตัว แต่จอร์จีวาเตือนว่า ในหลายประเทศไม่สามารถใช้วิธีการนี้ได้อีกแล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยแทบจะเป็นศูนย์ หรือไม่ก็ติดลบในหลายประเทศแล้วด้วยซ้ำไป

 

ที่สำคัญก็คือการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตหนี้ในภาคเอกชนขึ้น ด้วยเหตุที่ผู้ลงทุนปล่อยกู้เลือกที่จะลงทุนเสี่ยงมากขึ้น เพราะต้องการได้ผลตอบแทนสูง

 

จอร์จีวาระบุว่า จากการวิเคราะห์ล่าสุดของไอเอ็มเอฟ หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ขึ้น หนี้สินมากถึง 19 ล้านล้านดอลลาร์ เสี่ยงต่อการกลายเป็นหนี้เสีย เพราะการผิดนัดชำระหนี้ หรือเบี้ยวหนี้

 

คำแนะนำของไอเอ็มเอฟก็คือ ประเทศไหนที่ใช้มาตรการทางการเงินไม่ได้ก็ต้องหันมาใช้มาตรการด้านการคลัง ใช้การลงทุนจากภาครัฐในโครงการสร้างหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของการบริโภคและของเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

 

แต่จอร์จีวามีข้อสังเกตตามหลังมาด้วยเช่นเดียวกัน นั่นคือในเวลานี้ปริมาณหนี้ภาครัฐทั่วโลกรวมกันกำลังใกล้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว

 

สิ่งที่จอร์จีวาไม่ได้บอกออกมาชัดเจนก็คือ ในสภาวะกดดันเช่นนี้อาจมีบางประเทศที่ไม่สามารถใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อแก้ปัญหาชะลอตัวครั้งนี้ได้ ไม่ว่าจะด้วยปัญหาดอกเบี้ยก็ดี ปัญหาหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ดี

 

นั่นหมายถึงว่า อาจมีบางประเทศที่ต้องเผชิญปัญหาการทรุดตัวต่อเนื่องทางเศรษฐกิจ ตกลงสู่ภาวะถดถอยและตกต่ำแบบไม่ติดเบรกได้เช่นกันนั่นเอง

 

ข่าวยอดนิยม

ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12...

09 ตุลาคม 2558
11000

การวัดผลกระทบจากสินค้า Product Environmental Footprint (PEF)...

02 กุมภาพันธ์ 2558
4215

มุมมองต่อบรรจุภัณฑ์ของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials ในยุโรป...

18 มีนาคม 2558
4131

รู้จักเทคโนโลยี “สวนแนวตั้ง” ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ปิด แก้ปัญหาเผ...

15 พฤศจิกายน 2563
3652

แชร์ข่าวสาร

'ซีอีโอโลก' พัฒนาแรงงาน... สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ฉุดเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก...
  • เศรษฐกิจโลก
  • ไอเอ็มเอฟ
  • IMF
  • เบร็คซิท

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

3 เทคนิคซื้อสินค้ารักษ์โลก: จะช่วยโลกทั้งที ต้องคิดให้ดี มองให้ไกลกว่า...

12 มกราคม 2564
257

ตกลงต้องโหลดไหม ? ไขข้อข้องใจ ‘หมอชนะ’ แอปนี้จะพาเราชนะ COVID-19 ได้หร...

07 มกราคม 2564
445

รู้จัก "วัคซีนโควิด-19" ที่ผ่านการทดลอง 3 กลุ่ม เหมือนหรือแตกต่างกันอย...

06 มกราคม 2564
175

4 เทคนิคเพิ่ม Productivity สร้างสภาพแวดล้อมดีๆ พร้อมทำงานที่บ้านฉบับ M...

05 มกราคม 2564
577

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th