ในปี 2013 จีนได้จัดตั้งตลาดคาร์บอนใน 7 พื้นที่ ได้แก่ กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน เซินเจิ้น ปักกิ่ง ฉงชิ่ง และหูเป่ย และเพิ่งประกาศจะขยายตลาดคาร์บอน (การจำกัดการปล่อยคาร์บอนและค้าคาร์บอน) ไปยังทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2020 โดยใช้ในสาขาการผลิตไฟฟ้าก่อน และเนื่องจาก 39% ของก๊าซเรือนกระจกของจีนมาจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ หรือราว 3,500 ล้านตัน/ปี ขณะที่ตลาดคาร์บอนในสหภาพยุโรป (EU ETS) มีขนาดราว 2,000 ล้านตัน/ปี ซึ่งทำให้จีนจะเป็นตลาดคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (แทนที่สหภาพยุโรป)
สาระสำคัญของโปรแกรมนี้ ได้แก่
- ใช้กับสาขาการผลิตไฟฟ้าก่อนเป็นลำดับแรก และใช้กับผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิน 26,000 ตัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวน 1,700 แห่ง
- ราคาคาร์บอนเริ่มต้นน่าจะอยู่ที่ 50 หยวน (250 บาท)/ตัน จากราคาเฉลี่ยราว 105-350 บาท/ตันในปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 300 หยวน (1,500 บาท) /ตัน ภายในปี 2020
- จีนจะขยายโปรแกรมการจำกัดและค้าคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้าไปยังการผลิตความร้อน และอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก เช่น อลูมิเนียม ปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เหล็ก กระดาษ และการบิน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมี 42 ประเทศที่ใช้ระบบตลาดคาร์บอนเพื่อบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแล้ว