องค์กรด้าน Think-tank และวิจัยของเยอรมัน-Germanwatch ได้ออกเอกสารเรื่อง Global Climate Risk Index (GCRI) 2017 เพื่อประเมินความเสี่ยงจากสภาวะอากาศผันผวนอย่างรุนแรง (extreme weather) ของประเทศต่างๆ ซึ่งนับเป็นการจัดทำรายงาน GCRI อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 แล้ว
(ดูรายละเอียดได้ที่ www.germanwatch.org)
Germanwatch ประเมินค่าดัชนีจาก 4 ตัวชี้วัด ได้แก่จำนวนผู้เสียชีวิตจากสภาวะอากาศผันผวนอย่างรุนแรง จำนวนผู้เสียชีวิตจากสภาวะอากาศผันผวนอย่างรุนแรงต่อประชากร 100,000 คน มูลค่าความเสียหายจากจากสภาวะอากาศผันผวนอย่างรุนแรง และมูลค่าความเสียหายจากจากสภาวะอากาศผันผวนอย่างรุนแรงต่อ GDP
ผลการศึกษาพบว่า ในช่วงปี 1996-2015 เกิดสภาะอากาศผันผวนอย่างรุนแรงราว 11,000 ครั้ง มีผลให้ชาวโลกกว่า 528,000 คนต้องเสียชีวิต และมีความเสียหายถึง 3 ล้านล้านดอลล่าร์
การศึกษายังพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว 10 ประเทศที่ได้รับความสูญเสียจากสภาวะอากาศผันผวนอย่างรุนแรงมากที่สุด ได้แก่ ฮอนดูรัส เมียนมา ไฮติ นิการากัว ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ ปากีสถาน เวียดนาม กัวเตมาลา และประเทศไทย ตามลำดับ