ผมได้เคยนำเสนอกระแสอาหารทะเลที่ยั่งยืนมา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกในปลายปี 2557 เป็นผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคใน 15 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าความยั่งยืนของทะเลเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอนุรักษ์ไว้ และการซื้ออาหารทะเลที่ยั่งยืนจะสามารถช่วยให้ทะเลมีความยั่งยืนได้ อีกทั้งเกือบ 40% ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นหากติดฉลากแสดงความยั่งยืน ต่อมาในปลายปี 2559 ผมได้กล่าวถึงฉลากแสดงความยั่งยืนของอาหารทะเลซึ่งในปัจจุบันมีกว่า 10 ฉลาก เช่น MSC, ASC, BAP และฉลากของห้างค้าปลีกต่างๆ เช่น Kroger, Hy-Vee, Safeway, Delhaize, Sobeys และ Giant Eagle เป็นต้น
ในครั้งนี้ผมจะขอเสนอกระแสความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาหารที่ยั่งยืน ดังนี้
- GlobeScan ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค 21,000 คนใน 21 ประเทศ พบว่า 62% จะซื้ออาหารทะเลที่ติดฉลากแสดงความยั่งยืน
- MSC ตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนของอาหารทะเลที่ติดฉลากแสดงความยั่งยืนจาก 12% ในปัจจุบัน เป็น 20% ในปี 2020 และ 30% ในปี 2030
- ห้าง Whole Food Market จะเป็นห้างค้าปลีกแรกในสหรัฐฯที่จะขายปลาทูน่ากระป๋องที่ใช้แต่ปลาทูน่าที่จับอย่างยั่งยืนเท่านั้น
- Mars จะใช้แต่ปลาทะเลที่ยั่งยืนในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ภายในปี 2020
- 97% ของปลาทูน่ากระป๋องของ John West ในออสเตรเลียเป็นปลาทูน่าที่จับอย่างยั่งยืนแล้ว และจะขยายไปยังนิวซีแลนด์ต่อไป