สิงคโปร์ประกาศจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่เก็บภาษีคาร์บอน(carbon tax) จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยตรง อัตรา 10-20 ดอลล่าร์สิงคโปร์ต่อตันคาร์บอนตั้งแต่ปี 2019 และจะนำเงินภาษีที่เก็บได้ตั้งเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนการลด GHG ของอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งสิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะลด GHG ลง 36% จากปี 2005 ภายในปี 2030
แหล่งกำเนิด GHG โดยตรงที่จะถูกเก็บภาษีคาร์บอน ได้แก่ โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยต้องปล่อย GHG เกิน 25,000 ตัน/ปี
ทั้งนี้ สิงคโปร์คาดว่าภาษีคาร์บอนดังกล่าวจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 0.43-0.86 เซ็นต์/หน่วย หรือราว 2-4% ของค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน และจะมีผลให้ค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 3.5-7 ดอลล่าร์/บาร์เรล (หรือราว 0.8-1.6 บาท/ลิตร)
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีหลายประเทศได้ประกาศใช้ภาษีคาร์บอนเป็นเครื่องมือในการจัดการ GHG เช่น แคนาดา และล่าสุด คือ สหรัฐอเมริกา (เป็นข้อเสนอจากสมาชิกอาวุโสของพรรค Republican)