ในปี 2556 สหประชาชาติได้ยกระดับร่างมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการปรอทเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศ และเรียกว่าอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (The Minamata Convention on Mercury) ซึ่งปัจจุบันมี 35 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว และอนุสัญญาฯนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อมี 50 ประเทศให้การรับรองแล้ว
มินามาตะเป็นชื่ออ่าวแห่งหนึ่งของเกาะคิวชูในญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อกว่า 60 ปีก่อนชาวเมืองมินามาตะมีอาการเหมือนคนป่วยสมองอักเสบ และพบว่าเกิดจากสารปรอทที่ปนเปื้อนในน้ำเสียจากโรงงานผลิตสารเคมีแห่งหนึ่ง จากนั้นจึงมีการเรียกโรคที่เกิดจากการได้รับสารปรอทว่าโรคมินามาตะ
สาระสำคัญของอนุสัญญาฯนี้ คือ การจัดทำแผนจัดการระดับชาติเพื่อควบคุมการปล่อยปรอทสู่แห่งน้ำและดิน ,การเก็บกักปรอทอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, และการจัดการพื้นที่ที่ปนเปื้อนปรอท
ในส่วนของประเทศไทย (ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ) ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางในการจัดการปรอท (เช่น ห้ามทำเหมืองปรอท, การจัดการคลังปรอท, การลดและจำกัดปริมาณปรอท) และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฯ