นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเสวนาในรายการ We Shift World Change เราปรับโลกเปลี่ยน ตอน SDGs Talk : Goal 15 - Life on Land จัดโดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.นาฎสุดา ภูมิจำนงค์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการ Environman โดยการเสวนาครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ที่น่าสนใจทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศบนบก ที่สะท้อนความร่วมมือทั้งภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาคประชาชน ในการหาแนวทางการแก้ปัญหาในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายใต้กรอบของสหประชาชาติ
นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนทั่วโลก รวมทั้งเครือซีพีที่เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศไทยต่างให้ความสำคัญกับการรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก ซึ่งประเด็นนี้ถูกนำมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินความยั่งยืนขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับด้านเกษตร อาหาร ธุรกิจค้าปลีก และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกกว่า 16 อุตสาหกรรม อีกทั้ง GDP ครึ่งหนึ่งของทั้งโลกมาจากธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นหากปล่อยให้มีการสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติไปเรื่อยๆ จะเป็นความเสี่ยงและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วย ขณะที่หากทุกภาคส่วนสามารถดูแลและจัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถูกต้องให้เกิดความยั่งยืนก็จะเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น สามารถสร้างตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพได้อีกกว่า 400 ล้านตำแหน่งทั่วโลก เป็นต้น
นายสมเจตนา กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2015 เครือซีพีได้จัดทำยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืน เร่งสร้างความตระหนักรู้ในองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเครือซีพีได้ดำเนินโครงการส่งเสริมดูแลทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการช่วยลดปัญหาความยากจน สร้างรายได้ให้เกษตรกรหลายโครงการ อาทิ โครงการสบขุ่นโมเดล พลิกฟื้นผืนป่า พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้เกษตรกรบ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน แก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้น ซึ่งเครือซีพีเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรด้วยการปลูกกาแฟ พร้อมกับการปลูกไม้เศรษฐกิจท้องถิ่นแบบผสมผสาน แทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน สร้างป่าสร้างรายได้ให้เกษตรกรด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและกลไกทางการตลาด ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร
นอกจากนี้ เครือซีพี ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) วัตถุดิบทางการเกษตรของเครือซีพี จะต้องมีแหล่งที่มาที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและทะเล รวมทั้งมีการตรวจสอบติดตามวัดผลการดำเนินงานทุกปี ซึ่งได้มีการบูรณาการเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการทำธุรกิจของเครือซีพี จนประสบความสำเร็จในปี 2020 ทั้งนี้ เครือซีพี ยังได้วางเป้าหมายต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมาย SDGs 2030 ซึ่งคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพี ได้ขับเคลื่อนนำทัพกลุ่มผู้บริหารซีอีโอของทุกกลุ่มธุรกิจและพนักงานในเครือซีพี ทั้งในประเทศและต่างประเทศไปสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ คือ Net Zero Carbon และ Zero Food Waste ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น เครือซีพี ตระหนักว่าจะต้องเป็นการดำเนินการอย่างพร้อมเพรียงตลอดห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจของเครือซีพี พร้อมการทำงานร่วมกับภาครัฐ และสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญไปด้วยกัน ขณะเดียวกันหากผู้บริโภคมีการปรับตัวและให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เป้าหมายนี้ขับเคลื่อนและสำเร็จได้ เพื่อร่วมกันรักษาโลกใบนี้อย่างยั่งยืนร่วมกัน
ขณะที่ รศ.ดร.นาฎสุดา ภูมิจำนงค์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศอย่างยั่งยืนมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดการป่าไม้ที่มีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ โดยปัจจุบันมีรายงานพื้นที่ป่าไม้อยู่ที่ 32% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายจะต้องขยายพื้นที่ป่าไม้ให้ครอบคลุม 40% ของพื้นที่ประเทศ ดังนั้นแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้เกิดประสิทธิผลได้นั้นจะต้องนำความรู้ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้จริง ต้องปลูกฝังความรู้เรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเชื่อมโยงไปสู่แนวทางของการแก้ปัญหา ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 เป็นสิ่งสะท้อนให้ผู้คนต้องตระหนักรู้และหวงแหนทรัพยากรของโลกที่จะต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Environman กล่าวว่า ความท้าทายต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมี 4 เรื่อง คือ 1.การตัดไม้ทำลายป่า 2.การล่าสัตว์คุ้มครอง 3.การสร้างมลพิษ 4.การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจ โดยสื่อสารไปในวงกว้าง เพราะการให้ความรู้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ โดยเน้นการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่มีเนื้อหากระชับ เข้าใจง่ายและรวดเร็ว เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งการให้ความรู้และแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการเริ่มต้นที่ตนเอง ไปพร้อมกับการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ลงพื้นที่จัดกิจกรรมลดโลกร้อน การผลักดันนโยบายในการอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวน โดยแนวทางในอนาคต Environman ต้องการปลูกฝังแนวคิดให้เกิดการลงมือทำในสังคมมากขึ้นผ่านการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ในการใช้ทรัพยากรอย่างสมดุลและมีความรับผิดชอบ เพื่อสร้างอนาคตให้ลูกหลานได้อยู่ในโลกนี้อย่างยั่งยืน