สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทยผนึกกำลังร่วมกับคณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น เรื่อง “การสร้างผู้ประกอบการใหม่” ให้แก่นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเมื่อวันที่ 30-31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นสร้างโอกาสการเป็นผู้ประกอบการใหม่ให้กับกัปตันและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์โควิด-19 CP E-News ขอนำเสนอรายละเอียดแบบครบถ้วนเพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน
ในหลักสูตรอบรมพิเศษครั้งนี้ได้เชิญวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์หลากหลายมาร่วมให้ความรู้ พร้อมข้อคิดเห็น และชี้แนะหลักการเริ่มต้นสร้างธุรกิจให้กับผู้ที่สนใจ หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของคอร์สติวเข้มสุดพิเศษนี้ ได้เชิญนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ผู้ประกอบการใหม่สร้างได้” ถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้รับฟังมุมมองที่น่าสนใจจากผู้บริหารในองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย โดยซีอีโอเครือซีพีได้เล่าถึงประสบการณ์การทำธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในอดีตตั้งแต่ 100 ปีก่อน พร้อมยกกรณีศึกษาของเครือซีพีที่ถือเป็นประสบการณ์และบทเรียนแห่งการทำธุรกิจที่ล้ำค่าส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อพลังในการสร้างธุรกิจใหม่ให้กับพนักงานในแวดวงธุรกิจการบินที่มาร่วมรับฟังกว่า 150 คน
@ ทุกอย่างเริ่มต้นจาก “ศูนย์” ซีพีเริ่มจาก “ห้องแถว” ยอดขายวันแรก 23 บาท
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เกริ่นนำสร้างแรงบันดาลใจ ว่า “ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์” อย่างเช่น เครือซีพี มีคุณปู่ (เจี่ย เอ็กชอ) เป็นชาวจีนโพ้นทะเลเดินทางมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่ประเทศไทยเริ่มต้นธุรกิจจาก ห้องแถวเล็ก ๆ เปิดร้าน ‘เจียไต้ จึง’ ที่เยาวราช ขายเมล็ดพันธุ์ผักที่นำเข้าจากประเทศจีน ถือได้ว่าเริ่มจากศูนย์ ...วันแรกที่เปิดร้าน หรือ Grand Opening เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา ขายได้ 23 บาท...และจากวันนั้นที่มียอดขายเพียงไม่กี่บาทสู่การพัฒนาทางธุรกิจที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันตลอดเวลาด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมมาพัฒนาสินค้า
“ยุคนั้นลูก ๆ ของคุณปู่ที่มี 9 คน รวมถึงท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งเกิดที่ห้องแถวในเยาวราช ลูกทุกคนต้องช่วยกันพับซองใส่เมล็ดพันธุ์ และเขียนวันที่หมดอายุวันไหนไว้บนซองด้วย ถือเป็นรายแรก ๆ ของไทย คุณปู่บอกต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ซึ่งคือ เกษตรกร ถ้าเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์นี้ไปแล้วปลูกไม่ขึ้น หมายถึงว่า มันหายไปตลอดฤดูกาลเขาจะเสียหายขนาดไหน จุดนี้คุณปู่ได้ปลูกฝังครอบครัวถึงแนวคิดเรื่องซื่อสัตย์ และต้องมีความเมตตา”
“...คุณปู่ ต้องการรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ด้วยการนำไปบรรจุกระป๋องขาย สมัยนั้นกระป๋องเมล็ดพันธุ์ผักของเราใช้ตราเครื่องบิน ซึ่งในสมัยนั้นเครื่องบินคือสิ่งที่เป็นเทคโนโลยีสูงสุด และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ในกระป๋องถือเป็นนวัตกรรมเพื่อรักษาคุณภาพ คุณปู่ได้นำทั้งสองอย่างมาผนวกเป็นเมล็ดพันธุ์ผักบรรจุกระป๋องตราเครื่องบินเพื่อรักษาคุณภาพ...สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันสิ้นสุดและต้องพร้อมที่จะปรับตัวประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเสมอ”
@ ยุคแตกกิ่งก้าน ล้มลุกคลุกคลานฟันฝ่าอุปสรรค พลิกกลับมาประสบความสำเร็จ
ซีอีโอเครือซีพี กล่าวต่อว่า ซีพีได้ผ่านการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสร้างธุรกิจที่หลากหลายกระทั่งสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้กว่า 20 ประเทศทั่วโลก และทำการค้าขายกับอีกกว่า 100 ประเทศ โดยสิ่งที่ทำให้เครือซีพีเติบใหญ่ได้นั้น มีกรณีศึกษาสำคัญที่เป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการได้ศึกษา คือ การผ่านวิกฤตมาด้วย “วิสัยทัศน์ที่มองเห็นปัญหา” ศึกษาให้ถึง Pain Point ของตลาดนำไปสู่การ “สร้างโอกาส” และ “กล้าลงทุน” บน “ความเสี่ยงที่ยอมรับได้” และ “ลงมือทำก่อนคนอื่น”
นายศุภชัย กล่าวว่า หลังยุคบุกเบิก เครือซีพีได้เริ่มทำมากกว่าขายเมล็ดพันธุ์ผักขยับไปสู่ธุรกิจจำหน่ายอาหารสัตว์ ซึ่งสมัยนั้นไม่มีเรื่องอาหารสัตว์ที่เป็นมาตรฐาน โดยมีคุณลุง ชื่อ “จรัญ เจียรวนนท์” เป็นผู้บุกเบิก เปิดร้านเล็ก ๆ ชื่อ “เจริญโภคภัณฑ์” ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วงการอาหารสัตว์ ดำเนินกิจการไปได้ระยะหนึ่ง ต่อมาเริ่มติดขัดเพราะเจริญโภคภัณฑ์ตกอยู่ในภาวะแข่งขันไม่ได้ เนื่องจากในวงการผลิตอาหารสัตว์ลดต้นทุนการผลิตโดยมีการนำกระดาษผสมเข้าไปในอาหารสัตว์ ไก่กินเข้าไปแล้วก็มีน้ำหนักเท่ากับไก่ที่เลี้ยงด้วยอาหารอย่างดีของเจริญโภคภัณฑ์ ถ้าปล่อยให้สถานการณ์นี้ไว้ต่อไป กิจการจะเสียหายแน่นอน ทำให้ต้องคิดค้นหาสูตรอาหารสัตว์ใหม่ที่ทำให้ได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยไม่คิดที่จะทำตามอย่างคู่แข่ง เพราะขัดกับวัฒนธรรมและคุณค่าจากสิ่งที่คุณปู่คุณย่าสั่งสอนทุกคนในครอบครัว อย่างไรก็ตามในที่สุดท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการในช่วงนี้พอดี ก็ได้ทางออกใหม่ ด้วยการเสาะแสวงหาไก่สายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก โดยไปจับมือกับอาร์เบอร์แอนด์เอเคอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่มีความรู้ความสามารถในการผลิตไก่ที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงในการพัฒนาพันธุ์ไก่และเลี้ยงไก่
“ขณะที่ต้นทุนก็ยังสูงแข่งขันไม่ได้...ในที่สุดท่านประธานอาวุโสธนินท์บอกว่าถ้าอยู่อย่างนี้ล้มแน่ ๆ จึงเป็นที่มาว่าซีพีต้องพิสูจน์ว่าอาหารของเรามีคุณภาพสูงสามารถเลี้ยงไก่ได้น้ำหนักสูงที่สุด ท่านประธานอาวุโสธนินท์ตัดสินใจบินไปสหรัฐอเมริกานำสายพันธุ์ไก่ที่ดีที่สุดในโลกจากบริษัทอาร์เบอร์ เอเคอร์สเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย และกล้าที่จะริเริ่มทำฟาร์มเลี้ยงไก่ 20,000 ตัว ซึ่งเป็นฟาร์มใหญ่ฟาร์มแรกของประเทศไทย และเป็นเรื่องที่ใหม่และยากมาก...เพราะขณะนั้นการทำฟาร์มเลี้ยงไก่ในประเทศ 200 ตัวก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่ซีพีกล้าลงมือที่จะเลี้ยงมากถึง 20,000 ตัว ใช้อาหารสัตว์มีคุณภาพเลี้ยงไก่ ดังนั้นการเลี้ยงไก่ถึง 20,000 ตัว จะทำให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ เราจึงกล้าลงทุน”
@ ดำเนินธุรกิจบนวิสัยทัศน์ “เห็นโอกาสก่อน กล้าเสี่ยง ลงมือก่อน”
นายศุภชัย กล่าวว่า จากการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดจึงเป็นที่มาแห่งโอกาสให้ซีพีกล้าลงทุนนำสายพันธุ์ไก่ที่ดีที่สุดในโลกเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน เรียนผิดเรียนถูก ขาดทุนอยู่ถึง 15 ปี ก่อนจะเริ่มมีกำไร ขณะเดียวกันได้ใช้นวัตกรรมเข้ามาประยุกต์การเลี้ยงไก่เพื่อยกระดับเข้าสู่การสร้าง ‘อุตสาหกรรมปศุสัตว์’ เลี้ยงไก่-หมู ระดับประเทศ ซึ่งกรณีของเครือซีพีได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการทำธุรกิจในช่วงเวลาวิกฤต เช่นที่เกิดขึ้นขณะนี้จากภาวะโควิด-19 ดังนั้นมุมมองการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ จึงต้องมีความกล้าที่จะเสี่ยงในวิกฤต ลงมือทำก่อนคนอื่น เห็นถึงโอกาสและ Pain Point ต่าง ๆ ของตลาดจะส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ที่สำคัญผู้ที่จะสร้างธุรกิจใหม่หรือเป็นผู้ประกอบการจะต้องมีศรัทธา ไม่ยอมแพ้ และต้องปรับตัว เห็นโอกาสในวิกฤตเสมอ ปัญหาทุกอย่างคือโอกาส ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ
ซีอีโอเครือซีพี กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของซีพีในการมองเห็นปัญหา-ลงมือทำก่อนคนอื่น-เห็นโอกาสบนความเสี่ยง คือ การลงทุนในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งขณะนั้นประธานอาวุโสธนินท์เห็นว่าเซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ก่อตั้งในสหรัฐอเมริกากำลังขยายและประสบความสำเร็จ จึงติดต่อเพื่อทำแฟรนไชส์ในประเทศไทย โดยผู้ก่อตั้งเซเว่นฯได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อศึกษาดูตลาด และวิเคราะห์ให้ประธานอาวุโสธนินท์ฟังว่ายังไม่แนะนำให้เปิดเซเว่นฯในไทย โดยมองว่าเป็นการมาก่อนเวลา ถ้าหากเดินหน้าทำจะเสียหายได้ และบอกว่าประเทศไทยต้องรออีกอย่างน้อย 10 ปี อย่างไรก็ตามด้วยวิสัยทัศน์ของประธานอาวุโสที่มีความเชื่อ ความศรัทธาว่าถ้าเซเว่นฯเกิดที่อเมริกาได้ ก็ต้องเกิดที่เมืองไทยได้ ฉันใดฉันนั้นเหมือนตอนเลี้ยงไก่ 20,000 ตัว เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ในเวลานั้น แต่ซีพีก็ทำให้เกิดขึ้นได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเซเว่นฯเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่ลงมือทำและขาดทุนอยู่ 15 ปีเหมือนกับช่วงเลี้ยงไก่ยุคแรก
“บางครั้งบางอย่าง เราต้องทำก่อนเวลา...ทำก่อนคนอื่น ถ้าเราไปรอคนอื่นทำแล้วก็ไม่มีโอกาส จึงต้องทดลองทำ ต้องกล้าเสี่ยง ถ้าเราจะเป็นผู้ประกอบการหนึ่งในคุณสมบัติที่ต้องมีคือ ต้องกล้าเสี่ยง แต่ต้องรู้ว่าไม่เจ็บถึงตาย...กู้เงินมาลงทุนแล้วสามารถคืนได้”
@ ยุคต่อสู้จากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เชื่อมต่อสู่การปรับตัวในทุกยุคสมัย
ผู้ที่จะเริ่มธุรกิจ หรือ เป็นผู้ประกอบการใหม่ จะต้องมีวิสัยทัศน์มองเห็นโอกาสในวิกฤตเสมอ นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการของคนที่จะเป็นผู้ประกอบการ นายศุภชัยเล่าต่อไปว่า หลังจากยุคที่ซีพีทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์สำเร็จในประเทศไทย จึงเริ่มบุกเบิกธุรกิจไปต่างประเทศ ตั้งแต่ 40-50 ปีก่อน ซีพีไปแข่งขันแล้วก็แพ้ล้มลุกคลุกคลาน แต่ฝ่าฟันทุกวิกฤตจนวันนี้สามารถขยายธุรกิจลงทุนไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ทำการค้าขายมากกว่า 100 ประเทศ เช่นเดียวกับธุรกิจโทรคมนาคมที่ฟันฝ่าล้มลุกคลุกคลาน เพราะทำธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจโทรคมนาคมถูกวิจารณ์ว่าบริษัทสัญชาติไทยไม่สามารถทำได้ เพราะลงทุนมหาศาล ต้องลงทุนโดยบริษัทข้ามชาติเท่านั้น แต่เครือซีพีก็ดำเนินธุรกิจนี้ตั้งแต่ยุคของโทรศัพท์พื้นฐานจนถึงเครือข่าย 1G,2G,3G,4G และการมาถึงของ 5G ซึ่งธุรกิจของเครือปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ซีพีเผชิญปัญหาเฉกเช่นหลายธุรกิจจนในที่สุดต้องออกจากธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยขายกิจการแม็คโคร และโลตัส ซึ่งปัจจุบันได้ซื้อกิจการกลับคืนมาใหม่อีกครั้ง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องมีศรัทธาไม่ยอมแพ้ และมีศักยภาพในการปรับตัวต่อความเคลื่อนไหวทั่วโลกทั้งเศรษฐกิจ สังคม และบริบทการเมืองของประเทศต่าง ๆ ด้วยเพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
@ จากวิกฤตโควิด-19 ปรับตัวสู่ธุรกิจยุค 4.0
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ในวิกฤตมีโอกาสดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 เกิดกระบวนการดิสรัปไปสู่ออนไลน์ อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เติบโตคือ เทคโนโลยี ดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ เทเลเมดิซีน ธุรกิจสุขภาพ แสดงให้เห็นว่าเป็นโอกาสแม้ในช่วงแย่ที่สุดก็ยังมีธุรกิจที่ปรับตัวได้ และหลายธุรกิจยังเติบโตขึ้นดีกว่าเดิม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องสามารถเห็นปัญหาได้ก่อน รู้ก่อนและแก้ปัญหานั้น นอกจากนี้ยังต้องสังเกตและใส่ใจมองเห็นถึงเมกะเทรนด์ของโลกด้วย อาทิ ฟินเทค ออโตเมชั่น โรบอติกส์ เอไอที่แตกแขนงไปในหลายมิติ เพราะโลกกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางนั้น ทุกธุรกิจและบริการกำลังปรับตัวไปสู่ออนไลน์ทำให้เกิดอาชีพใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่ผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการที่จะสร้างธุรกิจใหม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้ริเริ่มในยุค Digital Economy, New Economy หรือเศรษฐกิจ 4.0
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่โลกไปสู่ยุค 5G,6G ทุกอย่างเชื่อมโยงกันได้หมด เทคโนโลยีดิจิทัลจะไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิต ซึ่งจะทำให้เกิดข้อมูลทางดิจิทัลมหาศาล จึงต้องสร้างศักยภาพในการใช้ข้อมูลดิจิทัลเพื่อทำธุรกิจให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่มาว่าต้องทำให้ประชาชนในประเทศเกิดการเรียนรู้ด้านดิจิทัลมี Digital Literacy และ Digital Skill ในหลายระดับ
“ในวิกฤตมีโอกาส กรณีโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการเดินทางได้รับผลกระทบ ผมมองว่าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราวและจะกลับมาฟื้นอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้มีข่าวดีว่าวัคซีนที่ฉีดทั่วโลกมีผลลัพธ์ที่ดี และเชื่อว่าสิ้นปีนี้ทั่วโลกจะมีวัคซีนโดยทั่วและอาจได้เห็นพาสปอร์ตวัคซีนในการเดินทาง จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจการบินกลับมา และอาจจะกลับมาพลิกฟื้นมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจที่มารองรับต่อจากนี้น่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะช่วงโควิด-19 บริบทคนทำงานมีความคล่องตัวสูงมาก การเดินทางจะมากขึ้น และน่าจะดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้นไม่ใช่ว่าวิกฤตโควิด-19 จะเกิดขึ้นไปตลอด” นายศุภชัยกล่าว
@ ซีอีโอเครือซีพีตกผลึกแนวคิด ซีพี 100 ปี สู่หัวใจสำคัญของผู้ประกอบการยุคใหม่
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า จากกรณีศึกษาของเครือซีพีที่ดำเนินธุรกิจมาถึง 100 ปี ผ่านการปรับตัวเปลี่ยนแปลงและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสร้างธุรกิจที่หลากหลาย ผ่านทั้งอุปสรรคจากวิกฤตเศรษฐกิจ และการแข่งขันทางธุรกิจต่าง ๆ มาได้โดยยึดแนวคิดหลักสำคัญคือ “การดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์” “เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส” “มีวิสัยทัศน์ในการกล้าลงทุน” และ “การลงมือทำก่อน”
“การทำธุรกิจทุกวันนี้ เวลาที่เราบอกว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจไม่ล้ม เพราะบางทีเราเห็นแต่ความสำเร็จ แต่ขอให้ตระหนักว่าความสำเร็จล้วนเริ่มต้นมาจากก้าวเล็กๆ จะต้องแก้ปัญหาเล็ก ๆ เหล่านี้ให้ได้ ดังนั้นขอให้คิดว่าปัญหาทุกเรื่องคือโอกาส ปัญหาทุกเรื่องคือการเรียนรู้สู่ความสำเร็จ และมีความคิดที่จะหาทางแก้ปัญหาและลงมือทำ นั่นคือจุดเริ่มต้นของความเป็นผู้ประกอบการ”
นายศุภชัย ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจยุค New Economy ให้ประสบความสำเร็จ คือ 1.การมองเห็นปัญหาเป็นโอกาส เพราะปัญหาที่เกิดในการทำธุรกิจ คือการเรียนรู้สู่ความสำเร็จ 2.ต้องมี Mindset หรือกรอบความคิดที่ดีในการทำงาน คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและองค์กรเป็นที่ตั้ง พร้อมเปิดใจและปรับตัวในการเปลี่ยนแปลง เพราะในอนาคตทุกธุรกิจจะก้าวเข้าสู่ดิจิทัลเทคโนโลยี 3.ต้องมีหลักทางพุทธศาสนาคือความเมตตา และ “มรรค 8” ที่สามารถนำมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจได้จริง ประกอบด้วย เห็นชอบ คิดชอบ พูดชอบ ทำชอบ อยู่ชอบ เพียรชอบ สมาธิชอบ และปัจจุบันชอบ เป็นการดำรงชีวิตและทำธุรกิจด้วยความไม่ประมาท คือการอยู่กับปัจจุบัน เห็นความจริงเสมอว่าโลกมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยอมรับได้ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว เพราะจะนำมาสู่การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นผู้ประกอบการที่ดีต่อไป
ทั้งหมดคือข้อคิดและแนวคิดที่ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ถ่ายทอดในคอร์สพิเศษ “ผู้ประกอบการใหม่สร้างได้” ที่ฉายภาพให้เห็นตลอดเส้นทางการทำธุรกิจของเครือซีพี จากจุดต่ำสุดสู่การมองเห็นโอกาสก่อน และลงมือทำ แม้จะขาดทุนถึง 15 ปี..เป็นบทพิสูจน์ถึงกาลเวลาและเส้นทางการทำธุรกิจของเครือซีพีที่เติบโตมาได้ถึง 100 ปี