• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

ซีพีเอฟ ก้าวสู่ธุรกิจใหม่ Future Food ตั้งกองทุนลงทุนสตาร์ตอัพทั่วโลกต่อยอดพอร์ตอาหารแห่งอนาคต


01 เมษายน 2564

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

CPF ก้าวสู่ธุรกิจใหม่ Future Food ตั้งกองทุนลงทุนสตาร์ตอัพทั่วโลกต่อยอดพอร์ตอาหารแห่งอนาคต เดือนหน้าพร้อมเปิดตัว “เนื้อหมู-ไก่” ปลอดยาปฏิชีวนะในราคาที่จับต้องได้ภายใต้แบรนด์ “CP Selection” นำร่อง 200 สาขา ใน 7-Eleven ปูพรมจับมือพันธมิตรศึกษาแผนพัฒนาธุรกิจ “กัญชง” ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เตรียมทำข้าวกล่องกัญชงออกขาย รับอานิสงส์ 2 โรคระบาด “อหิวาต์หมู-โควิด-19” ดันรายได้พุ่งทะลุ 600,000 ล้านบาท

การลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ในกิจการฟีด-ฟาร์ม-ฟู้ด ทั้งภายในประเทศและขยายออกไปอีก 17 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้จากการขายในปีที่ผ่านมาถึง 589,713 ล้านบาท

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในคนและการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) ไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับ CPF มากนัก ตรงกันข้ามบริษัทกลับใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการขยายกิจการและออกสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

โดยมีดีลการลงทุนขนาดใหญ่ในส่วนงานธุรกิจสัตว์บก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธุรกิจสุกร” ด้วยการเข้าซื้อธุรกิจหมูในประเทศจีนระหว่างบริษัท Chia Tai Investment หรือ CTI กับบริษัท Chia Tai Animal Husbandry Investment (Beijing)

พร้อมกับจ่ายค่าตอบแทน 131,287 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นใหม่คิดเป็นร้อยละ 65 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ CTI หลังการเพิ่มทุนให้กับผู้ขาย โดยดีลนี้ส่งผลให้เกิดการควบรวมระหว่างธุรกิจหมูกับธุรกิจอาหารสัตว์ในจีนเข้าด้วยกัน

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะต่อยอดธุรกิจไปสู่อาหารแห่งอนาคต (future food) รวมทั้งความสนใจที่จะแสวงหาความร่วมมือในการเข้าสู่ธุรกิจอาหารมูลค่าเพิ่มจากกัญชงด้วย

เปิดแผน CPF 2021

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเพิ่มขึ้น 8-10% จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 600,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักจะมีการปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อยจากการเข้าลงทุนควบรวมธุรกิจสุกรครบวงจรที่ประเทศจีนเมื่อปลายปี 2563 ซึ่งอาจจะทำให้เห็นว่ามีตัวเลขทางบัญชีหายไปประมาณ 100,000 ล้านบาท

ซึ่งเป็นผลจากการปรับเรื่องบัญชีแต่จะไม่ส่งผลต่อกำไร จากปัจจุบัน CPF มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจในประเทศไทย 30% และจากฐานการผลิตในต่างประเทศ 70%

“ถ้ามองภาพรวมของ CPF ในปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจจะไม่เหมือนปีที่ผ่านมาจากเหตุผล 1.เศรษฐกิจโดยรวม ๆ จะดีขึ้น คนจะบริโภคมากขึ้น แม้ว่าการบินจะยังไม่ได้กลับมาเต็มที่ แต่ผมมองบวกว่า ร้านอาหารจะกลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น ดังนั้นสินค้าอาหารสามารถเติบโตได้แน่นอนเพราะคนต้องบริโภค ไม่ว่าจะบริโภคที่ร้านอาหารหรือกลับไปทำเองที่บ้าน

ในมุมของเราโอกาสการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ทั้งไก่และหมูจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะไก่ในตลาดอียูและหมูในตลาดต่าง ๆจะเติบโตขึ้นเพราะโรค ASF ทำให้หมูขาดแคลนทั่วโลก มีราคาแพงขึ้น กับ 2.โควิด-19 ทำให้คนคิดและใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น อย่างน้อยในช่วง 3 ปีนับจากนี้นี่คือเรื่อง external ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน”

ในส่วนของ internal จะทำใน 2 เรื่อง คือ การใส่เต็มที่ในเรื่องของเทคโนโลยี ไอที ดิจิทัลทั้งหมด เพราะคุ้มค่าในการพัฒนา และจะเน้นเรื่องของ “อาหารอนาคต future food” ซึ่งจะมีการพัฒนาไปถึง “อาหารเสริม” และจะเน้นเรื่องของ nutrition หรือคุณค่าทางโภชนาการ

ยกตัวอย่างสินค้าชิ้นเดียวกันจะทำให้โภชนาการดีขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้จะมาจาก R&D ของ CPF เป็นโจทย์ที่ท้าทายทีม R&D มาก “จะทำให้สินค้าดีขึ้น แต่ขายราคาเท่าเดิมได้อย่างไร”

ชูหมู-ไก่ Probiotic

นายประสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ในปลายเดือน เม.ย.จะออกแคมเปญเรื่อง nutrition จากที่บริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ด้วยวิธี “โพรไบโอติก (probiotic)” ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ (แบคทีเรีย-ยีสต์) ที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ตรงข้ามกับ anibiotic หรือยาปฏิชีวนะที่มุ่งกำจัดแบคทีเรียในร่างกาย

โดย probiotic จัดเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงมากในยุโรป CPF จึงได้ศึกษามาเป็นเวลานาน มีการคัดสายพันธุ์ทดลองมาหลายปี ด้วยการพัฒนาอาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของ probiotic ให้หมูและไก่กินแล้วสุขภาพสัตว์ดีขึ้นมาก ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

และในเดือนหน้า CPF จะเปิดตัวสินค้าเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยวิธี probiotic ไม่ต้องใช้ยา เปลี่ยนเรื่องของ nutrition ยกระดับอาหารที่หมู-ไก่กิน ทำให้สินค้าเนื้อสัตว์ในกลุ่มนี้จะเข้าถึงเซ็กเมนต์ตลาดที่รองลงมาจาก กลุ่มไก่เบญจา ซึ่งเป็นสินค้าพรีเมี่ยมที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง (กก.ละ 50 บาท แทนการเลี้ยงด้วยข้าวโพด กก.ละ 7-8 บาท)

โดยเนื้อหมู-ไก่ probiotic จะกำหนดขายในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ และสินค้าในกลุ่มนี้จะใช้แบรนด์ใหม่ที่เรียกว่า CP Selection

“ขณะนี้ได้ทดลองทำตลาดผ่านช่องทางของ 7-Eleven ซึ่งนั่นเป็นนโยบายของท่านประธานอาวุโส (ธนินท์ เจียรวนนท์) ที่มองว่า ควรขยายการจำหน่ายสินค้าอาหารสดให้เข้าถึงประชาชนที่ปรุงอาหารทานเอง ใช้เนื้อสัตว์ปริมาณไม่มากใช้ครั้งเดียวหมด อายุการเก็บรักษาประมาณ 3 วัน เราจึงลองดูประมาณ 200 สาขา ในกรุงเทพฯ”

ข้าวกล่องกัญชง

นอกจากนี้ CPF ยังได้ทำ MOU ในการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจาก “กัญชง” ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ตามนโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดนี้ โดยกัญชงจัดเป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีประโยชน์มาก โดยแต่ละมหาวิทยาลัยต่างก็มีการวิจัยและพัฒนาที่ก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ

ทาง CPF หวังว่าจะสามารถนำการวิจัย-พัฒนามาต่อยอดพัฒนาผลิตสินค้าของบริษัท ซึ่งอาจจะนำร่องในกลุ่ม “อาหารข้าวกล่อง” ก่อน แต่ตอนนี้ยังต้องรอให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกำหนดสัดส่วนที่สามารถนำสารสกัดจากกัญชงมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารได้ ซึ่งเดิมหากเป็น THC คาดว่าจะมีการปรับลดสัดส่วนเป็น 0.000015%

“การดูแลคุณภาพของต้นทางแหล่งวัตถุดิบกัญชง เราจึงมุ่งเน้นใช้กัญชงอินทรีย์เป็นหลักและต้องวางระบบตรวจสอบย้อนกลับ ด้านวัตถุดิบกัญชงตอนนี้ยังมีปริมาณจำกัด บริษัทสามารถซื้อจากทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ส่วนหนึ่งและส่วนหนึ่งก็จะพิจารณาแหล่งที่น่าเชื่อถือเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอ ซึ่งหากในอนาคตมีการอนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ (การปลูกกัญชงแปลงใหญ่) ได้ ทาง CPF ก็สนใจที่จะลงทุนพัฒนาในส่วนนั้นด้วย”

ตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล

ในปีนี้ CPF ยังมุ่งจะใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ (asset) ที่ได้มีการลงทุนสะสมต่อเนื่องมานานนับ 10 ปี มีมูลค่าการลงทุนรวมนับแสนล้านบาท เช่น การลงทุนในบริษัทผลิตหมูครบวงจรที่แคนาดาเมื่อปี 2562, การลงทุนควบรวมในธุรกิจหมูครบวงจรที่จีน และการเข้าซื้อควบรวมกิจการเทสโก้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ CPF มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ อย่างมาก

ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังบริหารจัดการภาระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีประมาณ 300,000 ล้านบาท แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะสามารถลดสัดส่วนหนี้ต่อเงินสดหมุนเวียนจาก 6 เท่า ลงไปเหลือ 4 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ

“ในเรื่อง M&A เรายังมองหาโอกาสการลงทุนที่เหมาะสม แต่ต้องเลือกการลงทุนให้มีประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อธุรกิจ บริษัทมองถึงโอกาสการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ เร็ว ๆ นี้จะมีการตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลของ CPF ขึ้นมา เช่นเดียวกับที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลเพื่อบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัพไปก่อนหน้านี้ โดย CPF จะเน้นในธุรกิจสตาร์ตอัพด้านอาหารอนาคตเป็นหลัก

สำหรับงบประมาณของบริษัทในปีนี้เตรียมแผนไว้ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนคือ 26,000-27,000 ล้านบาท โดยหลักจะเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีปศุสัตว์ที่ทันสมัย หรือปศุสัตว์ 4.0” นายประสิทธิ์กล่าว

ที่มา ประชาชาติ

ข่าวยอดนิยม

เครือเจริญโภคภัณฑ์บริษัทข้ามชาติแห่งแรกในจีนจดทะเบียนการค้าหมายเลข 000...

17 พฤษภาคม 2560
26655

การบริหารงานบุคคลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในยุค 4.0...

08 พฤศจิกายน 2560
21970

โครงการเลี้ยงไก่ไข่อาหารกลางวันนักเรียน การ “ให้” อย่างมีคุณค่า ทั้งด้...

03 กรกฎาคม 2558
20594

Cage Free Eggs ไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภ...

18 กรกฎาคม 2562
12728

แชร์ข่าวสาร

CEO เครือซีพี เสนอแนวคิดผลักดัน “ประเทศไทยไปต่อ”... “ซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์” ติวเข้มสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ ...

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

“มาริษา เจียรวนนท์” บนเส้นทางรังสรรค์ อาหารเพื่อสังคม ผ่านมูลนิธิ CHEF...

23 พฤศจิกายน 2564
3916

สูตรรอด 'CPF' อยู่ร่วมโควิด กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ...

30 สิงหาคม 2564
3645

ทำความรู้จัก “สบขุ่นโมเดล”: CP ร่วมพัฒนา พลิกเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป...

13 กรกฎาคม 2564
4409

CP ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อน Social Enterprise ผู้นำหญิงนักพัฒนา ก้าวสู่ชุมช...

07 กรกฎาคม 2564
4234

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th