ปัจจัยที่เป็นกลไกสำคัญทำให้องค์กรเดินหน้าทำธุรกิจได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม หนึ่งในนั้นต้องมีเรื่อง “คน” เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะคนคือ ทรัพยากรหลักที่ทำให้องค์กรก้าวหน้าต่อไปได้ การปั้นคนให้กลายเป็นผู้นำจึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร
สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPLI: CP Leadership Institute)
CPLI หรือ CP Leadership Institute คือ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสถาบันที่สร้างและพัฒนาผู้นำทุกระดับในเครือ ตั้งแต่ผู้นำรุ่นใหม่ในระดับ เถ้าแก่น้อย เถ้าแก่เล็ก เถ้าแก่กลาง และเถ้าแก่ใหญ่ หลักสูตรเถ้าแก่น้อย หรือหลักสูตรพัฒนาผู้นำเพื่ออนาคต (CP Future Leaders Development Program: CP FLP) มีเป้าหมายเพื่อเฟ้นหาและพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่เพื่ออนาคตของเครือฯ
แคท กนิษฐา กาญจนหฤทัย Department Manager, Program Design, CPLI เล่าถึงที่มาของสถาบันผู้นำและหลักสูตร FLP ว่าในสมัยก่อน ท่านประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ไปดูงานต่างประเทศ พบว่า บริษัทที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง อาทิ บริษัท GE หรือ General Electric หรือบริษัท Boeing ล้วนมีโรงเรียนสอนผู้นำของตัวเองและใช้ผู้นำสอนผู้นำด้วยกันเองทั้งนั้น เมื่อท่านกลับไทยจึงมีดำริให้ก่อตั้งสถาบันผู้นำขึ้น เพื่อพัฒนาผู้นำของเครือ รวมทั้งขับเคลื่อนธุรกิจให้แข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนต่อไป
โครงการเถ้าแก่น้อย ถือเป็นประตูด่านแรกของการเข้าสู่การเป็น CEO ของบริษัทในเครือฯ เป็นโครงการที่จะสร้าง CEO ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี วัตถุประสงค์แรกก็เพื่อคัดว่าใครจะเป็นผู้นำได้บ้าง ในแต่ละปี จะมี 2 รุ่น รุ่นละ 6 เดือน ผู้เรียนประมาณ 500 คน หลักสูตรนี้ไม่ใช่ทุกคนจะเรียนผ่านได้ มีทั้งคนที่เรียนผ่านและไม่ผ่าน ทางเครือฯ จะให้ความสำคัญกับเรื่องวินัยของผู้นำในอนาคตเป็นอย่างมาก
ลักษณะของผู้นำเครือฯ คือต้องเป็นผู้นำที่มีความเป็นเถ้าแก่ และมีวินัย แม้ฝีมือแต่ไม่มีวินัยและไม่เป็นคนดีก็อาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้คนรุ่นหลัง หลักสูตรสร้างผู้นำตั้งชื่อว่า “เถ้าแก่น้อย” เพราะเถ้าแก่คนหนึ่งจะเริ่มกิจการ ก็เริ่มจากมีความรู้และทำเองได้ในทุกๆเรื่อง เถ้าแก่น้อยในโครงการจึงต้องรู้รอบ ทั้งด้านการขาย การซื้อ การตลาด การผลิต การบริหารคน การประชาสัมพันธ์ การจัดส่งสินค้าทุกมิติ
กนิษฐา กาญจนหฤทัย Department Manager, Prgram Design, CPLI
โครงการเถ้าแก่น้อยเน้นใช้หลักการ Action-Learning โดยวันแรกที่เริ่มเข้ามาเรียนในหลักสูตรก็ลงสนามทำงานได้เลย ไม่ใช่การนั่งเรียนแบบนั่งฟังการบรรยายในห้องเรียน แต่เป็นการลงสนามเรียนรู้จริงตลอดระยะเวลา 6 เดือน ยกตัวอย่างเถ้าแก่น้อย ในทีมผนึกกำลังสามประสาน คือการได้เรียนรู้แนวทางการทำงานแบบผนึกกำลังกับกลุ่มธุรกิจ ทั้ง CPF, CP All และ True คือ 3 ธุรกิจใหญ่ของเครือ เช่น ทำอยู่ในส่วนของหน้าร้าน 7-Eleven ทำอยู่ใน CP Freshmart และทำอยู่ใน True Shop
ในระยะเวลา 6 เดือนจะมีการรายงานทุกๆ 2 สัปดาห์ที่สถาบันผู้นำ โดยน้องรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้แล้วได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจในใดก็ตาม จะได้รับรู้ธุรกิจของเพื่อนร่วมรุ่นด้วย เช่น เพื่อนที่เรียนรู้ธุรกิจข้าวโพด ก็จะได้แบ่งปันความรู้ร่วมกัน วิธีการเรียนรู้คือการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง เช่น น้องๆในหนึ่งทีมดูแลร้าน 7-Eleven หนึ่งสาขา เทียบเท่ากับเป็นเจ้าของร้าน ต้องดูแลผลกำไร-ขาดทุน สามารถตัดสินใจหน้างานได้ มีความรับผิดชอบ 100%
กนิษฐา เล่าต่อว่า ผู้ที่สามารถเข้าเรียนหลักสูตรเถ้าแก่น้อย มีทั้งนักศึกษาจบใหม่ทุกแขนงและคนที่โดดเด่นในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่อายุไม่เกิน 26 ปี ต้องเป็นผู้ที่มีประวัติเป็นผู้นำในช่วงที่ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยหรือทำกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นผู้นำโดดเด่น ทั้งนี้การรับนักศึกษาจบใหม่ในแต่ละรุ่นอาจจะมีธีมแตกต่างกันในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของเครือในปีนั้นๆ
“ฟีดแบคจากผู้เรียน ทุกคนคาดไม่ถึงว่าจะได้เรียนและได้ลงมือทำจริงขนาดนี้ ภายใต้ชื่อโครงการ Future Leaders Development Program หลายคนก่อนที่เข้ามาเรียนอาจมองว่าเป็นงานสบาย ใส่สูท ผูกไทด์ คิดกลยุทธ์อยู่ในห้องแอร์ แต่ในความเป็นจริงเมื่อคิดกลยุทธ์ คิดแผนแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จเองด้วย เช่น คิดว่าจะขายสินค้า ก็ต้องลงมาขายเองในตอนตี 4 ที่ตลาดด้วย ตลอดระยะเวลาหลักสูตร 6 เดือน จะมีการจัดรายงานผลทุก 2 สัปดาห์ จะเป็นการรายงานผลตรงต่อประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของเครือด้วย การรายงานผลหลักๆคือ เถ้าแก่น้อยมารายงานถึงผลประกอบการ ปัญหาที่พบเจอ ข้อเสนอแนะ ทีเด็ดของทีมงาน หรือการสนับสนุนที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ทั้งเครือ”
โดยบรรดา Commentator หรือผู้ที่ให้ความคิดเห็นหลักในการรายงานผลนี้ ประกอบด้วย นายธนินท์ เจียรวนนท์ (ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์), ดร. อาชว์ เตาลานนท์ (รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์), ดร. นริศ ธรรมเกื้อกูล (ที่ปรึกษาประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์), นายสรรเสริญ สมัยสุต (ประธานสำนักพัฒนาธุรกิจ เครือเจริญโภคภัณฑ์ สำนักประธานอาวุโส)
แชมป์ นรากร ปัญญาวรวุฒิ ผู้อบรมหลักสูตร FLP รุ่นที่ 8 เล่าว่า ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ คณะศิลปศาสตร์ สาขารัสเซียศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เรียนวิชาการเมืองระหว่างประเทศ และได้เรียนธุรกิจระหว่างประเทศ โดยได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย พบว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุนในรัสเซียตั้งแต่ยังไม่มีความเจริญมากนัก จึงรู้สึกสนใจที่บริษัทนี้มองการณ์ไกล เพราะรัสเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเกษตรกรรมแต่เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำทั้งเทคโนโลยี ความรู้เข้าไปพัฒนา และสามารถสร้างชื่อเสียงที่เป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับรัสเซียได้
เรื่องราวดังกล่าวช่วยจุดประกายในใจของแชมป์ว่า ถ้ามีโอกาสก็มุ่งหวังจะทำงานในด้านธุรกิจกับเครือซีพี เพราะต้องการเรียนรู้ความคิดและวิสัยทัศน์ที่ล้ำหน้านี้ว่า มีวิธีคิด มีกระบวนการทำงานอย่างไร และเมื่อได้เข้าร่วมหลักสูตรพัฒนาผู้นำของเครือซีพี ยิ่งน่าสนใจว่าบทบาทของผู้นำอย่าง คำว่า “เถ้าแก่” จากโครงการ FLP สะท้อนให้เห็นว่าเราจะได้เรียนรู้การทำงานที่มีความรับผิดชอบเยอะ ทั้งเรื่องคน กำไร ความสัมพันธ์ และลูกค้าในหลายมิติ
นรากร ปัญญาวรวุฒิ ผู้อบรมหลักสูตร FLP รุ่นที่ 8
หลังจากที่เรียนจบโครงการเถ้าแก่น้อยในรุ่นที่ 8 แล้ว แชมป์เล่าว่า เหมือนเครื่องเล่นในสวนสนุก เครื่องเล่นไวกิ้ง เวลาเราขึ้นไปอยู่จุดที่สูงสุด เราจะเห็นภาพหมดเลย พอเราลงด้านล่างเราก็เห็นภาพใกล้พื้นดินมากยิ่งขึ้น เราได้ทำงานกับฝ่ายที่รับผิดชอบอยู่หน้าร้าน ฝ่ายขนส่ง เราเรียนรู้ว่าภายในระยะเวลาเท่าไรต้องจัดขนส่ง ทำได้จริงแค่ไหน ยกตัวอย่างหน้างานจากการเช็ดพื้น ต้องรู้ว่าใช้น้ำยาอะไร เช็ดเวลาไหน ต้องเช็ดกี่ครั้ง
การเรียนรู้นี้ต้องลงลึกกับทุกจุดเพื่อจะได้รู้ลึกทุกเรื่อง ในเรือเราก็มีเพื่อนร่วมทีม พอเราขึ้นไปสูงเรารับบทบาทเป็นนักกลยุทธ์ เหมือนเรือไวกิ้ง เราตั้งกลยุทธ์แล้ว เราตั้งมาตรฐานแล้ว ตอนที่เราลงมือทำ ระหว่างนั้นเราก็มีเพื่อนร่วมทีมคอยช่วยเหลือกัน ผู้ใหญ่ก็ใจกว้าง ให้อิสระในการเรียนรู้
“เพื่อนร่วมทีมสำคัญมาก เรามีแต่คนเก่ง แต่คนเก่งของที่นี่มีความพิเศษ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเก่งวันนี้ พรุ่งนี้เราอาจไม่เก่ง เพื่อนในทีมเรามีหลายสาขาทั้งวิศวะ นักเศรษฐศาสตร์ นักโภชนาการ นักภาษาศาสตร์ ฯลฯ เราแลกเปลี่ยนความรู้และปรับตัวร่วมกัน โครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้หลายด้าน”แชมป์ให้มุมมอง
เดิมทีแชมป์เล่าว่า เขาคาดว่าจะมาแค่เรียนรู้ แต่เกินความคาดหมายคือกลับได้เรียนรู้ชีวิตใหม่ ได้รู้จักผู้คนใหม่ๆ ช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้ 6 เดือนเหมือนผ่านไป 2 ปี ทุกครั้งที่เราเจออุปสรรค เจอวิกฤต เราคุยกันและช่วยเหลือกันตลอดเวลา
“ข้อคิดจากการเรียนหลักสูตรผู้นำของเครือฯ คือการได้เรียนรู้การเป็นเจ้าของจริงๆ ที่นี่เป็นที่เดียวที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ทดลองโดยไม่เจ็บตัว ท่านประธานอาวุโสเปิดโอกาสให้เราได้ลองเรียนรู้ พัฒนาทักษะตัวเองเอง เหมือนเราไม่ต้องไปเสียเงินสำหรับคอร์สเรียนธุรกิจ แต่เราได้เรียนธุรกิจจริงๆ ทั้งยังได้เงินเดือนด้วย สิ่งที่เราได้เรียนรู้เราสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ ที่บ้านก็ทำธุรกิจเช่นกัน ก็สามารถแบ่งปันความรู้ให้กับที่บ้านได้ สามารถนำไปต่อยอดเป็นเจ้าของธุรกิจได้”
“ที่สำคัญความรู้จากที่เราเรียนมา ทำให้เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง ต้องก้าวทันสถานการณ์ เราดีใจวันเดียว เราเสียใจวันเดียวเหมือนที่ท่านประธานอาวุโสเคยกล่าวไว้ เราตั้งกลยุทธ์ในแต่ละอาทิตย์ บางครั้งก็ต้องสามารถเปลี่ยนได้ในวันเดียวเช่นกัน” แชมป์กล่าวสรุปถึงความประทับใจที่ได้รับจากโครงการพัฒนาผู้นำเพื่ออนาคต (FLP)
โครงการเถ้าแก่น้อยเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิตที่ดีที่คนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้การทำงานเพิ่มทักษะที่จะนำไปต่อยอด เน้นการเรียนรู้จากการทำงานจริงเป็นแก่นแกนสำคัญในการพัฒนาองค์กร ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่คัดสรรคนคุณภาพเพื่อมาเป็นผู้นำองค์กรภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เชื่อมั่นถึงพลังคนรุ่นใหม่…พลังแห่งอนาคตที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างยั่งยืน
ที่มา : brandinside