คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ขึ้นเวทีร่วมวงเสนาในหัวข้อ “วิถียั่งยืน ชุบชีวิตธุรกิจ-สังคม” ร่วมกับ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพท์แห่งประทศไทย และ คุณพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ภายในงาน ธุรกิจ - สังคมไทยในวิถี “ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติธุรกิจ’
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้แสดงมุมมองการขับเคลื่อนในวิถีความยั่งยืน ว่าต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ก่อน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสำคัญกับการดำเนินชีวิตหรือการทำธุรกิจ ซึ่งผู้นำบางคนก็สามารถที่จะตระหนักได้ด้วยตัวเอง แต่บางผู้นำต้องเห็นตัวอย่างที่สำเร็จก่อน แล้วจึงเกิดเป็นความเชื่อ เกิดเป็นศรัทธาและลงมือทำ และการตระหนักรู้ต้องเกิดขึ้นจากการที่เริ่มต้นว่า ตัวชี้วัดที่สำคัญคืออะไร และบทบาทของเราสำคัญอย่างไร ที่ผ่านมาตนเองได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงานมาแล้วหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น World Economic Forum, One Young World หรือ UN Global Compact ซึ่งทุกเวทีต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงต้องแก้ด้วยภาคเอกชน ตอนแรกตนเองไม่เชื่อ แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับ เพราะว่าภาคเอกชนเป็นองค์กรที่มีความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนดีกว่าภาครัฐ เพราะภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายอยู่ตลอด อีกทั้งภาคเอกชนยังอยู่ระหว่าง 2 โลก คือ โลกที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และ โลกที่ปฏิบัติตามที่ตลาดต้องการ ทำให้มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาในสังคม ซึ่งหากภาคเอกชนตระหนักรู้ถึงบทบาทของตัวเองที่ต้องขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การทำ CSR ก็จะสามารถแก้ปัญหาในระดับโลกได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอันดับที่ 1
แต่ส่วนใหญ่ภาคเอกชนจะมองว่าไม่เกี่ยวข้อง เพราะแค่การดำเนินธุรกิจการแข่งขันก็เหนื่อยอยู่แล้ว และจะคุ้นชินกับการดำเนินธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอดมากกว่า แต่หากลองสมมติให้เอกชนเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว ที่มีพ่อบ้านและลูกๆ กินทิ้งกินขว้าง เสื้อผ้าไม่ซัก ทิ้งขยะไปทั่ว และปล่อยให้คุณแม่ทำงานอยู่คนเดียว จนวันหนึ่งที่แม่ทนไม่ไหวและไม่ทำ บ้านก็จะเกิดความสกปรก การช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็ไม่มี เพราะไม่ได้แบ่งบทบาทกันทำภายในบ้าน และหากสมมติขยายขึ้นมาเป็นบริษัท ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าต้องทำรายได้ตามเป้าหมายอย่างเดียว แต่ในความเป็นบริษัทกลับไม่มีความเข้มแข็งและไม่ยั่งยืน เพราะวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่มีการช่วยเหลือกัน จะทำอะไรก็ไม่คิดว่าจะเกิดเป็นขยะ ไม่คิดว่าต้องมีธรรมภิบาล และถ้าเราทำอะไรโดยที่ไม่มองถึงภาพใหญ่อย่างเรื่องความยั่งยืน ไม่คิดถึงเรื่องที่องค์กรต้องช่วยสร้างคน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างงาน หรือถ่ายทอดองค์ความรู้ เราคงเป็นองค์กรแบบ 20 – 30 ปีก่อน
แต่หากมองในมิติของโลก เปรียบโลกคือบ้าน และทุกคนทิ้งขยะปล่อยมลพิษ โดยที่เราทำทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานการบริโภคอย่างเดียวและไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร แต่หากเรามองง่ายๆคือ มองเรื่องความยั่งยืน คือ เรื่องของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยที่เราเน้นอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. เรื่อง Global Warming ภาวะเรือนกระจก แม้มนุษย์จะบอกว่าเราก็ปรับตัวได้ดี ไม่อย่างนั้นคงอยู่ไม่ได้ในแสนหรือล้านปี แต่หากมองให้ดีจะรู้ว่ามีหลายๆสายพันธุ์ได้หายไปปจากโลกนี้ จนเหลือแต่กระดูกให้เราได้ศึกษาในทุกวันนี้ แต่หากมีคนบอกว่าอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอีก 10% สมมติตอนนี้ 30 องศา เพิ่มอีก 33 องศา ก็อาจจะทำให้สัตว์โลกหายไป 16% คือวิถีชีวิตของระบบสปีชี่ในโลกจะหายไป แล้วเราจะไม่รู้ได้อย่างไรว่าอาจเป็นหนึ่งใน 16% และถ้าสมมติว่าโควิดคือสัญญาณเตือน ว่าเรากำลังเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยและบุกรุกป่า สัตว์ป่าไปเข้าไปเรื่อยๆ จนทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป และเขาเข้ามาอยู่กับเรา ซึ่งการที่อุณหภูมิเปลี่ยนไปทำให้มีอะไรที่เราคาดไม่ถึงอีกเยอะ เพราะฉะนั้นการตั้งเป้าหมายจึงสำคัญเป็นอันดับหนึ่งขององค์กรในตลาดหลักทรัพย์หรือเอกชน ในเรื่อง net carbon Zero ว่าจะทำได้หรือไม่ แต่หากเราตั้งเป้าและเริ่มคิด มันจะคิดออกเอง แต่หากไม่มีการตั้งเป้าเลย ก็จะไม่มีวันคิดออกว่าองค์กรจะขยับไปได้อย่างไร ซึ่งหากเราไปถามพนักงานเมื่อเราจะทำเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เขาจะบอกว่าบริษัทไม่มีนโยบายเรื่องนี้ แต่หากลองมองกลับกัน หากเรามีเป้าหมาย มีนโยบายที่ชัดเจน และกลับไปถามพนักงานใหม่ว่าบริษัทมีเรื่องนี้ เขาจะมีเป้าหมายและคิดต่อว่านโยบายนั้นจะต้องคลอบคลุมกับการลงทุน ว่าจะช่วยลดต้นทุนหรือเพิ่มรายได้อย่างไร และเขาจะเกิดนวัตกรรม ฉะนั้นหลายๆอย่างที่เราตั้งเป้าหมาย พอตั้งไปแล้วมันจะเกิดเป็นพลังความคิด เหมือนจิตที่จับอยู่ตรงนั้น แต่เป็นจิตทั้งบริษัทจนรวมพลังเกิดเป็นความแหลมคมมากขึ้น
2. เรื่องของ zero waste ซึ่งหากเราทำเรื่องนี้ได้อย่างน้อยในตลอดห่วงโซ่อุปทาน ก็จะช่วยโลกได้เยอะ เหมือนกับเราทำหน้าที่ของเรา เปรียบว่าเราเป็นลูกคนหนึ่งของบ้านที่เก็บกวาดห้องให้สะอาด ไม่มีขยะ สิ่งสกปรกไม่มี เชื้อโรคของเราก็จะไม่เผยแพร่ อย่างเราเป็นหวัดแล้วใส่หน้ากาก อันนี้คือสิ่งที่เราทำได้
และเรื่องที่ 3. คือทำอย่างไรที่จะสร้างโอกาสความเสมอภาคที่เท่าเทียมกันให้มากที่สุด ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ หรือหากพูดในภาษาทั่วไปคือ Human Right ฉะนั้นนี่คือ 3 เรื่อง คือ การรักษาบ้านเราเอง คือโลกนี้ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นบ้านเราเอง ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเราดีและเป็นตัวอย่างที่ดี และเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ โดยที่เน้นไปในเรื่องของการศึกษา
ทั้งนี้คุณศุภชัยยังได้พูดถึงเรื่องของโครงการสบขุ่นโมเดล ที่จังหวัดน่าน ว่าเป็นโครงการที่เข้าไปทำตามรอยของมูลนิธิปิดทองหลังพระ ถึงความพยายามที่จะไปตามชุมชนที่เขาสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและปลูกให้ได้มากที่สุด ทำให้ผลผลิตที่ต่ำ ไม่มีระบบชลประทาน ค่าขนส่งที่แพง ที่เขาไม่มีทางเลือกเท่าไร และเกิดมีระบบของการกู้ยืมเข้ามา โดยดูจากจำนวนไร่และจำนวนตัน ซึ่งการกู้ยืมของชาวบ้าน มักเป็นการกู้ยืมที่นำเอาเงินกู้ส่วนหนึ่งมาใช้ดำรงชีวิต และส่งลูกเรียนจนถึงในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมันไม่ได้เป็นโมเดลธุรกิจ และไม่ได้เป็นโมเดลทางด้านเกษตรอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งวิถีชีวิตของพวกเขาอยู่แต่บนเขา และกฏหมายมาออกทีหลัง ว่าอันนี้เป็นพื้นที่ป่า ทั้งที่พวกเขาก็อยู่มาแล้วหลายรุ่น เป็นหมู่บ้าน ซึ่งเราก็ได้พยายามดูว่า พืชอะไรที่เป็นมิตรกับป่าและใช้พื้นที่น้อย สามารถใช้ระบบชลประทานแบบง่ายๆได้ นั้นคือการทดลองปลูกกาแฟเป็นต้น ซึ่งถ้าเราให้เขาปลูกพืชที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีค่า เหมาะสมกับภูมิประเทศ และสามารถเป็นแนวกันไฟ ช่วยดูแลปกป้องรักษาผืนป่าที่เหลือ เพราะว่าเขามีพืชผลที่มีค่า อาจรวมไปถึงเรื่องไม้มีค่าอย่างอื่นด้วย ก็เป็นหัวข้อที่เรากำลังเข้าไปศึกษาโมเดลนี้ ซึ่งทางมูลนิธิปิดทองได้ทำไปเยอะแล้ว
และอีกเรื่องที่เราพยายามกำลังผลักดัน คือ เรื่องกฏระเบียบของบ้านเมือง เรื่องกฏหมาย เพราะคำว่า Land use หรือเรื่องที่ทำกินเป็นปัญหาระดับโลก ปัญหาเรื่องปากท้องของคนระดับโลก เพราะเขาอยู่พื้นที่ที่ผิดกฏหมาย เพราะฉะนั้นถ้าเขาลืมตามาเขาก็ผิดกฏหมายแล้ว หรือจะให้ถางอีกร้อยไร่เขาก็ทำ แต่ถ้าเกิดเราให้สิทธิเขา ว่าอันนี้เป็นสิทธิทำกินเพื่อชุมชนในการดูแลรักษาป่า แล้วถูกกฏหมาย แต่หากคุณทำผิดกฏหมายคุณจะถูกปรับนะ ผมคิดว่าคนจะอยู่ในวินัยได้ แต่ว่าเรื่องของกกหมาย หรือ กฏระเบียบ จะเอื้อเหมือนตลาดหลักทรัพย์ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้พฤติกรรมของคนในท้องที่ปรับตัวได้ พร้อมๆกับการที่เราช่วยเขาเปลี่ยนให้แรงจูงใจในเบื้องต้นว่าให้คุณเปลี่ยน และแรงจูงใจไม่ได้มีอะไรมาก คือเราประกันมาร์จิ้นขั้นต่ำ หรือ ประกันการซื้อ แต่เราต้องรู้อยู่แล้วว่ามีช่องทางตลาด ซึ่งอันนี้เป็นความร่วมมือ PPP ที่เราเข้าไปทำอยู่
นอกจากนี้คุณศุภชัย ยังได้พูดเสริมอีกว่า ในโลกของดิจิตอล 4.0 ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และการที่จะทำให้สตาร์ทอัพใหม่ๆ เข้ามาช่วยองค์กรขนาดใหญ่ปรับตัวได้นั้น องค์กรขนาดใหญ่ต้องตระหนักรู้และมีแรงจูงใจ ที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องเงิน หรือ ภาษี อย่างในเรื่องของความยั่งยืนที่อาจจะรวมไปถึงเรื่องของ circular economy หรือเรื่องรีไซเคิล หรือว่าเรื่อง carbon neutral footprint หากว่าองค์กรของเรายังต้องผลิตคาร์บอนอยู่ การซื้อ carbon credit ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความต้องการใหม่เกิดขึ้นในตลาด โดยที่เอกชนขนาดใหญ่ หรือว่าขนาดกลาง ก็จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายความยั่งยืน หรือเป็นตลาดกลางที่มีการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น มีการเข้าไปซื้อหรือเทรดในตลาดได้ และหากเอกชนต้องการคัฟเวอร์เครดิต ก็จะได้มีโอกาสเข้าไปสนับสนุนสตาร์ทอัพ หรือ SME ทำให้เขามีเงินทุน มีรายได้ ผู้ลงทุนก็เข้ามาลงทุนด้วย เพราะถือว่าอยู่ในระบบของการสร้างมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ แต่หากเอกชนที่เข้าไปซื้อคาร์บอนเครดิต หรือซื้อเครดิตทางด้านรีไซเคิลต่างๆ การประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพเหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นต้นทุนเพิ่มให้แก่เรา แต่ในขณะเดียวกันเราจะเห็นได้ว่า เรายังสามารถลดต้นทุนเรื่องอื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น Feed ของเรา หรือรถยนต์ที่ใช้ในการทำงานทั้งหมด การขนส่งทั้งหมด หากเราหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วน เราอาจจะไม่เชื่อว่าต้นทุนจะลดไป 10% ในขณะที่ carbon footprint ที่ออกมาก็จะลดไปด้วย
ถ้าเอกชนมองว่าเรามีเป้าหมายความยั่งยืนที่เป็นคู่ขนาน และเราไปลดต้นทุนในสิ่งที่เป็น Waste และไม่ได้ช่วยเรื่องความยั่งยืน เราสามารถนำเงินส่วนนั้นไปต่อยอดในการที่จะลงทุน หรือ ซื้อเครดิตเหล่านี้กลับมาเพื่อที่เราจะได้ดำเนินได้ตามเป้าหมาย คือบางทีเราไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว เพียงแค่คนอื่นทำและเราเข้าไปสนับสนุนเขา อย่างทุกวันนี้เรื่องของ Solar power เป็นเรื่องจริงที่คุ้มทุนแล้ว ซึ่งเราสามารถเข้าไปลงทุนหรือไปร่วมกับธุรกิจที่เขาทำอยู่ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพ เป็นเรื่อง social enterprise และได้รับเครดิตตรงนั้นกลับมา ซึ่งนี่จึงเป็นสิ่งที่คิดว่า ecosystem ตรงนี้เกิด คือทุนของภาคเอกชน จะเป็นในรูปแบบการลงทุน หรือรายได้ที่จะเข้าไปก็จะตามมา
ทั้งนี้คุณศุภชัยยังได้ทิ้งท้ายว่า สื่อ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เรื่องของความยั่งยืนเข้าถึงกลุ่มรากหญ้าได้ดีที่สุด เพราะสื่อเป็นห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุด คือสื่ออย่างประชาชาติ มติชน สื่อทีวี ในช่วงเวลา prime time สมมติถ้าเกิดว่าละครของเรา ที่มีคนดูอยู่ครึ่งค่อนประเทศ โดยที่ทุกเรื่องเราให้สิ่งจูงใจไม่ว่าจะเป็นพระเอกหรือนางเอก ต้องเพิ่มเรื่องพวกนี้เข้าไป โดยช่วยเขาลดต้นทุน หรือให้เงินทุน ฉะนั้นมันจึงเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่พ่อ แม่ พี่น้อง ลูกหลานดู แม้ว่าเด็กจะไม่ได้ดูทีวี แต่เขาก็ตามไปดูคอนเทนต์พวกนี้บนอินเทอร์เน็ต และถ้าเราบอกว่าช่วง prime time มีโฆษณาได้ อย่างโฆษณาเรื่องความยั่งยืน สถานีคงไม่อยากเอามาเพราะไม่ทำให้เกิดรายได้ แล้วทำไมถึงไม่เพิ่มอีก 2 นาที ซึ่งเป็น 2 นาทีที่ไม่เสียแต่กลับเพิ่มเข้ามา คือเอกชนต่างๆที่ทำโปรดักชั่นโปรโมทเรื่องความยั่งยืน สามารถนำไปหักภาษีได้ และประชาชนผู้บริโภคนอกเหนือจากการขายของก็บริโภคสิ่งที่เป็นความตระหนักรู้ที่ถูกต้อง หรือ องค์ความรู้ที่ถูกต้องทางด้านความยั่งยืน เพราะฉะนั้น 17 ข้อเป้าหมายความยั่งยืนของ SDG ก็สามารถบอกเล่าทีละข้อได้หมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมเกิดเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่สร้างการตระหนักรู้ ตั้งแต่คนสูงอายุไปจนถึงเด็ก
ขณะที่ผู้ร่วมวงเสวนาอย่าง ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทผลักดันเรื่องของความยั่งยืน มาตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งขณะนั้นนักลงทุนทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางเพิ่มความเชื่อมั่น
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้ง สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เพื่อปรับปรุงให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีวิธีการ กฎเกณฑ์ หรือกฎระเบียบในการรายงานข้อมูลด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญกับประเด็น ‘บรรษัทภิบาล’ หรือ CG ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนของไทย และส่งผลให้เราต่อยอดไปยังประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR แต่เป็น CSR ที่ทำต่อเนื่อง (CSR in practice)”
เช่นเดียวกับ คุณพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา กล่าวว่า โลกมีปัญหามากมายและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รุนแรง และถี่ขึ้นมาก ดังนั้นความยั่งยืนในภาคธุรกิจจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง การสร้างความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ละบริษัทจะมีกรอบที่ต่างกัน เช่น ดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI), เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals), กรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่ง 2 แนวทางที่บริษัทต่าง ๆ สามารถเริ่มทำได้ คือ 1.close loop ภายในการดำเนินธุรกิจต้องพยายามดึงศักยภาพในองค์กรทำให้เกิดขยะน้อยสุด 2. open loop นำของใช้แล้วกลับมาสร้างมูลค่าใหม่ได้
“ยกตัวอย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่กำลังลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกรีไซคลิ่ง (recycling) รองรับการนำขยะพลาสติกเข้าระบบ 6 หมื่นตันต่อปี ในการทำสิ่งนั้นได้ในประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องการแยกขยะต้นทางที่บ้าน หมายความว่าเขาต้องจัดการ value chain ตั้งแต่การคัดแยก ลำเลียงเข้าระบบ หากทำได้จะเกิดการสร้างงาน รายได้ นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการลดภาระของบ่อฝังกลบ ทำให้ขยะพลาสติกไม่หลุดลงไปในทะเล”
###################