• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

เปิดมุมมอง 'ศุภชัย เจียรวนนท์' ปลุกธุรกิจยั่งยืน แก้ปัญหาโลก


11 กันยายน 2563

ความยั่งยืน สำคัญอย่างไรในการทำธุรกิจ ทำไมหลายบริษัทชั้นนำในประเทศถึงสนใจถึงขั้นทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่มาตรฐานความยั่งยืน ที่องค์การสหประชาชาติ เป็นหัวเรือใหญ่ในการชวนเชิญประเทศสมาชิกทั่วโลกมาร่วมมือกันกับแผนการพัฒนาโลกเพื่อความยั่งยืน

ในงาน "GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs" จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้สนับสนุนของสมาคม

'ศุภชัย เจียรวนนท์' ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย หรือ GCNT กล่าวว่าขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์นอกเหนือจากโควิด-19 ทั้งทางด้านของความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ไปจนถึงระดับสังคมความเป็นอยู่ที่ดีของคนทั้งโลก ฉะนั้นถ้าภาคเอกชนประเทศไทยสามารถดำเนินธุรกิจตามหลัก 10 ประการ ของ UN Global Compact ซึ่งครอบคลุมเรื่องสิทธิมนุษยชนแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอรัปชั่น จะทำให้เกิดความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงเครือข่ายสมาคมเกี่ยวกับความยั่งยืน ในการที่จะแบ่งปันองค์ความรู้ วิธีการต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์ใช้เนื่องจากสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก มีจำนวนมากกว่า 60 สมาคมกระจายอยู่ทั่วโลก โดยแต่ละสมาคมในแต่ละประเทศมีการประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม และรัฐบาลของแต่ละประเทศ
 

"ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถแก้ปัญหาระดับโลกเหล่านี้ได้ดีขึ้นตามลำดับ

และยังอาจจะเป็นส่วนสำคัญในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลก"

 

จุดเริ่มต้นของความยั่งยืน

จุดเริ่มต้นสำคัญในมุมมองของศุภชัยคือ การสร้างความ 'ตระหนักรู้' ตลอดห่วงโซ่อุปทานของภาคธุรกิจเอกชน พร้อมไปกับการสร้างความ 'ตระหนักรู้' ของคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นผู้ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอนาคตควบคู่กันไป ขณะเดียวกันต้องช่วยกันประคับประคองธุรกิจและเศรษฐกิจหลังจากที่ได้รับผลกระทบจาก วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการเลิกจ้างงานมากมายส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านการดำเนินชีวิตในคนจำนวนหลายล้านคน ตลอดจนเด็กนักเรียนที่จบใหม่ก็อาจจะหางานทำได้ยากเกิดความไม่มั่นคงในชีวิต

ฉะนั้นการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแสดงความมั่นใจ การลงทุนอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชนรวมทั้งความพยายามที่จะไม่เลิกจ้างพนักงาน (lay off) หรือมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ไม่ได้แค่ช่วยให้เรารอดเท่านั้น แต่ทำให้ทุกคนรอด ด้วยการระดมสรรพกำลังร่วมมือกับภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและรักษาความมั่นคงทางชีวิต

"เราต้องผนึกกำลังกัน ในมิติที่เสริมเพิ่มเติมเข้าไปอีก คงไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ตลอดไปจนถึงนานาประเทศทั่วโลก ก็คงมีภารกิจเช่นเดียวกันในการที่จะสร้างการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจตลอดจนการรักษางานและการสร้างงาน ถือโอกาสนี้ในการที่จะกลับมาได้ดีกว่าเดิมกลับมาได้แข็งแกร่งกว่าเดิม"

เพราะ ตราบใดที่ 'ไม่มี' การตระหนักรู้ ตราบใดยัง 'ไม่มี' การวางเป้าหมาย การทำงานกระจัดกระจาย ไม่มีพลัง ไม่สามารถที่จะสอดประสานและไม่สามารถเชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ในระดับชุมชน ความยั่งยืนคงจะไม่เกิด ดังนั้นสิ่งที่เราตั้งใจจะทำทุกปีและก็ต่อเนื่องคือเราต้องสร้างความตระหนักรู้ (awareness)ไม่ใช่เฉพาะในหมู่ของสมาชิก แต่ว่าตลอดจนทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานของสมาชิกทุกคนและการเข้าไปถึงคนรุ่นใหม่ในระดับที่เป็นประเทศ มหาวิทยาลัยตลอดจนไปถึงระดับของชุมชนให้มามีส่วนร่วม
          

เปิดเวทีลงมือทำ แชร์ความรู้

ศุภชัย กล่าวว่า แนวทางการทำงานคือการ 'เปิดโอกาส' ให้ทุกคนได้เสริมสร้างทักษะในการลงมือปฏิบัติจริง มีการแชร์องค์ความรู้ การมีส่วนร่วมในลักษณะของอาสาสมัครที่จะเกิดขึ้นได้นอกเหนือจากภาคฝ่ายเอกชนแล้วทุกๆ ภาคฝ่ายก็สามารถเข้าร่วมได้ ด้วยการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ให้คนได้ตระหนักรู้มากขึ้น เพราะเมื่อมีความตระหนักรู้แบ่งปันเป้าหมายกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแรก คือทุกภาคฝ่าย จะมีความระมัดระวังที่จะไม่ทำในสิ่งที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้นคือทุกภาคฝ่ายจะเริ่มมองว่า ตนจะเป็นผู้ที่จะช่วยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร เช่น กรณีของสมาชิก โกลบอลคอมแพ็ก ซึ่งแต่ละคนก็มีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง 'ไม่ใช่' แค่การปฏิบัติให้สอดคล้องเท่านั้น

"ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่คิดว่าการทำเรื่องความยั่งยืนเป็น 'ต้นทุน' เพิ่ม แต่ในข้อเท็จจริง หากลองมองในมุมใหม่ๆ คิดในรูปแบบใหม่ๆ มันอาจจะ 'ไม่ใช่' เป็นต้นทุนเพิ่ม หรืออาจมีต้นทุนเพิ่มเพียงเล็กน้อย แต่ได้ผลตอบแทนกลับมามหาศาล แต่ก่อนอื่นภาคธุรกิจต้องตระหนักรู้ก่อนว่า ต้นทุนที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างไม่ยั่งยืนนั้นมีอยู่จริง อาจจะยังไม่สามารถจับต้องได้ในวันนี้ แต่ว่ามันเป็นต้นทุนย้อนกลับมา ทั้งในระบบสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ทำให้ต้องมานั่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะ มลพิษ คนตกงาน ความเหลื่อมล้ำความอ่อนแอของระบบสังคม และสิ่งที่แย่ไปกว่านั้นคือเข้าสู่ความรุนแรง ถือเป็นต้นทุนทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเราจะหันหลังให้มันนานแค่ไหน หรือเราจะมองเห็นมัน อันนี้เป็นความตระหนักรู้ที่สำคัญของเอกชนทุกภาคส่วน"

 

สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ช่วยลดต้นทุน

ถ้าองค์กรมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Innovate) พนักงานและผู้บริหารสามารถเป็นคนสร้างนวัตกรรม โดย 'ไม่มี' ต้นทุนและทำให้ต้นทุนในระยะกลาง ระยะยาว 'ลดลง' เช่น กรณีของพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันต้นทุนเหล่านี้ต่ำลง ถึงกระทั่งคุ้มทุน และทำให้ลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็ช่วย 'ลด' ภาวะก๊าซเรือนกระจกของประเทศไปด้วย หรือการใช้เครื่องยนต์เครื่องจักรที่เป็นพลังงานไฟฟ้า อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า หรือ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เรียกว่า EV (Electric Vehicle) เริ่มมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นซึ่งมันมีความคุ้มทุนอยู่แล้ว แล้วก็ลดมลภาวะไปด้วย เพียงแต่ว่าเอกชนจะสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็วแค่ไหน ส่วนในระบบห่วงโซ่อุปทาน ควรที่จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ส่วนการพัฒนาชุมชนก็สามารถลดขั้นตอนจากคนกลางได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีต้นทุน เป็นการสร้างสรรค์กระบวนการใหม่ หรือนวัตกรรมที่สามารถทำให้ทุกฝ่ายดีขึ้นได้

"ถ้าเราคิดว่ามันต้องมีผู้ชนะ และผู้แพ้ ทำยากและมีต้นทุนสูง แต่ถ้าเรามีความคิดว่า เราสามารถใช้ทุนทางสติปัญญา และเป้าหมายของแต่ละองค์กร โดยอาศัยทุนทางปัญญาของผู้บริหารและพนักงานของตนเองผสมผสานสิ่งเหล่านี้เข้าไปดำเนินธุรกิจจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน"

ศุภชัย ระบุว่า จากประสบการณ์เขาสามารถพิสูจน์ได้ว่า การสร้างความยั่งยืน นอกจากจะไม่เพิ่มต้นทุนแล้วในระยะกลาง และระยะยาว ยังเป็นการ 'ลด' ต้นทุนทั้งต้นทุนทางตรง และต้นทุนทางอ้อมที่มีผลกระทบต่อระบบสังคม เศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถวัดได้อย่างชัดเจน ก็สามารถลดไปได้พร้อมกัน

"ตามหลักศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า การเชื่อว่ามีชาติหน้ามันไม่ได้มีผลเสียเลย แต่จริงๆ เป็นการให้เราปฏิบัติตัวได้ถูกต้องในชาตินี้ ซึ่งผลประโยชน์เกิดขึ้นทันที เราคงไม่ต้องไปคิดว่ากลายเป็นกำไรได้อย่างไร แต่แน่นอน การทำธุรกิจจะต้องยังคงมีกำไร ตอบสนองความต้องการของตลาด แต่โมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนก็ยังคงต้องทำควบคู่ไป สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าต้องเกิดขึ้นจากความตระหนักรู้ ซึ่งเราสามารถทำได้ มนุษย์เรามีศักยภาพที่มากพอ ที่จะทำทั้ง 2 สิ่งนี้ควบคู่กันไปได้ ทั้งตอบสนองความต้องการตลาด ยังคงมีผลกำไรที่เหมาะสม และเสริมสร้างเรื่องของความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างมีนวัตกรรม"

 

ชงตลาดหลักทรัพย์ใช้กลไกกระตุ้น

ศุภชัย มองว่า ตลาดหลักทรัพย์จะมีส่วนสำคัญมากในการผลักดันเรื่องของความยั่งยืน เพราะ ถ้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก เริ่มมีการให้ทำรายงานเป้าหมายในเรื่องความยั่งยืน Zero Waste, Zero Carbon ไปไกลกว่านั้นอีก Zero Hunger และ Zero Poverty ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นมาตราวัดที่สำคัญที่ทำให้คนเริ่มมองไปในจุดเดียวกัน และเริ่มจะสร้างนวัตกรรมและแข่งขันกันในเชิงการทำรายงานเพื่อความยั่งยืน

"ผมเชื่อว่าจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญได้อย่างรวดเร็ว เราจะเห็นนวัตกรรมทำให้ธุรกิจมีต้นทุนลดลงและผลประกอบการที่เติบโตอย่างยั่งยืน"

จากที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล(governance) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนด้านสังคม แต่อาจจะยัง 'ขาด' หรืออาจจะยังไม่ชัดเจนในส่วนของเรื่องสิ่งแวดล้อม และอาจจะยังไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลกร่วมกัน ในการส่งเสริมสนับสนุนให้กับบริษัทต่างๆ ทำรายงานด้านความยั่งยืน แทนที่จะเป็นบัญชีทางด้านการเงินอย่างเดียว

 

สร้างระบบนิเวศขับเคลื่อนความยั่งยืน

โดยในปีนี้ สมาคมโกลบอล  คอมแพ็กได้วางแนวทางไว้ว่าสิ้นปีนี้สมาชิกจากเดิม 45 ตอนนี้ 60 จะเพิ่มไปได้ถึง 200 ทั้งองค์กรขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้นที่วางไว้ในสิ้นปีนี้และก็ยังมองว่าจำนวนของคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วม เป็นในลักษณะของอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา หรือผู้นำรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม กับโกลบอลคอมแพ็ก

"ฝั่งหนึ่งเราพยายามจะสร้างสมาชิก อีกฝั่งหนึ่งก็ใช้กำลังของคนรุ่นใหม่ สร้างความตระหนักรู้ด้วยการทำกิจกรรมผ่าน Action based learning กิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งสองทางเป็นสิ่งที่เราตั้งใจที่จะทำอย่างต่อเนื่องมีกิจกรรมทุกอาทิตย์ให้กับคนรุ่นใหม่และอาสาสมัครต่างๆ ที่มีความสนใจในเรื่องนี้"

ในภาคการศึกษาจะมีส่วนร่วมได้ภายใต้โมเดลที่เรียกว่า 'Learning Center' ซึ่งอยากจะให้มีทุกโรงเรียน ที่ได้ทดสอบก็มีอยู่ประมาณ 100 โรงเรียน เป็นลักษณะของ Action based learning  เป็นกิจกรรมของแต่ละช่วงอายุวัย แต่เป็นกิจกรรมที่ทำอยู่บน 3 ขาหลักได้แก่ 1.เศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องรู้จักทำมาหากิน บทบาท อาชีพ การมีวินัยในด้านเศรษฐกิจ 2.สังคม เพราะปัญหาทางสังคมไม่ว่าจะเป็นระดับห้องเรียน สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ไปจนถึงกระทั่งสังคมในชุมชน ได้เข้าไปบริการสาธารณะ (Public Service) และ 3.สิ่งแวดล้อม เด็กต้องมองเห็นสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร สาธารณสุขเป็นอย่างไร การปลูกต้นไม้ในโรงเรียน ชุมชน มลภาวะความเป็นพิษของแหล่งน้ำในชุมชน ได้ไปเรียนรู้ ได้ทำกิจกรรม ทำรายงาน วิเคราะห์ ได้ดีเบตถึงปัญหา เพื่อเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนในอนาคต


ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวยอดนิยม

เครือเจริญโภคภัณฑ์บริษัทข้ามชาติแห่งแรกในจีนจดทะเบียนการค้าหมายเลข 000...

17 พฤษภาคม 2560
26576

การบริหารงานบุคคลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในยุค 4.0...

08 พฤศจิกายน 2560
21873

โครงการเลี้ยงไก่ไข่อาหารกลางวันนักเรียน การ “ให้” อย่างมีคุณค่า ทั้งด้...

03 กรกฎาคม 2558
20475

Cage Free Eggs ไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภ...

18 กรกฎาคม 2562
12443

แชร์ข่าวสาร

“ศุภชัย เจียรวนนท์” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็กประเทศไท... ซีอีโอเครือซีพี ขึ้นปาฐกถาพิเศษสร้างแรงบันดาลใจ ปลุกพลังให้...

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

“มาริษา เจียรวนนท์” บนเส้นทางรังสรรค์ อาหารเพื่อสังคม ผ่านมูลนิธิ CHEF...

23 พฤศจิกายน 2564
3787

สูตรรอด 'CPF' อยู่ร่วมโควิด กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ...

30 สิงหาคม 2564
3531

ทำความรู้จัก “สบขุ่นโมเดล”: CP ร่วมพัฒนา พลิกเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป...

13 กรกฎาคม 2564
4299

CP ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อน Social Enterprise ผู้นำหญิงนักพัฒนา ก้าวสู่ชุมช...

07 กรกฎาคม 2564
4175

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th