• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

Brixham ... เสน่ห์เมืองประมงเล็กๆ บนเกาะอังกฤษ ต้นแบบการพัฒนาเมืองประมง


11 มิถุนายน 2563

หาดหินกรวดกับน้ำเย็น ๆ ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับเด็ก ๆ ที่มาเล่นน้ำกันเลย

ช่วงเดือนนี้เมื่อปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเมืองเล็ก ๆ ที่ประเทศอังกฤษ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมประมงอวนลาก (Birthplace of the Trawling Industry) สำหรับท่านที่ไม่รู้จักว่าอวนลากคืออะไร มันคือการจับปลาครั้งละจำนวนมาก ๆ ด้วยวิธีการ “ลาก” ตาข่ายใหญ่ ๆ ในทะเล เป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน

เมืองนี้ชื่อ Brixham อยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ เป็นเมืองประมงเล็กๆ ประชากรราวสองหมื่นคน ที่น่าสนใจคือพวกเขามีประวัติที่น่าภาคภูมิใจเกี่ยวกับการทำประมงอวนลาก ตั้งแต่การคิดค้นการต่อเรือประมงแบบด้วยอวนลากบนเรือใบ (sailing trawler) มาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งก่อนหน้านี้ประมงที่นี่ใช้วิธีจับที่มีประสิทธิภาพต่ำที่อาศัยเบ็ดราว (long-lining) เป็นหลักเท่านั้น

หลังจากที่มีการคิดค้นอวนลากที่ประสิทธิภาพดีกว่าขึ้นมา จำนวนเรือก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ ประมาณ 200-300 ลำในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เรือจากท่าเรือเล็ก ๆ ของ Brixham ก็สามารถออกไปทำประมงในที่ที่ไกลขึ้นได้ จนทำให้มีท่าเรือเกิดในที่ต่าง ๆ ของอังกฤษเช่น ท่าเรือเมือง Hull Grimsy Lowestoft Great Yarmouth จนกระทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 จบ เรือหลายลำโดยจมโดยเรือรบเยอรมัน จำนวนเรือประมงก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 1926 มีเรือเหลืออยู่ประมาณ 40 ลำ นอกจากนี้สงครามยังทำลายหน้าดิน (seabed) ของพื้นทะเลมาก มีซากปรักหักพังของเรือต่าง ๆ ถึงแม้ในช่วงปีแรกๆของการเสร็จสิ้นสงครามจำนวนปลาเหมือนจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่สภาพพื้นทะเลที่ย่ำแย่ทำให้อัตราการการจับสัตว์น้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ในปี 1936 จำนวนเรืออวนลากที่ใช้ใบในเมือง Brixham เหลือเพียง 29 ลำ และได้สิ้นสุดโดยสิ้นเชิงในปี 1939 หรือ ช่วงประกาศสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง

บริเวณท่าเรือกลางเมือง Brixham มีเรือลำเล็ก ๆ จอดเรียงรายเต็มไปหมด ในวันอากาศดี ๆ เช่นนี้ ท้องฟ้าตัดกับสีบ้านเรือน สีน้ำเข้มสงบไร้คลื่น …
บรรยากาศแบบนี้เป็นใครก็ติดใจได้ไม่ยาก

ผมมาถึงที่เมืองนี้ช่วงบ่าย ๆ เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ตรงมา London แล้วต่อรถมาที่เมืองนี้โดยไม่ได้แวะพักที่ไหนเลย สภาพเมื่อมาถึงที่พักนั้นคือเหนื่อย เพลีย และหิวข้าวแบบสุด ๆ ระหว่างทางก็สลึมสลือไม่ได้ดูทางหรือวิวภายนอกรถโดยสารมากนัก พอมาถึงที่พักผมก็แบกกระเป๋าขึ้นไปยังชั้นสองครึ่ง (เนื่องจากโรงแรมเกิดจากการดัดแปลงบ้านมาต่อกัน มีบันไดที่ซับซ้อนพอควร จึงบอกไม่ได้แน่นอนว่าห้องผมอยู่ชั้นอะไรกันแน่) เปิดประตูเข้าพบกับภาพวาดที่ไม่ใช่ภาพวาด แต่มันคือวิวของเมือง Brixham ที่อวดผู้มาเยือนจากอีกมุมโลกอย่างภาคภูมิใจ ภาพของเรือหลายลำจอดเรียงรายในอ่าวใจกลางขอเมือง ท้องฟ้าตัดกับบ้านเรือนหลายสีสันเบียดกันดูอบอุ่น น้ำสีเข้มออกเขียวฟ้า นิ่งสงบ ปลอบประโลมคนมาเยือนได้ดียิ่ง

วิวจากห้องนอน งดงามเหมือนภาพวาด กับกรอบไม้สีขาว ต้อนรับผู้มาเยือนที่แม้ไม่ได้นอนมาหลายขั่วโมง ให้ตื่นเต้นกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้

ผมกลับมีแรงอีกครั้ง ร่างกายและสมองทำงานพร้อมกันว่าออกไปข้างนอกดีกว่า เวลามีน้อย อากาศดีเช่นนี้ในอังกฤษหายากนัก ผมจึงรีบวางของและออกไปเดินเล่นภายในเมืองทันที และแน่นอนต้องเติมพลังด้วย Fish & Chips เมนูสิ้นคิดของที่นี่ แต่มันช่างเหมาะสมกับเมืองนี้ และเวลานี้มาก ๆ เพราะเมือง Brixham เป็นเมืองของชาวประมง เป็นเมืองที่มีบรรยากาศของความภาคภูมิใจในความเป็นเมืองประมงเป็นอย่างมาก ที่เราจะเห็นได้จากการตั้งชื่อร้านรวง การแต่งบ้านเมือง ทุกอย่างจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินเรือและประมงเสมอ

ร้านไอศครีม
4 สาวนั่งกินไอศครีมรับไอแดด
ชื่อ Pub หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับเรือ
ร้าน Fish & Chips ที่ตกแต่งน่าสนใจ

บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ประจำเมือง

การตกแต่งบ้านด้วยสัญลักษณ์ของการเดินเรือ
Pride in Brixham

บรรยากาศในเมือง ร้าน Fish & Chips ทางเดินริมหาดทอดยาว ความภาคภูมิใจในความเป็นชาวประมงอบอวนไปทั่วเมือง Brixham

มื้อแรกกับอาหารสิ้นคิดประจำชาติ ประหนึ่งผัดกระเพราไก่ไขดาว

วันแรกผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมเดินสำรวจเมืองเล็ก ๆ นี้ ด้วยความสุข อาจจะเป็นเพราะลึก ๆ แล้วผมคิดถึงอังกฤษเป็นอย่างมาก ช่วงหนึ่งของชีวิตก็เคยมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้แม้จะเป็นอีกเมืองหนึ่ง แต่บรรยากาศของเมืองในอังกฤษ ผู้คน ร้านขาย sausage rolls ร้านสะดวกซื้อกับของที่คุ้นเคย ได้กิน Dr Pepper ความทรงจำเก่า ๆ ก็ทำให้เรามีความสุขได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

วันต่อมาหลังจากทำภาระกิจเสร็จ (ทริปนี้ผมมาทำงานนะ) ช่วงบ่ายเย็นๆ พอมีเวลาก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน ผมรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า ออกมาวิ่งชมเมืองบริเวณที่เขาเรียกว่า Berry Head ซึ่งถือเป็น National Nature Reserve (แปลเป็นไทยก็น่าจะประมาณเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติ) เป็นธรรมชาติลักษณะเป็นหน้าผาหินยื่นไปในทะเล ยังมีจุดเด่นเป็นประภาคาร และป้อมปราการเปรียบเหมือนจุดทางเข้าเมือง Brixham จากทางทะเลบริเวณช่องแคบอังกฤษ (English Channel) จะว่าไปแล้วก็เป็นทิวทัศน์ที่เห็นได้ทั่วไปในเมืองติดทะเลของประเทศอังกฤษ ถึงแม้จะไม่ได้เด่นอะไรเป็นพิเศษ แต่การวิ่งผ่านลัดเลาะเมืองชนบทที่เงียบสงบในวันที่อากาศไม่เกิน 20 องศานั้น มันคือประสบกาณ์ที่ยากจะลืมเลือน

Berry Head

สิ่งที่น่าสนใจในเมืองนี้นอกจากวิวทิวทัศน์แล้วคือ ตลาดปลา Brixham Fish Market เพราะเป็นที่ที่เราได้รับโอกาสให้เข้าไปดูกระบวนการประมูลปลาที่พึ่งจับได้มา เราได้เห็นพันธุ์ปลา สัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนบ้านเรา ส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่กว่ามาก ยกตัวอย่างเช่น ปลาที่มีรูปร่างแบน (Flat Fish) อย่างปลา Plaice ซึ่งมีหน้าตาคล้ายปลาลิ้นหมา หรือปลาตาเดียวในบ้านเรา แต่ตัวใหญ่กว่า ปูที่นี่ก็ใหญ่มากผมลองจับขึ้นมามีขนาดประมาณหน้าอกผมได้เลย

นอกจากพันธุ์ปลาที่น่าสนใจแล้ว เราจะเห็นได้ว่าปลาที่เป็นเศษเหลือ (Trash Fish หรือ By-Catch) ที่จับติดมาด้วยนั้นมีปริมาณน้อยมาก คือแทบจะเป็นปลาที่คนกินได้ทั้งหมด มีมูลค่าสูง สามารถส่งให้ร้านอาหารหรือการแปรรูปต่าง ๆ ได้เลย ทั้งนี้น่าจะเป็นด้วยหลายสาเหตุ เช่น การกำหนดโควต้าการจับแบบเฉพาะเจาะจงชนิดพันธุ์และบริเวณที่จับ การบริหารจัดการที่ใช้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน และสุดท้ายการพัฒนานวัตกรรมของเครื่องมือประมงเอง

ตลาดปลา Brixham กับการประมูลสัตว์น้ำช่วงเช้า

 

ปลา Plaice เนื้อนุ่ม

หอยแมลงภู่

รววมปลาหลากชนิด

แน่นอนชมตลาดปลาเสร็จแล้วเราก็ไม่พลาดที่ขอชิมปลาห้รู้รสก่อนกลับบ้าน

การจะเข้าใจถึงพัฒนาการของการประมงอังกฤษนี้เราอาจต้องย้อนไปเมื่อหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เชี่ยวชาญที่ผมเจอในทริปนี้เล่า ช่วงนั้นประเทศอังกฤษทำการประมงอย่างขยันขันแข็ง เนื่องจากรัฐบาลต้องการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วจึงมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมาก มีการสนับสนุนการต่อเรือโดยภาครัฐ ทำให้การควบคุมจำนวนเรือไม่สามารถทำได้ แม้จะมีการกำหนดจำนวนเรือที่อังกฤษควรจะมีในช่วงปี 1970 แล้วก็ตาม เรือประมงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์สัตว์น้ำแย่ลงต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น กรณีปลา Herring ที่บริเวณน่านน้ำตอนบนของอังกฤษ (North Sea) ที่ลดลงจนถึงขั้น Collapse หรือพูดง่าย ๆ ว่าสูญสิ้นหายไปและไม่กลับมาอีกเลย ประกอบกับการริเริ่มกำหนดโควตาการจับ (Quotas) จากการตกลงระหว่างประเทศยุโรป ทำให้รัฐบาลหันมาจริงจังกับเรื่องทรัพยากรทางทะเล และการควบคุมการประมงอย่างจริงจังมากขึ้น จำนวนเรือประมงของอังกฤษก็ได้ค่อย ๆ ถอยกลับไปยังตัวเลขที่มันควรจะเป็นที่คำนวณไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1970s

 

ทริปสั้น 3 วัน 2 คืนบอกอะไรหรือตั้งคำถามอะไรให้กับผมบ้าง

ข้อแรก Pride of Fishing Town ในประเทศไทยเราไม่มี เราจะมีซักเมืองไหมที่ภาคภูมิใจกับการทำประมงได้ขนาดนี้ เพราะผมว่ามันเป็นเสน่ห์ สร้างคุณค่าให้กับเมืองเอง จากประสบกาณ์ทำงานร่วมกับชาวประมงมา ผมไม่เคยเห็นจังหวัดไหนที่มีการ Promote ตัวเองว่าเป็นเมืองประมง เมืองของนักเรือ เมืองของผู้เชี่ยวชาญด้านการทำประมง ผู้คิดค้นนวัตกรรมการจับปลาแบบใหม่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ประเทศเราก็มีการจับปลา บริโภคปลามายาวนาว ผมมั่นใจว่าเรามีองค์ความรู้ของเราเช่นกัน และมีเสน่ห์ที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่

ข้อที่สอง บทเรียนปลา Herring ไม่ควรซ้ำรอยกับปลาทูหรือปลาใด ๆ ในประเทศไทย เราสามารถถอดบทเรียนอะไรได้บ้างจากประเทศอังกฤษ จริงอยู่บริบททางชีวภาพ วัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจนั้นแตกต่างกัน แต่เราก็ไม่ควรละเลยไม่เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น คนฉลาดย่อมสามารถหาวิธีที่มาปรับใช้ไม่มากก็น้อยได้ เราสามารถเห็นเรียนรู้ได้จากตลาดปลา Brixham เรียนรู้จากกลไกตลาดที่นั่น อะไรคือ incentives หรือแรงจูงใจที่ทำให้เขาไม่จับปลาตัวเล็ก ทำไมเขายินดีที่จะลงทุนเสียเงินเสียแรงกับการคิดค้นทำอวนรูปแบบใหม่ ๆ แล้วภาครัฐเกี่ยวข้องมากน้อยขนาดไหนกับกระบวนการทั้งหมดนี้ เพราะผมไม่เชื่อว่าคนอังกฤษจะประเสริฐกว่าคนไทย ไม่เชื่อว่าจู่ ๆ เขาจะมารักโลกรักปลามากกว่าคนไทย แต่ผมเชื่อในกลไกของตลาดกัลการบริหารบนหลักเศรษฐศาสตร์ของการใช้ทรัพยากรร่วมที่จะทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรได้อย่างสมดุลย์


ABOUT THE AUTHOR
ดร.ณวัฒน์ คำนูณวัฒน์
สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์

ข่าวยอดนิยม

เครือเจริญโภคภัณฑ์บริษัทข้ามชาติแห่งแรกในจีนจดทะเบียนการค้าหมายเลข 000...

17 พฤษภาคม 2560
26576

การบริหารงานบุคคลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในยุค 4.0...

08 พฤศจิกายน 2560
21872

โครงการเลี้ยงไก่ไข่อาหารกลางวันนักเรียน การ “ให้” อย่างมีคุณค่า ทั้งด้...

03 กรกฎาคม 2558
20471

Cage Free Eggs ไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภ...

18 กรกฎาคม 2562
12442

แชร์ข่าวสาร

เปิดวิชั่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ประธานอาวุโส เครือซีพี “ธนินท์ เจี... เจาะลึก True Robotics โครงการพัฒนาหุ่นยนต์ Service Robot ของ...

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

“มาริษา เจียรวนนท์” บนเส้นทางรังสรรค์ อาหารเพื่อสังคม ผ่านมูลนิธิ CHEF...

23 พฤศจิกายน 2564
3787

สูตรรอด 'CPF' อยู่ร่วมโควิด กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ...

30 สิงหาคม 2564
3530

ทำความรู้จัก “สบขุ่นโมเดล”: CP ร่วมพัฒนา พลิกเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป...

13 กรกฎาคม 2564
4298

CP ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อน Social Enterprise ผู้นำหญิงนักพัฒนา ก้าวสู่ชุมช...

07 กรกฎาคม 2564
4174

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th