เปิดวิชั่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ประธานอาวุโส เครือซีพี “ธนินท์ เจียรวนนท์”
เบื้องหลังแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจสไตล์ New Normal แนะนำข้อเสนอกระดานใหญ่พาประเทศฝ่าวิกฤตโควิด-19
"ผมไม่ได้แนะนำทุกอย่าง แต่แนะนำสิ่งที่ผมชำนาญและมองเห็น"
ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ "ธนินท์ เจียรวนนท์" หนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยที่นายกรัฐมนตรี ออกแถลงเชิญอย่างเป็นทางการเพื่อขอให้เข้าร่วมเสนอแนะแนวทางแก้วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากผลกระทบวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตใหญ่ที่ส่งผลสะเทือนทั้งโลกรวมถึงประเทศไทย
การได้รับฟังข้อเสนอแนะและแนวคิดในรับมือวิกฤตเศรษฐกิจจากประธานอาวุโส "ธนินท์ เจียรวนนท์" นักธุรกิจผู้คร่ำหวอดและประสบความสำเร็จอย่างสูงของไทยจนเป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลก อาจเป็นหนึ่งใน "ตำราพิชัยสงคราม" ที่นำมาใช้ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ได้ ด้วยแนวคิดหลายอย่างได้ถูกนำมาแปรผลลัพธ์ผ่านธุรกิจซีพีที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
ประธานอาวุโส เครือซีพี ได้ทำจดหมายตอบกลับไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยรายละเอียดภายในจดหมายได้ระบุถึงข้อเสนอแนวทางฝ่าวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นรูปธรรมหลายกรณี ทั้งส่วนที่ซีพีได้ดำเนินการไปแล้ว และข้อเสนอการดำเนินโครงการเพิ่มเติมต่อรัฐบาลในมุมมองของซีพี ได้แก่ มาตรการด้านดิจิทัลในยุคนิวนอร์มอล มาตรการดึงดูดคนเก่งและผู้เชี่ยวชาญมาอยู่ในเมืองไทย มาตรการช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยว สู่ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น และมาตรการปฏิรูประบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกร 100%
ข้อเสนอสุดท้าทาย หวังลดความเสียหายเศรษฐกิจประเทศ
หลายข้อเสนอของ ประธานอาวุโส "ธนินท์" ที่ออกมาสู่สาธารณะนั้นทั้งท้าทายและมองภาพใหญ่จนหลายคนอาจตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือ...หรือใครจะทำแบบนั้นได้ในช่วงวิกฤตขณะนี้...
เพื่อไขความกระจ่างและหาคำตอบของแนวคิดทั้งหลาย...เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ จึงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนหลายแขนงในประเทศได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามถึงข้อเสนอแนะของซีพีต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้เวลาพูดคุยกันอย่างลงลึกถึงแนวคิดและการอธิบายถึงที่มาของไอเดียแก้ปัญหาเศรษฐกิจยาวนานร่วม 3 ชั่วโมง
เป็น 3 ชั่วโมงที่ฉายภาพในความคิดของประธานอาวุโส "ธนินท์" ที่มีต่อการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศภายหลังวิกฤตโควิด-19
คลี่คลายด้วยคำยืนยันของประธานอาวุโสเครือซีพีที่ว่าสิ่งที่ผมเสนอเป็นการดำเนินการในห้วงวิกฤต
"ตอนวิกฤตก็ต้องทำแบบวิกฤต...ตอนปกติก็ต้องทำแบบปกติ"
... "และต้องเร่งทำตอนที่สถานการณ์มันมืดที่สุด เพราะถ้ารอตอนสว่างจะช้าไป"
ความกังวลว่าจะช้าไปสะท้อนจากที่ประธานอาวุโสเครือซีพี อธิบายถึงมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อวันจากมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่อยู่ที่วันละ 18,670 ล้านบาท หรือ 500,000 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นเมื่อใช้มาตรการล็อกดาวน์ 2 เดือนความเสียหายอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท แม้จะเข้าใจได้ว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาด และกลับมาเปิดเมืองใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องดำเนินการเพื่อลดความเสียหายของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หยุดคนตกงาน หยุดการล้มละลายของเศรษฐกิจ
เลือกจังหวะที่ใช่...กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ดังน้ันข้อเสนอแรกของประธานอาวุโสซีพีคือ "การกระตุ้นเศรษฐกิจ" ดึงรายได้จากการท่องเที่ยว...แม้จะดูสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ แต่มุมมองของประธานอาวุโสธนินท์ที่อธิบายให้สื่อมวลชนฟังชัด ๆ คือ "จังหวะที่ใช่"
กล่าวคือ วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทยเข้มแข็งมาก ไทยมีแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่เก่งมาก ทำให้มีการติดเชื้อน้อยและเสียชีวิตน้อยที่สุด ดังน้ันจึงต้องเริ่มเชิงรุกด้านการท่องเที่ยวด้วยการเจาะกลุ่มมหาเศรษฐีในประเทศต่าง ๆ เช่น จีน อเมริกา และยุโรป จัดในรูปแบบ "การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ" หรือ Health Tourism ในเมืองไทย เชื่อมการท่องเที่ยว เข้ากับความปลอดภัยในสุขภาพ
อีกทั้ง ประธานอาวุโส "ธนินท์" เชื่อมั่นว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้น สิ่งที่เป็น New Normal ใหม่ของไลฟ์สไตล์ผู้คน คือการทำงานนอกสถานที่ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศอีกต่อไป โดยผู้คนจำนวนหนึ่งจะเปลี่ยนวิถีใหม่ด้วยการทำงานพร้อมกับเดินทางท่องเที่ยวไปด้วยในตัวตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งประเทศไทย คือหนึ่งในจุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก
ผลจากการทำงานแบบ Work From Home จะทำให้การทำงานผ่านรูปแบบออนไลน์กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะสามารถวัดคุณภาพและผลงานได้เช่นกัน
"โลกจะเปลี่ยนแปลง หลังวิกฤตโควิด-19 แล้ว การท่องเที่ยวจะขยายตัวมหาศาล เพราะผู้คนไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ในออฟฟิศหรือในบ้าน แต่เป็นลักษณะเที่ยวไปทำงานไป สามารถพักผ่อนกับครอบครัว เที่ยวไปทำงานไปได้ทั่วโลก"ประธานอาวุโสซีพีอธิบาย
"การท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ และควรเริ่มโปรโมตตั้งแต่ตอนนี้ โดยเมื่อเรามีระบบสาธารณสุขที่ดี มีบุคลากรการแพทย์ที่ดีเยี่ยมในการรับมือโควิด-19 เพราะจริง ๆ ถ้าดูจากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาบ้านเรา ประเทศไทยน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด รัฐบาลจึงควรจะนำเสนอโฆษณาจุดแข็งของไทยไปตามสื่อทั่วโลก เพราะเวลานี้เศรษฐีในจีนอยู่บ้านมานานอยากท่องเที่ยว เศรษฐีในสหรัฐฯ ยุโรป ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดสูงมากอยากออกนอกประเทศ และไทยเป็นที่ที่เขาอยากมา รัฐบาลควรคลายกฎเกณฑ์เพื่อให้ดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม การให้เข้ามาต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพ โดยให้บริษัททัวร์ติดต่อกับโรงแรม 5 ดาวในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ จัดเป็นทัวร์พาเศรษฐีที่ต้องการหนีจากโรคระบาดมาไทย อยู่ที่โรงแรมที่ปลอดภัย ต้องมีแพทย์ไปตรวจการติดเชื้อก่อนเดินทางว่าไม่ได้เป็นโควิด-19 หลังจากนั้นให้มาเที่ยวที่บ้านเราโดยกักตัว 14 วันในโรงแรม 5 ดาวบ้านเรา ซึ่งเปิดให้เขาเจอกันสังสรรค์กันได้ เพราะเราตรวจแล้วว่าไม่เป็นโรค และเมื่อครบ 14 วันให้พาไปเที่ยวในที่ที่รัฐจัดเตรียมให้ในที่ที่ปลอดภัย เชื่อว่าเศรษฐีเหล่านี้อยากมาบ้านเรา เพราะมีความสะดวกสบาย และเขาพร้อมจะอยู่ยาว ใช้เงินจำนวนมาก เพราะประเทศเราปลอดภัยมากกว่า มีการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า"
ประธานอาวุโส เครือซีพี ฉายภาพแนวคิดกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม
"...หลายเรื่องควรใช้วิกฤตเป็นโอกาส และเริ่มดำเนินการเลย โดยไม่ต้องรอว่าโควิดต้องหมดลง เพียงเราดูแลควบคุมต่อไป... และต้องคิดว่าวิกฤตเกิดได้ตลอดเวลา เหมือนการขับรถไม่รู้ว่าจะชนกันวันไหนหรือถูกชน แต่เราก็ต้องออกไปทำงาน ดังนั้นใช้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาปรับการทำงานจากนี้"
ดึงคนเก่ง-รักษาการจ้างงาน รอวันฟ้าสว่าง
อีกเรื่องที่ประธานอาวุโสธนินท์ เสนอแนวคิดคือการดึงการลงทุนต่างชาติเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเพิ่มขึ้น สำหรับชาวต่างชาติที่มาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาสูงในไทย ซึ่งเรื่องอสังหาริมทรัพย์จะเชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งผู้คนอยากเดินทางท่องเที่ยวและหาประเทศที่ปลอดภัยและดูแลชีวิตพวกเขาได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเทศไทยโดดเด่นมากในอาเซียน แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเยือนไทยสูงถึง 40 ล้านคน จึงควรใช้โอกาสนี้เชื่อมโยงการท่องเที่ยว และแพทย์ไทย ไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
และอีกหนึ่งในแนวคิดที่มีคำอธิบายที่เห็นภาพชัดเจน และกล้าเสนออย่างท้าทาย ซึ่ง ประธานอาวุโสธนินท์ ได้ย้ำตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ใหม่ ๆ คือ การต้องรักษาแรงงานและภาคธุรกิจไว้ไม่ให้ล้มละลาย
ทั้งยังเสนอแนะให้รัฐบาลกู้เงิน 3 ล้านล้านบาท เพื่อการฟื้นฟูประเทศ แต่ควรจะกู้ต่างประเทศ เป็นการกู้ระยะยาว 30 ปี เพื่อใช้ในการ 1.ฟื้นฟูและพัฒนาในเรื่องของภาคเกษตรให้มีรายได้สูงขึ้น 2.ใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 3.ใช้ในการวางระบบสาธารณสุข สร้างบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล โรงพยาบาล รองรับการเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพของโลก 4.ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือให้การช่วยเหลือบริษัทเอกชนที่มีคุณภาพ เพื่อผลักดันธุรกิจและดูแลการจ้างงานอย่างน้อยช่วย 70% ช่วยให้พนักงานไม่ตกงาน เป็นเวลา 3 เดือนเพื่อให้เอกชนรักษาการจ้างงานไว้ได้
โดยควรจะออกพันธบัตรกู้เงินดอกเบี้ยถูกๆ จากทั่วโลก เพื่อมาปล่อยให้เอกชนดอกเบี้ยต่ำได้ด้วย ไม่ใช่ออกพันธบัตรมากู้จากคนไทย ซึ่งเป็นบ่อเดียวกัน ทำให้ไม่มีอะไรเพิ่มเติมได้
นอกจากนี้มีความเห็นว่า ประเทศไทยยังมีจุดแข็งที่จะดึงนักธุรกิจ นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์เศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ต้องดึงคนเก่งเข้ามาลงทุนมาทำงานประมาณ 5 ล้านคน เพื่อให้เขามาช่วยสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ดึงเงินตราเข้าประเทศ
“คนกลุ่มนี้มาก็จะมีการพัฒนาด้านอื่นตามมา อสังหาริมทรัพย์ก็จะโตขึ้น โรงเรียนนานาชาติจะเติบโต โรงพยาบาลก็จะเป็นที่ต้องการ การจับจ่ายใช้สอยก็ดี เพราะพวกนี้จะมาเป็นครอบครัว เพียงแต่ว่าเราต้องกล้าที่จะแก้กฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งวันนี้ไทยพร้อมมาก ระบบขนส่งเราก็พร้อม
โดยเฉพาะเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ถ้าให้เขาซื้อที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ได้ และหากประเทศไทยชักชวนคนร่ำรวยจำนวนล้านคน คนกลุ่มนี้จะนำเงินเข้ามาสามแสนล้านบาทไทย เมื่อถึงระยะเวลา 10 ปี เราก็จะได้ สามล้านล้านบาทไทย ซึ่งประเทศไทยจะดีขึ้นทันที
“อย่าไปต่อต้าน เขาซื้ออสังหาฯบ้านเราก็ต้องทำตามระเบียบ กฎหมายของบ้านเรา เราก็จะคุมเขาอยู่แล้ว ไม่ต้องไปกลัว เขาหอบที่ดินหนีหายไปไม่ได้หรอก คนพวกนี้จะถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมบ้านเราที่ดีที่สุด ผมเห็นต่างชาติมาอยู่เมืองไทย จะรักเมืองไทยและกลายเป็นคนไทย ไม่มีใครอยากกลับไปบ้านตัวเอง”
“...ดังนั้นอย่าไปกลัวคนเก่ง หรือคิดว่าจะมาแย่งงานคนไทย เพราะเมื่อมีคนเก่งเข้ามาจะช่วยสร้างงาน สร้างการใช้จ่ายและจ่ายภาษีให้ประเทศเพิ่มขึ้น"
"การดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกอย่างน้อยสัก 5 ล้านคน มาช่วยสร้างธุรกิจใหม่ ๆ จะช่วยพัฒนาไทยให้เก่งไปด้วย ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางในเรื่องการพัฒนาธุรกิจ สร้างสตาร์ตอัพ และพัฒนาบุคลากร ให้เราเป็นฮับคนเก่งของโลกยิ่งดี การให้สิทธิประโยชน์ต่างชาตินั้นไม่ต้องกังวลว่าเขาจะมาถือครองอะไร เพราะทุกอย่างอยู่ในบ้านเรา แต่ดูให้รอบด้านว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร" ประธานอาวุโสซีพีกล่าว
เปิดวิชั่น "ประธานอาวุโสธนินท์ 2020" แก้ปัญหาเกษตรแบบครบวงจรและยั่งยืน
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกระบุในจดหมายถึงมือนายกรัฐมนตรี คือ การวางระบบบริหารจัดการภาคเกษตรของประเทศ ซึ่ง ประธานอาวุโส "ธนินท์ เจียรวนนท์" ได้ฉายรายละเอียดให้เห็นในมิติที่ต้องการเสนอแนวคิด การเกษตรแบบครบวงจร เพื่อให้มาตอบโจทย์แก้ปัญหาภาคการเกษตรที่เป็นช่องโหว่ใหญ่ของประเทศได้อย่างยั่งยืน
เพราะช่องโหว่ที่เป็นปัญหาซ้ำซากของเกษตรกรไทย คือ การประกอบอาชีพภายใต้ความเสี่ยงสูง 3 ประการคือ 1.เงินทุน 2.ภัยธรรมชาติ และ 3.ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน
แนวความคิดของประธานอาวุโส "ธนินท์" จึงตกผลึกมาสู่ "โครงการเกษตรผสมผสานยุค 4.0" ที่เรียกว่า “3 ประโยชน์ 4 ประสาน”
โดยซีพีอยู่ระหว่างเลือกจังหวัดที่เหมาะสมมาทำโมเดลต้นแบบ 2-3 จังหวัด เพื่อแสดงให้เห็น "แผนนำร่อง" โดยเป็นรูปแบบความร่วมมือ 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย ก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ ต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน และสุดท้ายจึงเป้นประโยชน์ต่อบริษัทที่มีตลอดจนพนักงานกว่า 3 แสนคนทั่วโลก
"ที่ผมนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพราะถือเป็นการฟื้นฟูเกษตรกรจากพิษเศรษฐกิจโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยียุคเกษตร 4.0 เข้ามาช่วยจะทำให้สำเร็จได้จริงและรวดเร็วขึ้น" ประธานอาวุโสธนินท์กล่าว
สำหรับที่มาของแนวคิดดังกล่าว ประธานอาวุโสธนินท์เล่าว่า เป็นการต่อยอดมาจากการจัดการด้านการเกษตร ที่ซีพีเคยดำเนินการมาแล้วตลอดหลายสิบปีก่อนผ่าน โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่เปลี่ยนที่ดินจากพื้นดินรกร้างว่างเปล่ากว่า 1 พันไร่ ส่งเสริมอาชีพให้เลี้ยงสุกร จนถึงปัจจุบันกลายเป็นตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จ มีความเข้มแข็งสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเอง มีผู้เดินทางมาศึกษาดูงานจากทั่วโลก
จากนั้นก็ไปทำสำเร็จในจีน ได้แก่ โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวที่ผิงกู่ นครปักกิ่ง โดยดำเนินการในปี 2555 ดำเนินโครงการด้านการพัฒนาเกษตรกรรมให้กับชุมชนยั่งยืน โดยทำโครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือซีพี ที่หมู่บ้านซีฟานเกอจวง (Xifan Gezhuang) ตำบลยู่โค (Yukou) เขตผิงกู่ (Pinggu) ประเทศจีน เป็นโครงการไก่ไข่ครบวงจรที่ทันสมัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ภายใต้ชื่อ “โครงการไก่ไข่ 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือเจริญโภคภัณฑ์” ถือเป็นโครงการที่มีขนาดการเลี้ยงใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของเอเชียและเป็นอันดับสองของโลก สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ถึง 3 ล้านตัว มีกำลังการผลิตไข่ไก่มากถึง 54,000 ตันต่อปี ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนรวม 720 ล้านหยวนหรือประมาณ 3,600 ล้านบาท และมีเกษตรกรจีนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ถึง 1,608 ครอบครัว หรือประมาณ 5,000 คน รายได้ของเกษตรกรมาจากการให้เช่าที่ดิน หากคิดเป็นรายคนได้ค่าเช่าคนละ 400 หยวนต่อปี โบนัสจากสหกรณ์ 1,500 หยวนต่อปี และรายได้จากค่าจ้าง โดยค่าแรงขั้นต่ำในปักกิ่งอยู่ที่ 1,500 หยวน แต่โครงการนี้จ้าง 3,000 หยวน ถ้าครอบครัวไหนมีหลายคน รายได้รวมก็มากขึ้นไปอีก ทำให้โดยเฉลี่ยเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 22,000 บาทต่อราย
รวมถึง โครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉือซี พัฒนาพื้นที่ 8,000 ไร่ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเกษตรผสมผสานแบบทันสมัยครบวงจรที่อยู่ใกล้เมือง ใกล้นครเซี่ยงไฮ้ โดยให้ทุกอย่างอยู่ในจุดเดียวกัน ครบทั้งด้านพืชผักและปศุสัตว์ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำการเกษตร อาทิ นำระบบจีพีเอส และคอมพิวเตอร์มาใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องไถนา โดยไม่ต้องใช้คนขับ ช่วยลดต้นทุนและควบคุมประสิทธิภาพผลผลิต สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ว่าพืชแต่ละชนิดเริ่มปลูกเมื่อไหร่ และนำสถิติไปสแกนคิวอาร์โค้ด ดูข้อมูลย้อนหลังของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นผ่านสมาร์ทโฟนได้
สำหรับโครงการนี้วางแผนให้เป็นแหล่งผลิตอาหารป้อน 100 ล้านคนรอบนครเซี่ยงไฮ้ ในเบื้องต้นมีมูลค่าโครงการ 4,000-5,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท
"ในไทยปีนี้น่าจะได้นำร่องเริ่มทำ จะหาพื้นที่เลี้ยงหมูล้านตัน ไก่ 3 แสนตัน/หมู่บ้าน โดยใช้วิธีการแบ่งปัน เกษตรกรลงทุนพื้นที่ โดยบริษัทลงทุน ทำตลาด ทำการขาย รายได้ก็แบ่งคืนให้เจ้าของที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดินยังสามารถขยายตัวธุรกิจเกี่ยวข้องได้อีก ทั้งเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชเพื่อทำอาหารเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักหรือผลไม้ โดยเกษตรกรจะได้รายได้สูงกว่ารายได้ขั้นต่ำ 2-3 เท่าตัวแน่นอน ในอนาคตจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยในอาหารในระยะยาวให้กับประเทศไทย" ประธานอาวุโสซีพีระบุ
เสนอโมเดลโครงการปลูกน้ำ อุดช่องโหว่ปัญหาระบบชลประทานในประเทศ
อีกหนึ่งโครงการที่ซีพีเสนอให้สอดคล้องกับแผนเกษตรครบวงจรคือ "โครงการปลูกน้ำ" ที่ออกแบบมาเพื่อการบริหารจัดการชลประทานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะประเทศไทยแม้จะมีฝนตกต่อปีจำนวนมาก แต่มีปริมาณน้ำฝนที่เก็บในอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนทั้งประเทศเพียง 10% ในแหล่งน้ำธรรมชาติอีก 28% แต่กลับปล่อยให้น้ำ 62% ไหลลงสู่ทะเล ขณะที่น้ำใต้ดินอีกจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลเช่นกัน
"ขอเพียงการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังก็จะช่วยเกษตรกรได้มาก และมีทางเลือกที่จะปลูกพืชมูลค่าสูงที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากได้ จะทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกมากและหลากหลายขึ้น สามารถทำเกษตรผสมผสานได้ และยังขยายไปเรื่องปศุสัตว์และการท่องเที่ยวได้ด้วย เรื่องนี้ 62% หากมีการบริหารจัดการจะมีศักยภาพที่นำมาใช้ได้อีก 33% หรือใช้น้ำบาดาลมาทำประโยชน์ให้มากขึ้น ซึ่งกำลังให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกรเจ้าของที่ดินในพื้นที่ลุ่ม ขุดบ่อกักน้ำ เพื่อใช้งานและจำหน่ายให้กับพื้นที่ใกล้เคียงเหมือนกับขายไฟฟ้า ผมกำลังดูพื้นที่อยู่ 3-4 แห่ง เป็นต้นแบบ ซึ่งเรื่องนี้จะทำได้รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนและนำร่องเพราะมีการเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและระเบียบกฎหมาย เป็นเรื่องที่ควรนำทั้งประเทศ เป็นการต่อยอดจากแก้มลิงแต่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ และบริการจัดการเป็นโซนนิ่ง เป็นสมาร์ทฟาร์ม"
จากแนวคิด 2 สูง เข้าสู่ 3 สูง 1 ต่ำ และคำตอบ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เมื่อไร?
ประธานอาวุโส "ธนินท์ เจียรวนนท์" กล่าวว่า ในนสถานการณ์ฝ่าวิกฤตหลังโควิด-19 ต้องใช้ทฤษฎี 3 สูง 1 ต่ำ คือ ลงทุนสูง คุณภาพสูง ประสิทธิภาพสูง แต่บริหารจัดการด้วยต้นทุนที่ต่ำ เพื่อวางรากฐานขับเคลื่อนประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้น
ถือเป็นแนวคิดที่นักธุรกิจอาวุโสมากประสบการณ์ถ่ายทอดให้ฟังตลอดการพบสื่อชั้นนำของประเทศไทย ด้วยหลักคิดที่ว่า "ตอนวิกฤตก็ต้องทำแบบวิกฤต...ตอนปกติก็ต้องทำแบบปกติ"
... "และต้องเร่งทำตอนที่สถานการณ์มันมืดที่สุด เพราะถ้ารอตอนสว่างจะช้าไป"
เราจะฟื้นตัวได้จริงๆเมื่อไร? เป็นคำถามจากสื่อมวลชนในช่วงท้ายๆของการสนทนากว่า 3 ชั่วโมง
"อยู่ที่รัฐบาล ทุกอย่างวิกฤตตามด้วยโอกาส...ดังนั้นถามผมเมื่อไหร่ไม่ได้ ต้องถามว่า รัฐบาลมีมาตรการอะไร ผมไม่ได้แนะนำทุกอย่าง แต่แนะนำสิ่งที่ผมชำนาญและมองเห็น"