• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

“กิน + อยู่ = ยั่งยืน” Health & Well-being for Sustainability


โดย คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ

05 กุมภาพันธ์ 2563

“Health & Well-being ต้องมีสภาวะสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงไปพร้อมๆ กัน”

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

ผลจากการศึกษารายงานการคาดการณ์ประชากรโลกโดยองค์การสหประชาชาติ (World Population Prospects, 2017) บ่งชี้ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 พันล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งการมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรด้วย ถือเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้ประชากรในสังคมมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี เพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN เป้าหมายที่ 3 ที่มุ่งเน้นการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

 สำหรับประเทศไทย Worldometers คาดการณ์ว่า ประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเกือบ 70 ล้านคน หรือราว 69,685,486 คน ในปี ค.ศ. 2025 ก่อนที่จะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 65,372,345 คน ในปีค.ศ. 2050

เมื่อมองถึงอนาคตของคนไทยในการมี ‘สุขภาวะที่ดี’ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร’ เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองคาพยพนี้ เพราะกุญแจสำคัญของจุดเริ่มต้นการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี คือการ ‘กินดี’ นั่นเองวารสาร ‘บัวบาน’ ฉบับนี้ได้สนทนากับ ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ถึงแนวคิดการสร้างสังคมแห่ง ‘การกินดี’ ในฐานะองค์กรใหญ่ที่ถือเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคเพื่อประชาชนในสังคม

 

Health & Well-being ต้องบาลานซ์ให้ดีทั้งการกินและชีวิต

นิยาม ‘Health & Well-being’ คือการมีสภาวะทางด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงพร้อมกันทั้งหมด

“ผมมองตั้งแต่มิติการจัดสรรเวลาในการจัดการชีวิตที่ดี แบ่งเวลาเป็นสัดส่วนที่เหมาะสม (Allocate Time) คือการใช้เวลาสำหรับการพักผ่อน คุณจะจัดการกับเวลานอนกี่ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต่อมาคือการทำงานหรือชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่างานของใครเป็นรูปแบบใด และยังมีการออกกำลังกาย ต้องบาลานซ์ทั้งสามสิ่งนี้”

ขณะที่เรื่องใกล้ตัวสำคัญที่ต้องจัดสรรเพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น คือ ‘Well Balance Food’ หรือการสร้างสมดุลในการรับประทานอาหาร ผ่านแนวคิดเลือกกินเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

“คอนเซ็ปต์เรื่องการกินที่เหมาะสมมีหลายมุมมอง ตั้งแต่คอนเซ็ปต์ Dietary การคุมอาหาร ซึ่งตอนหลังมีบางแนวคิดมองว่าการคุมน้ำหนักโดยกินอะไรน้อยๆ ห้ามกินนั่นนี่อาจจะไม่ได้เป็นสุขภาพที่ดี มาจนถึงคอนเซ็ปต์ Well-being คือการกินต้องมีสัดส่วนอาหารที่เหมาะสม บริโภคอาหารตามหลัก Food Plate Model จัดสัดส่วนอาหารในจานด้วยสูตร ‘2-1-1’ คือในหนึ่งจานมีผักผลไม้ 2 ส่วน กลุ่มข้าว แป้ง ธัญพืช 1 ส่วน แล้วสุดท้ายเป็นเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ล่าสุดผลการศึกษาของ FDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา) และ USDA (กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา) ก็แนะนำสูตร 2-1-1 รวมทั้งยังแนะนำปริมาณพลังงานที่ได้รับต่อวันให้อยู่ที่ประมาณ 2,500 แคลอรีต่อวัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าเราออกกำลังกาย มีการนอนหลับพักผ่อนที่ดี รวมถึงดูแลเรื่องการกินที่เหมาะสม สุขภาพกายและใจที่แข็งแรงก็เกิดขึ้นได้”

มองสุขภาวะคนไทยผ่านสายตาผู้ผลิตอาหารชั้นนำของประเทศ

ด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้อากาศของประเทศมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้น ซึ่งนั่นเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย ที่ ‘ประสิทธิ์’ ถือเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีโอกาสเข้าถึง ‘อาหารสุขภาพ’ ได้กินอาหารที่ Healthy อยู่แล้วในระดับหนึ่ง เพราะเป็นประเทศในแถบร้อนที่มีผักมากมายกินกับน้ำพริกได้เลย หรือกินผลไม้ไทยอย่างเดียวก็ได้วิตามินครบทุกหมู่

มุมมองของซีอีโอ CPF มองถึงข้อได้เปรียบนี้ที่ทำให้สังคมไทยมี ‘วัฒนธรรมการกินเชิงสุขภาพ’ ที่สอดรับกับอากาศเมืองไทยได้ลงตัว ทำให้คนไทยมีโอกาสได้กินอาหารที่เป็นธรรมชาติ พิจารณาโดยภาพรวมนี้ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีโครงสร้าง Well-being ที่ดีอยู่แล้ว

“ล่าสุดน่าเซอร์ไพรส์มาก ผมเข้าฟังสัมมนาหนึ่งเขาบอกว่า อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีโครงสร้างของความเป็นอยู่ด้านการกินอาหารที่ดีที่สุดเลย ขณะที่ประเทศเจริญแล้วส่วนใหญ่จะบริโภคเนื้อสัตว์หรือโปรตีนในปริมาณที่เยอะเกินไป หรือบางประเทศ เช่น อินเดีย ก็จะบริโภคเนื้อสัตว์น้อยเกินไป ส่วนทางเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย เรามีสุขภาวะที่ดีด้านการกิน เพราะโดยพื้นฐานแล้วอาหารเอเชียมีผักผลไม้เยอะมาก”

ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากโครงสร้างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสังคมแห่งการกินดีได้ระดับหนึ่งแล้วนั้น อีกจุดสำคัญคือประเทศไทยยังมี ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ ที่แข็งแกร่งมากจนสามารถที่จะผลักดันวาระเรื่อง ‘การกินอย่างยั่งยืน’ ขึ้นมาเป็นประเทศแถวหน้าของภูมิภาคนี้ได้

 “บางคนอาจไม่สังเกตว่าเราโชคดีที่มีอุตสาหกรรมอาหารที่ใหญ่และแข็งแกร่งมาก จุดแข็งของเราคือ Food Location และในไทยเรามีบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหารที่พัฒนาไปไกลและเติบโตมาก ทั้งกลุ่มไก่ กลุ่มหมู ผัก อ้อย น้ำตาล ข้าวโพด ฯลฯ ด้วยผู้เล่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่ทำให้ต้นทุนอาหารของเราถูกลง เวลาไปเที่ยวต่างประเทศใกล้ๆ กัน อย่างอินโดฯ ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ถ้าลองเปรียบเทียบกันดูจะพบว่าอาหารเมืองไทยถูกที่สุดและดีที่สุด ผมว่าส่วนนี้เป็นเรื่องที่คนไทยลืมไปเลย ถึงได้บอกว่าจะไปไหนมาไหนก็ต้องกลับมากินอยู่เมืองไทยดีที่สุด เพราะฉะนั้นเรื่องการกินอย่างยั่งยืนนี่เมืองไทยได้เปรียบมาก คนไทยเราสามารถมีสุขภาวะที่ดีด้วยอาหารที่เรามี”

ทิศทาง CPF สู่ ‘การมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี’ อย่างยั่งยืน

ด้วยความที่ CPF นับเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับบริโภคเพื่อประชากรในสังคม จึงไม่อาจปฏิเสธบทบาทอันสำคัญยิ่งในการมีส่วนร่วมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อสังคมที่ยั่งยืน โดยมี ‘ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารซีพีเอฟ’ (CPF Food Research and Development Center) ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งประธานคณะผู้บริหาร CPF ได้ถ่ายทอดทิศทาง การนำพาธุรกิจสู่เป้าหมาย ‘สร้างสุขภาพและสุขภาวะ

ที่ดี’ ผ่านการใช้แนวคิดมุมมอง Well-being ด้านอาหาร ในการพิจารณาออกผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีจนได้รับความนิยมและถูกพูดถึงจากผู้บริโภคในเชิงคุณค่าและคุณภาพ อาทิ การคำนึงถึงผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย มีตัวเลขรายละเอียดบอกแคลอรี น้ำตาล ไขมัน ที่จะได้รับ วัตถุดิบต้องคำนึงถึงตั้งแต่การเลือกใช้เนื้อสัตว์ที่เป็น Balance Meal หรือมีไขมันมันต่ำ ให้พลังงานไม่สูงมาก รวมถึงอาหารพร้อมรับประทานที่ลดความเค็ม ความหวานก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้

“เราคำนึงถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ออกสินค้าใหม่ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ มี Food Healthy มี Animal Welfair Practice ที่ดี มี Environmental System ที่ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่เราทำได้ เราไม่ใช้วัตถุดิบหรือแหล่งทรัพยากรอย่างไม่ระมัดระวัง และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้มีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น”

อีกหนึ่งแนวคิดสำคัญที่ซีอีโอ CPF ให้ความสำคัญถึงทิศทางที่จะก้าวต่อไปด้านการสร้างสุขภาวะที่ดีผ่านอาหารและการกินดี คือการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารที่สอดรับกับธรรมชาติ หรือใช้วัตถุดิบต่างๆ ที่เป็นBio Base แทน Chemical Base ที่สอดรับกับแนวคิด Well-being ของโลก โดยยกกรณี ‘ไก่เบญจา’ เป็นตัวอย่างของอาหารที่ผลิตโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับธรรมชาติ ตั้งแต่การปรับปรุงฟาร์มเลี้ยงไก่ ที่เป็นการเลี้ยงโดยธรรมชาติ 100% เป็นรายแรกของโลก ต่อมาคือการเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารเลี้ยงไก่จากข้าวโพดมาเป็นการให้ไก่กินข้าวกล้องแทน ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้ส่งผลให้ไก่แข็งแรงมากกว่าปกติ และคุณภาพของเนื้อไก่มีโครงสร้างโปรตีนข้างในที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่แข็งแรงขึ้น เนื้อไก่ที่ผลิตมาเป็นอาหารป้อนสู่ผู้บริโภคจึงเพิ่มคุณค่าและคุณภาพมากขึ้น

 “อุตสาหกรรมอาหารจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างสรรค์การกินดีได้ ผ่านการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีได้ ทั้งอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูและบำรุงร่างกาย ซึ่งเรายังพิจารณาถึงการพัฒนาเพิ่มเติมสารอาหารในกลุ่มอาหารบางจำพวกที่จะมีส่วนผสมบางอย่างที่ทำให้ได้สารอาหารครบถ้วนพอสมควร รวมทั้งอนาคตคือผลิตภัณฑ์ Plant Base (อาหารที่ใช้วัตถุดิบจากพืช) เพื่อสอดรับกับกลุ่มที่ไม่ต้องการกินเนื้อสัตว์มากเกินไป กระทั่งต้องคำนึงถึงการวาง Portion ที่เหมาะกับแต่ละมื้อ ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดสัดส่วนอาหารที่ตรงตามโภชนาการในสัดส่วน 2-1-1 ในแต่ละเมนู”

เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ซีอีโอ CPF มองถึงอุตสาหกรรมอาหารที่มีส่วนสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มุ่งส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้ผู้บริโภค ด้วยแนวคิด You are what you eat ซึ่งเป็นผลงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารที่ทำงานสอดคล้องกับเทรนด์ของผู้บริโภคในระดับโลก ผนวกกับที่ ‘ประสิทธิ์’ มีความสนใจถึงส่วนประกอบทางเคมีของเนื้อสัตว์ ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และโภชนาการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ นำมาสู่ความก้าวหน้าในการคิดค้นและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารของ CPF ที่เอื้อต่อการกินดีอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเทรนด์ด้านสุขภาพของโลก ที่มุ่งเน้นการมีสุขภาพที่ดีผ่านอาหาร

‘ประสิทธิ์’ มองถึงความท้าทายของวงการอุตสาหกรรมอาหารว่าต้องลงมือทำคู่ขนานกันระหว่าง การสร้างอาหารกลุ่มสุขภาพที่บาลานซ์ทั้งรสชาติและมีความ Healthy ไปพร้อมกันด้วย เพราะอาหารสุขภาพจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการปรุงรส และส่วนผสมอยู่พอสมควร ดังนั้นในฐานะขององค์กรผู้นำด้านการผลิตอาหาร จึงต้องให้ความสำคัญทั้งอาหารสุขภาพและอาหารทั่วไป อีกทั้งยังต้องสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์เพื่อส่งมอบคุณค่าด้านสุขภาวะที่ดีให้กับผู้บริโภค

 

"เรื่องพวกนี้ไม่ใช่พูดครั้งเดียวจบ ต้องค่อยๆ ปลูกฝังพื้นฐานความรู้ให้คนเข้าใจการกินที่มีสุขภาวะที่ดีผ่านระบบการศึกษา"

 

อาหารสำเร็จรูปพร้อมกินกับโจทย์ด้าน Health & Well-being

ทัศนะของซีอีโอ CPF เชื่อว่าการที่คนคนหนึ่งจะมีสุขภาวะที่ดีด้วยการกินดี สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความรู้และความเข้าใจเรื่องอาหารกับสุขภาพ ซึ่งตลอดหลายทศวรรษมานี้ความเข้าใจและองค์ความรู้เรื่องอาหารกับสุขภาพในประเทศไทย ค่อยๆ พัฒนาไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น อิงตามหลักการแพทย์ และวิทยาศาสตร์มากกว่าจะเชื่อตามการพูดบอกต่อกันมา ที่สำคัญจนถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ คือเทคโนโลยีและนวัตกรรมในวงการอุตสาหกรรมอาหารที่พัฒนาจนเข้าขั้นอยู่ในระดับมาตรฐาน มีความปลอดภัย ทั้งการปรับปรุง สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ Health & Well-being ในด้านการกินดีจากอาหาร

“ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่ององค์ความรู้ของคนในประเทศไทย เช่น เรื่องพลาสติกกับไมโครเวฟนี้ เหมือนเราเอาเทคโนโลยีเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาพูดกัน เป็นความเข้าใจเรื่องยุคก่อนที่เทคโนโลยีจะพัฒนา ทั้งที่พลาสติกมีหลายเกรดมาก วันนี้พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดเป็น Food Grade European Standard ซึ่งการทดสอบอย่างมีมาตรฐานและละเอียดทำให้มั่นใจว่าพลาสติกที่วงการอุตสาหกรรมอาหารใช้นั้นทนความร้อนสามารถเข้าไมโครเวฟได้โดยไม่มีอันตราย เรื่องไมโครเวฟก็เช่นกัน มีคนออกมาพูดเยอะ แต่เป็นความเข้าใจเรื่องไมโครเวฟยุคก่อน

“ที่จริงอาหารเข้าไมโครเวฟ รวมทั้งอาหารแช่แข็งไม่ได้ทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง เช่น เราอาจจะรู้สึกว่าต้องซื้อเนื้อสดตามแหล่งที่ขาย เราจะไม่ซื้อเนื้อแช่แข็งเพราะรู้สึกว่ามันไม่สด ซึ่งมันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เราสั่งสมกันมาตั้งแต่เด็ก ทั้งที่จริงแล้วอาหารแช่แข็งมีจุดแข็งเรื่องความปลอดภัย ขณะที่เนื้อสดหากนำออกมาวางทิ้งไว้ไม่นานก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นแล้ว”

 ‘ประสิทธิ์’ มองว่าบรรดาข่าวลือหรือข้อมูลที่ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับในด้านอาหารและสุขภาพ สิ่งสำคัญคือการปลูกฝังความรู้พื้นฐานด้านสุขศึกษาและโภชนาการในการกินให้ผู้บริโภคและสังคมมีความเข้าใจในเรื่อง ‘อาหาร’ และการ ‘กินดี’ อย่างถูกต้องในสภาวะปัจจุบัน มีความเข้าใจในเรื่องการกินโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญหนึ่งของอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารที่จะทำความเข้าใจกับสังคมทั้งหมด

 “เรื่องพวกนี้ไม่ใช่พูดครั้งเดียวจบ ต้องค่อยๆ ปลูกฝังพื้นฐานความรู้ให้คนเข้าใจการกินที่มีสุขภาวะที่ดีผ่านระบบการศึกษา”

 

ไม่หยุดเดินหน้าผลิตอาหารเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน

ก้าวย่างวันนี้ของการผลิตอาหารที่คำนึงถึงสุขภาวะที่ดีให้กับสังคม นอกจากที่อุตสาหกรรมอาหารจะคำนึงถึงอาหารจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนอาหารกลุ่มสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว คำถามสำคัญที่ ‘ประสิทธิ์’ ทิ้งท้ายไว้เมื่อมองถึงเป้าหมาย Health & Well-being การกินดีจากอาหาร คือ ‘The End Game’ ของเรื่องนี้เป็นภาพอะไร

“ถ้าปลายทางเป็นภาพที่ใหญ่มาก ก็ยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกเยอะ ในระยะยาวเราต้องการให้ CPF สามารถสกัดองค์ความรู้ด้านโภชนาการของอาหารได้ในขั้นสูงขึ้น รวมไปถึงการใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ในเรื่องนี้จึงต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี ซึ่งเราต้องศึกษากันตั้งแต่วันนี้”

เป็นมุมมองของประธานคณะผู้บริหาร CPF ที่มุ่งมั่นถึงคุณค่าที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารจะสามารถส่งต่อความยั่งยืนด้านอาหาร และการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้คนในสังคมและประเทศได้

“ถ้าเรามีแนวคิดที่ต้องปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลา ทุกอย่างที่ทำ สามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคม สิ่งที่ทำดีกับสังคม สิ่งแวดล้อม ดีกับคนที่กิน ผมคิดว่านี่คือความยั่งยืน... และเราในฐานะบริษัทใหญ่ต้องยืนหยัดในเป้าหมายเหล่านี้”

ข่าวยอดนิยม

เครือเจริญโภคภัณฑ์บริษัทข้ามชาติแห่งแรกในจีนจดทะเบียนการค้าหมายเลข 000...

17 พฤษภาคม 2560
26576

การบริหารงานบุคคลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในยุค 4.0...

08 พฤศจิกายน 2560
21872

โครงการเลี้ยงไก่ไข่อาหารกลางวันนักเรียน การ “ให้” อย่างมีคุณค่า ทั้งด้...

03 กรกฎาคม 2558
20471

Cage Free Eggs ไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภ...

18 กรกฎาคม 2562
12442

แชร์ข่าวสาร

ท่านประธานอาวุโส“ธนินท์ เจียรวนนท์”วิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไท... สัปดาห์ที่สองของการ WFH...

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

“มาริษา เจียรวนนท์” บนเส้นทางรังสรรค์ อาหารเพื่อสังคม ผ่านมูลนิธิ CHEF...

23 พฤศจิกายน 2564
3787

สูตรรอด 'CPF' อยู่ร่วมโควิด กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ...

30 สิงหาคม 2564
3530

ทำความรู้จัก “สบขุ่นโมเดล”: CP ร่วมพัฒนา พลิกเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป...

13 กรกฎาคม 2564
4298

CP ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อน Social Enterprise ผู้นำหญิงนักพัฒนา ก้าวสู่ชุมช...

07 กรกฎาคม 2564
4174

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th