จีนมีไม้เด็ดอะไรเหลืออยู่
โดยที่จีนยังจัดเป็นประเทศที่มีอัตราการออมสูง และสัดส่วนของสินทรัพย์ก็อยู่ในมือของภาครัฐอยู่มาก รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่อยู่ในระดับที่สูง ขณะเดียวกันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในห้วงที่ผ่านมาก็ถือว่ายังคงเปี่ยมด้วยพลัง เมื่อเทียบกับบรรดาประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเศรษฐกิจจีนมีบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ค่อนข้างสูง หลายฝ่ายจึงเห็นว่า รัฐบาลจีนยังมีพื้นที่ให้สามารถขยับขยายมาตรการด้านการเงินการคลังได้ในอีกระดับหนึ่ง
โดยในชั้นนี้ ที่ประชุม CEWC เสนอว่า รัฐบาลจีนสามารถกำหนดมาตรการการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณต่อสัดส่วนจีดีพีจาก 2.8% ในปี 2019 เป็น 3.0% ในปี 2020 โดยไม่ทำให้วินัยทางการเงินการคลังเสียหาย ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจีนก็พร้อมจะปรับลดการเรียกเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมลงได้อีกอย่างน้อย 2.3 ล้านล้านหยวน และก็ประกาศเพิ่มโควตาและเร่งออกพันธบัตรพิเศษสำหรับกองทุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจีน และขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในปีหน้า
ประเด็นหลังนี้ดูจะได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่ายที่มองว่า รัฐบาลจีนควรปรับแนวทางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังจากการลดภาษีไปสู่การเพิ่มการลงทุน ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลจีนกำกับและควบคุมการขยายตัวของหนี้สินรัฐบาลท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดควบคู่ไปด้วย ซึ่งเราก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้สัดส่วนของหนี้สินต่อจีดีพีจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในปีหน้า
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังมุ่งหวังที่จะปรับโครงสร้างให้เศรษฐกิจเติบโตบนพื้นฐานของการบริโภคมากขึ้น ในปี 2019 เราจึงเห็นการดำเนินมาตรการด้านการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อพยายามเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ การลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และการเพิ่มวงเงินการปล่อยสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจีนจะมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสูงเมื่อเทียบกับของประเทศอื่น และสถาบันการเงินขนาดใหญ่ล้วนเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่การดำเนินมาตรการด้านการเงินที่ผ่านมาก็ดูจะกลายเป็นชนักติดหลังที่ทำให้จีนอาจไม่สามารถขยับขยายมาตรการเหล่านี้ได้มากนักในปีหน้า เพราะหากปัญหาเศรษฐกิจและอื่นๆ รุมเร้าและลากยาวมากขึ้น ก็อาจทำให้ปัญหาฟองสบู่หวนกลับมา และหนี้เสียขยายวงกว้าง ซึ่งจะลดระดับความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจจีน และอาจส่งผลเสียต่อเส้นทางการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจแห่งการบริโภคของจีนในระยะยาวได้
อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลจีนควรจับตามองอย่างใกล้ชิดก็คือ ประสิทธิภาพการลงทุนที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในปี 2019 จนหลายฝ่ายกังวลใจกับตัวเลขอัตราการว่างงานที่อาจขยายวงในปีหน้า ทำเอาท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ต้องออกมานั่งหัวโต๊ะเพิ่มการจ้างงานด้วยตนเอง โชคดีที่ภาคอุตสาหกรรมของจีนส่งสัญญาณการพลิกฟื้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2019
และอีกส่วนสำคัญเกิดขึ้นจากความสำเร็จของจีนในการปรับโครงสร้างและยกระดับฝีมือแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคบริการ ทำให้ตัวเลขอัตราการว่างงานดีขึ้นมาก และไม่กดดันเชิงลบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาคในช่วงต้อนรับปีใหม่ อย่างไรก็ดี ประเด็นการจ้างงานก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจับตามองอย่างใกล้ชิดตลอดปี 2020
ทางเลือกหากสถานการณ์ไม่เป็นใจ
ท่ามกลางระดับความท้าทายและแรงกดดันจากภายนอกที่เพิ่มขึ้น ปี 2020 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ลดลง แต่ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะยํ่าแย่เพียงใด ผมก็ยังประเมินว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่เศรษฐกิจจีนจะหนักหนาสาหัสอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในห้วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ดังนั้นเรื่องเศรษฐกิจจีน “ดิ่งหัว” จึงไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงในปีหน้า
ประเด็นสำคัญก็คือ รัฐบาลจีนจะทำอย่างไรหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และเครื่องยนต์เศรษฐกิจจีนไม่อาจเดินได้เต็มสูบอย่างที่คาดหวังไว้ในปี 2020 ผมประเมินว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยํ่าแย่หนัก รัฐบาลจีนจะ “กัดฟัน” งัดเอามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ออกมาใช้อีกครั้ง
แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับระดับที่คาดการณ์ไว้ ผมก็คิดว่ารัฐบาลจีนพร้อมจะยอม “กลืนเลือด” ไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มสูบตามที่วางแผนไว้ และอาจยอมให้เศรษฐกิจจีนเติบโตตํ่ากว่าเป้าหมายที่อัตรา 6% เมื่อเทียบกับของปีก่อน แทนที่จะเลือกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่เพิ่มเติมผ่านมิติอื่นอย่างเช่นที่เคยทำในหลายปีที่ผ่านมา
ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลายทศวรรษหลังนี้ทำให้เศรษฐกิจเติบใหญ่และมีความพร้อมในปัจจุบัน จีนไม่จำเป็นต้องดิ้นรนผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตในเชิงปริมาณดั่งเช่นในอดีต และหากเราพิจารณาถึงความกล้า ความทรหด และประสบการณ์ในการผ่านร้อนผ่านหนาวในช่วงหลายปีหลังนี้ จีนก็ควรเลือกที่จะเดินหน้าปฏิรูปเชิงลึกและรักษา “ความนิ่ง” ทางเศรษฐกิจเอาไว้เพื่อเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว
ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ตัวเลข 6% ในปี 2020 จึงเป็นเพียงเป้าหมายแบบยืดหยุ่น ขณะที่ “การเติบโตในเชิงคุณภาพ” และ “การรักษาเสถียรภาพ” จะเป็นคีย์เวิร์ดที่กำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจจีนที่กำลังจะมาถึง เข้าทำนองว่า “หลุดเป้าได้ แต่ต้องไม่เป๋” ซึ่งหากดูจากตัวเลขที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันแล้ว ผมก็ประเมินว่ารัฐบาลจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายหลักดังกล่าว และเดินหน้าสู่แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2015) ได้อย่างสง่างาม
ไทยเราควรรับมืออย่างไร
จริงอยู่ว่า แต่ละประเทศล้วนมีสภาพปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน แนวทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศจึงไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว ดังนั้นเราจึงไม่ควรลอกโมเดลแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนมาเป็นต้นแบบ และไทยก็ไม่อาจกำหนดเป้าหมายและแนวทางการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าได้โดยไม่แยแสแรงกดดันจากภายนอก เศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือนทะเลน้อย ไม่ได้ใหญ่ดั่งมหาสมุทร ไม่ได้มีทรัพยากรที่เพียบพร้อมเช่นเดียวกับจีน แถมเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ใช้มานานก็ติดๆ ดับๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ความเร็วและพลังแฝงของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงทุกขณะ
เรามีฐานนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคภายในประเทศที่เล็กมากเมื่อเทียบกับของจีน ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในเวทีระหว่างประเทศก็ถดถอยลง สินค้าเกษตรและแปรรูปของไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ และสินค้าอุตสาหกรรมก็หาแบรนด์แข็งแกร่งได้ยาก มาถึงวันนี้ เราก็ยังไม่เห็นสัญญาณเชิงบวกของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งก็ยิ่งทำให้การเพิ่มมูลค่าการส่งออกในปีหน้าดูจะอยู่บนเส้นทางที่มืดมน
นอกจากนี้ เราก็ไม่ได้มีดอกเบี้ยอ้างอิงที่สูงพอให้แบงก์ชาติปรับลดได้มากนักในอนาคต และแม้ว่าเราจะลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงก็ไม่อาจช่วยกระตุ้นการลงทุนหรือส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ เพราะนักลงทุนต่างสูญเสียระดับความมั่นใจต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต จนกำลังเข้าสู่โหมด “ถึงลด(ดอกเบี้ย) ก็ไม่ลง(ทุน)” และในทางกลับกันก็อาจส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนแอลงไปอีก
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นฐานการบริโภคสำคัญของไทยในปัจจุบัน กลุ่มเหล่านี้พึ่งพารายได้หลักจากดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล และราคาหุ้นและกองทุนที่ชะลอตัวลงมากในช่วงปีนี้ ดังนั้นหากเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จะกระทบต่อไปยังภาคการบริโภคภายในประเทศและเศรษฐกิจมหภาคในที่สุด
ขณะเดียวกัน การตั้งคณะกรรมการโน่นนี่มากมายเพื่อขายฝันลมๆ แล้งๆ ในห้องประชุม สนับสนุนส่งเสริมให้คนไทยเสพติดกับ “ประชานิยม” และวนเวียนอยู่ในโหมด “พักผ่อน” กับสารพัดเทศกาลและวันหยุดยาวก็ไม่น่าจะใช่แนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมเช่นกัน แม้กระทั่งการพัฒนาสตาร์ตอัพเพื่อรองรับเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตก็ดูจะยังจุดไม่ติด
ผมเป็นคนรุ่นเก่าที่เชื่อว่า หากต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราต้องแสวงหาและให้โอกาสแก่คนที่มีพรสวรรค์ และเก่งคิดค้นนวัตกรรม โมเดลธุรกิจ และโครงการดี ๆ รวมทั้งพร้อมที่จะลงมือทำงานหนักในเวทีเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนเราจะมีองค์ประกอบเหล่านั้นอยู่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นในปัจจุบัน
การเรียนลัดจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและประเทศอื่น และนำมาปรับใช้กับของไทยน่าจะเป็นแนวทางที่ดีสุดในสถานการณ์ที่เราต้องแข่งกับเวลา
ประการสำคัญผมคิดว่าปี 2020 อาจเป็นนิมิตหมายอันดีที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนควรหันหน้าเข้าหากันอย่างจริงจัง ร่วมกายใจ ถลกแขนเสื้อ และยอมเปื้อนโคลนลงมือแก้ปัญหาอย่างถูกจุด เป็นระบบ และเกิดเป็นรูปธรรม เพื่อพลิกฟื้นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กลับมาสูงขึ้นและมีเสถียรภาพอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ดียิ่งสำหรับพี่น้องชาวไทย
ที่มา - คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฐานเศรษฐกิจ