มิติอื่นที่รัฐบาลจีนควรใส่ใจ
โดยที่รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายหลักอยู่ 2 ส่วนสำคัญ อันได้แก่ 1 เป้าหมายที่ต้องการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนในปี 2020 ขึ้น 2 เท่าตัวของปี 2010 เพื่อยกระดับให้จีนก้าวขึ้นเป็น “เสี่ยวคัง” (Xiaokang) หรือสังคมที่มีการพัฒนาในระดับปานกลาง ตามที่ที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 18 เสนอไว้เมื่อปี 2012 และ 2 เป้าหมายการขจัดคนยากจนให้หมดสิ้นจากประเทศ เพื่อหวังฉลอง 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ในปี 2020 อย่างยิ่งใหญ่
แน่นอนว่า การบรรลุเป้าหมายหลักทั้งสองดังกล่าวจึงนับว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2020 เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมิได้ประกาศเป้าหมายแบบ “ขายฝัน” เท่านั้น แต่ได้พยายามที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ให้รุดหน้าอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลต้องออกแรงผลักดันให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตรา 6.1-6.2% ต่อปีในช่วงปี 2019-2020 ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้สูง โดยสรุปเป้าหมายแรกนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาลจีน และ “เสี่ยวคัง” คาดว่าจะกลายเป็นคำยอดนิยมในหมู่คนจีนในปี 2020
ในส่วนของเป้าหมายที่ 2 ผมประเมินว่ามีความท้าทายมากกว่า แม้ว่าจีนจะมีคนยากจนเหลืออยู่ราว 5% ของประชากรโดยรวมของจีน แต่ก็มีจำนวน พอๆ กับจำนวนประชากรของไทย และกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ที่กว้างใหญ่และแตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์ อย่างไรก็ดี ผมสังเกตเห็นความพยายามในการเดินหน้าต่อสู้กับปัญหาความยากจนบนหลักการ “จิงจุ่นฝูผิน” (Jing Zhun Fu Pin) หรือแปลแบบง่ายๆ ว่า “แม่นยำและเป็นรูปธรรม” อย่างจริงจังในช่วงหลายปีหลังนี้
รัฐบาลกลางได้จัดสรรเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลลงสู่หน่วยงานภาครัฐในแต่ละระดับมาอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบนิเวศไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน กิจการของรัฐที่ประกอบธุรกิจด้านการเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป และธุรกิจบริการเกี่ยวข้อง อาทิ ร้านอาหาร ช่องทางจัดจำหน่าย โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว
แม้กระทั่ง พนักงานของรัฐที่ทำงานอยู่ในเมืองต่างต้องลงพื้นที่ในระดับตำบลและหมู่บ้านเพื่อช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจนเหล่านั้นอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ ตามสูตร 5+2 ที่แปลความหมายว่า ทำงานนั่งโต๊ะ 5 วัน ลงพื้นที่ 2 วัน และรายงานความคืบหน้าของผลการปฏิบัติงานที่ช่วยให้พี่น้องชาวจีนหลุดพ้นจากความยากจนกันแบบรายสัปดาห์กันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังเชิญชวนให้กิจการภาคเอกชนทั้งจีนและเทศเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายนี้อีกด้วย เราได้เห็นกิจการจำนวนมากเข้ามามีส่วนสนับสนุนนโยบายดังกล่าวในเชิงรุก ดังตัวอย่างการลงนามความร่วมมือในการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธ์ระหว่างกิจการในเครือซีพีและอาลีบาบาเมื่อหลายปีก่อน ก็มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนนโยบายต่อสู้กับปัญหาความยากจนนี้เช่นกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับค่านิยมหลักของซีพีที่กำหนดไว้ว่า ผลประโยชน์ของชาติและประชาชนต้องมาก่อน และกิจการจึงจะได้รับผลประโยชน์ตามมา
ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์จีนยังเห็นว่า นอกเหนือจากเป้าหมายการเติบโต 6% ในปี 2020 แล้ว รัฐบาลจีนควรจะให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลระหว่าง “การเติบโต” กับ “การป้องกันความเสี่ยง” ควบคู่ไปด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แม้ว่าการรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญในปีหน้า แต่สัญญาณเตือนต่อเนื่องจากปี 2019 โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสงครามการค้า การชุมนุมประท้วงที่ฮ่องกง และการออกกฎหมายของสหรัฐฯ ที่แทรกแซงกิจการภายในของจีนที่ขยายวงจากฮ่องกงซินเจียง และอาจต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ในปีหน้า ทำให้ส่อเค้าว่าจีนจะต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญในอนาคต
ดังนั้น ในปี 2020 รัฐบาลจีนจึงควรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิง “คุณภาพ” มากกว่า “ความเร็ว” และมุ่งเน้นเป้าหมายที่มีความ “ยืดหยุ่น” และ “เสถียรภาพ” มากกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลจีนควรใส่ใจกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดูจะขยายอิทธิพลในเชิงเปรียบเทียบอย่างมากในปีหน้า การรักษาทิศทางและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว
ที่มา - คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฐานเศรษฐกิจ