รายงานพิเศษ CP E-News
14 ประเด็นสำคัญ สรุปสาระสำคัญ บรรยายพิเศษให้แก่ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือ โดยศาสตราจารย์ อาร์ตูโร บริส ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center ถึงความท้าทายของประเทศไทย และองค์กรธุรกิจในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ปี 2019 ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับจากสถาบัน IMD ว่ามี “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” ที่อันดับ 25 ขยับขึ้นจากปี 2018 ถึง 5 อันดับ จากการสำรวจเขตเศรษฐกิจทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจาก 4 ด้านสำคัญ คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ถือเป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศได้ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพสำคัญที่จะนำไปสู่การร่วมพัฒนาประเทศไทยสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 จึงได้จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้บริหารเครือ และบริษัทในเครือ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ อาร์ตูโร บริส ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center (Arturo Bris) หรือสถาบัน IMD ซึ่งเป็นองค์กรจัดทำดัชนีชี้วัดการแข่งขันของประเทศต่างๆทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2540
นับเป็นโอกาสอันดีที่ ศาสตราจารย์ อาร์ตูโร บริส ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "Thailand and countries in Asia competitiveness and how the countries and C.P.Group should strategically plan for the next decade" เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม Auditorium ชั้น 6 ตึก Pegasus ทรู ดิจิทัล พาร์ค โดยมี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต้อนรับและร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษครั้งนี้ โดยเล็งเห็นว่าการบรรยายครั้งนี้จะได้นำเสนอข้อมูลและสถิติที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและองค์กรในการมองเห็นถึงทิศทางการพัฒนาประเทศไทย รวมทั้งจะได้สร้างเสริมวิสัยทัศน์และวางแผนองค์กรในอนาคตได้
ขณะที่ ศาสตราจารย์ อาร์ตูโร บริส กล่าวถึง ปัจจัยความสำเร็จในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ มี 3 กรณี คือ 1.รัฐบาล ที่ต้องบริหารและกำกับกิจการที่มีประสิทธิภาพ 2.ความสามารถของบริษัทในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถสูง 3.ความสามารถขององค์กรในการสร้างนวัตกรรม
สำหรับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ศาสตราจารย์ อาร์ตูโร มองว่ามีการพัฒนาที่ดีขึ้นในหลายมิติโดยเฉพาะคุณภาพด้านเศรษฐกิจ แต่ยังควรเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการจ้างงานให้มีคุณภาพมากขึ้น และมีจุดอ่อนที่ยังต้องเร่งแก้ไข คือ เรื่องการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการจัดอันดับดัชนีการแข่งขันด้วย ไทยควรใช้โอกาสและจังหวะนี้พัฒนาการศึกษาที่เหมาะสมต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ต้องพิจารณาว่าประเทศไทยโดดเด่นด้านไหนก็พัฒนาในด้านนั้น เช่น ถ้าไทยมีภาคการผลิตเป็นภาคหลักต้องพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพ ต้องสร้างระบบการศึกษาที่ตรงกับระบบแรงงาน จึงต้องดูว่าเศรษฐกิจหลักของประเทศคืออะไร และจะเจาะไปที่ด้านไหน เช่น ไทยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร เทคโนโลยี ซึ่งหลักสูตรสร้างคนก็ต้องมุ่งมาทางนี้ ขณะที่ตัวองค์กรธุรกิจในอนาคตต้องไม่เป็นปิรามิดแนวตั้ง แต่ต้องราบเรียบมากขึ้น มีรูปแบบการส่งต่องานที่สั้นลง มีลำดับชั้นน้อยลง และวัฒนธรรมองค์กรต้องเป็นรูปแบบแพลทฟอร์มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเห็นว่าการเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศแข่งขันได้ ภาคธุรกิจเอกชนและรัฐบาลจะต้องมีประสิทธิภาพที่ดีทั้งคู่ ผลคือจะทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยอย่างคู่ขนานให้กับเศรษฐกิจประเทศไทย
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ อาร์ตูโร ได้ชื่นชมเครือซีพีที่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือภาครัฐในด้านการศึกษา รวมทั้งเห็นว่าเครือเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำที่ผลักดันประเด็นความยั่งยืนและการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งกำลังเป็นวาระสำคัญในอนาคตที่เกี่ยวพันกับคุณภาพเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันยังได้แนะนำถึงการเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productive สำคัญให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมของเครือด้วย ทั้งกลุ่มธุรกิจเกษตร และอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจคมนาคม
สำหรับผู้สนใจรายละเอียดการบรรยายพิเศษครั้งนี้นั้น CP E-News ได้สรุปสาระสำคัญที่เป็น Key Message ที่น่าสนใจตลอด 2 ชั่วโมง จากการบรรยายของ ศาสตราจารย์ อาร์ตูโร มารวมรวบไว้ ดังนี้
1.การเติบโตทางเศรษฐกิจสังคมของโลกได้ไหลมาทางซีกโลกตะวันออก จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้ดีกว่านี้ เพราะมีทั้งปัจจัยพิกัดทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งต่างๆมากมาย ถ้าพัฒนาทั้งหมดมาเป็นนโยบาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จะได้ผลดี
2.การตอบโจทย์เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศทั่วโลกเปลี่ยนไป ไม่ได้เน้นที่ GDP เป็นหลักเช่นในอดีต แต่ปัจจุบันต้องคำนึงถึงการเติบโตที่ มีคุณภาพชีวิต ความยั่งยืน การกระจายความมั่งคั่ง เพื่อตอบให้ได้ว่าคุณภาพชีวิตประชากรในประเทศจะดีขึ้น ดังนั้นต้องมองผลิตภาพ และประสิทธิภาพทางธุรกิจที่จะส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งในประเทศ
3.จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของไทยตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา ในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ไทยเน้นความสามารถในการผลิตซึ่งทำได้ดีขึ้น และเน้นอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งขีดความสามารถเหล่านี้ต้องแปรให้เป็นนโยบายสู่มวลชนได้ด้วย
4.ภาครัฐ และเอกชนต้องเกื้อหนุนกันจะทำให้เกิดความสำเร็จทั้งในระดับประเทศและองค์กรได้ ซึ่งการมองถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะต้องไม่มองไปที่ความสามารถแข่งขันเฉพาะในภาคเอกชนเท่านั้น แต่ต้องมองถึงความสามารถในการสร้างความมั่งคั่งของประเทศมากกว่า ในที่นี้ คือ “ความสามารถในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ซึ่งในส่วนนี้เครือฯจะสามารถช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยมั่งคั่งขึ้นได้อย่างไร เพราะถ้าประเทศมั่งคั่งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ธุรกิจเอกชนก็ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกัน
5.เครือฯสามารถช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ ทั้งเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข รวมทั้งลงทุนในเซคเตอร์ที่ถูกต้อง รวมทั้งภาครัฐมีการช่วยเหลือด้านภาษี ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ ประเทศไทยจะยิ่งมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
6.แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ทั่วโลกมากขึ้น การทำงานที่ใช้คนน้อยลง เพราะพึ่งพิงระบบอัตโนมัติมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ จะสร้างงานใหม่ที่เป็นประโยชน์อย่างไร เพื่อรองรับคนที่ถูกเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติแย่งงาน ซึ่งปัญหาเกิดกับกลุ่มคนตกงานจากเซคเตอร์หนึ่งไปหางานใหม่ ซึ่งเทรนด์ที่พบคืองานที่สร้างมาใหม่มักไปอยู่ในภาคบริการมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ Productive ไม่มีประโยชน์หรือสร้างมูลค่าได้ ดังนั้นการสร้างงานในอนาคตต้องมีเซคเตอร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เรื่อยๆ จึงต้องพิจารณาว่าจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรช่วยเสริมพลังให้ผู้คน ใช้นวัตกรรมอย่างไรเพื่อสร้างให้งานดีขึ้น
7.ทศวรรษต่อไปประเทศไทยต้องเตรียมรับมือแก้ปัญหาล่วงหน้า กับกรณีที่จะเกิดขึ้นโดยเทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกา จะพบว่า อัตราการเติบโตของ GDP ลดน้อยลงทุกปี บางประเทศค่อนข้างหยุดนิ่ง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดกับประเทศพัฒนาแล้ว เหตุผลมาจากการขาดการแข่งขัน เนื่องจากหลายเซคเตอร์ในทางเศรษฐกิจมีการแข่งขันลดลง เช่น ภาคธนาคาร และบางอุตสาหกรรมมีการรวมตัวกันหมดแล้วจึงเสมือนมีผู้เล่นรายเดียว
8.วันนี้เครือซีพีมีจุดแข็งเรื่องความยั่งยืน ซึ่งประเด็นความยั่งยืนจะเป็นวาระสำคัญในระบบทางการตลาด เพราะองค์กรธุรกิจจะต้องไม่โยนภาระให้ลูกค้าเพียงเพื่อรักษาผลกำไรของตัวเองให้ขึ้นสูง แต่องค์กรธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งเครือซีพีทำได้ดีมากไม่ผลักดันภาระไปสู่ผู้บริโภค ดังนั้นการเลือกเส้นทางความยั่งยืนจึงต้องเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กร
9.สถานการณ์ Capital Income รายได้บริษัท กับ Labour Income รายได้ของแรงงาน มีช่องว่างกันมาก ซึ่งลักษณะนี้จะยิ่งทำให้ประเทศไม่มั่นคงมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้เริ่มเกิดในหลายประเทศในยุโรป และอเมริกาใต้
10.สิ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ จะต้องไม่ใช้วิธีกีดกันทางการค้าเช่นในสหรัฐฯ แต่ต้องใช้วิธีสร้างงาน และมีการใช้งบประมาณอัดฉีดในบางจุด ขณะเดียวกันภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้สังคมและประเทศ ทำให้ทรัพยากรกระจายตัวยิ่งขึ้น
11.เครือซีพีมีบทบาทสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เมื่ออนาคตระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งในฐานะบริษัทต้องมีส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืน เพราะสิ่งสำคัญคือ ในอนาคตซีเอสอาร์เป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของบริษัท เพราะผู้คนจะคำนึงถึงสิ่งที่ซื้อและบริโภคมากขึ้น อาจไม่ใช่ทุกกรณี ทุกเซคเตอร์ แต่ธุรกิจที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องความยั่งยืนอย่างสำคัญ คือ ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งลูกค้าจะมีมุมมองทางสังคมมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงต้องมองถึงการสร้างการยอมรับทางสังคมด้วย กล่าวคือ ตอบโจทย์เป้าหมายธุรกิจบริษัทไปพร้อมกับการตอบแทนสังคมเช่นเดียวกัน
12.จากสถิติความสามารถในการแข่งขันที่ไทยขยับขึ้นนั้น จะเห็นว่ามีคะแนนด้านประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจที่ดี ประสิทธิภาพในการดำเนินการของภาครัฐอยู่ปานกลาง แรงงานของไทยประสิทธิภาพยังต่ำ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคมทำได้ดีมาก แต่ที่ยังเป็นจุดอ่อน คือ คุณภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีคะแนนต่ำ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นนามธรรม อย่างคุณภาพระบบการศึกษา ระบบการสาธารณสุขในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นที่ไทยจะต้องรีบปรับระบบการศึกษา และระบบสาธารณสุข แม้เป็นเรื่องยากเพราะทั้งสองกรณีใช้เวลานาน แต่ไทยน่าจะรีบใช้เวลานี้ดำเนินการ เพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญในระยะยาว
13.ประเทศไทยต้องปฏิรูปการเมืองและเพิ่มความปรองดองในประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เท่าเทียม ทั้งรัฐบาลและเอกชนจะต้องมีเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศร่วมกัน
14.ด้านการพิจารณาเพิ่มขีดความสามารถในกลุ่มอุตสาหกรรมของเครือซีพี ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ถือเป็น Value Sector ที่ค่อนข้างเสถียรแล้ว การลงทุนต่อไปจึงต้องพิจารณาเรื่องความยั่งยืนในระยะยาว ขณะที่ฝั่งธุรกิจเทคโนโลยี และค้าปลีก ถือเป็น Growth Sector ที่เป็นฝั่งเติบโตเร็วต้องสร้างมูลค่าและวิธีการที่ต่างออกไป โดยต้องมั่นใจว่าส่วนนี้จะต้องไม่ถูกดิสรัปชั่น ต้องรักษาระดับการเปลี่ยนแปลงให้ได้
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ อาร์ตูโร ยังได้วิเคราะห์ปิดท้ายถึง 3 อุตสาหกรรมหลักของเครือซีพี และแนวทางเพิ่มขีดความสามารถไว้ดังนี้
1.ธุรกิจอาหาร เกษตรกรรม ต้องยกระดับเกษตรกรรมไปถึงระดับสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นกว่าเป็นเพียงสินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้น มองถึงการทำฟาร์มแบบยั่งยืน เพราะอนาคตเทรนด์ของผู้คนจะพิจารณาว่าสินค้าแต่ละอย่างมีที่มาอย่างไรในแง่จริยธรรมและประเด็นทางสังคม นอกจากนี้ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้อุตสาหกรรมเกษตรกรรม รวมทั้งต้องมีแนวทางที่เรียกว่า GloCal หรือ Global Local คือบริษัทระดับโลกที่ดำเนินนโยบายระดับโลก แต่มีมุมมองออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้บริโภคในแต่ละประเทศ
2.ธุรกิจค้าปลีก ต้องนำบิ๊กดาต้ามามีบทบาทสำคัญพัฒนาธุรกิจค้าปลีกที่รวมเอาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาสร้างมูลค่ามากขึ้น และต้องเป็นธุรกิจที่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการทำซีเอสอาร์จะไม่ใช่เฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่ต้องรวมถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องมีความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด
3.ธุรกิจโทรคมนาคม ส่วนนี้ประเทศไทยยังทำได้ไม่ดี ทั้งเรื่องเทคโนโลยีบล็อคเชน และ AI ที่การลงทุนยังมีน้อยมาก ไทยจำเป็นต้องทำด้านนี้ให้มากขึ้น เพราะทั้งบล็อคเชนและเอไอ คือตัวแปรสำคัญของธุรกิจโทรคมนาคมในอนาคต รวมทั้งต้องมีการออกกฎเกณฑ์ กฎระเบียบที่เหมาะสมเอื้อให้เกิดการแข่งขัน และต้องพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ รวมทั้งองค์กรธุรกิจก็ต้องรักษาและพัฒนาบุคลากรที่มีขีดความสามารถสูงไว้ด้วย รวมทั้งตัวองค์กรต้องมีทัศนคติด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ดีด้วยเช่นกัน