เกิดความร่วมมือทางธุรกิจ มากน้อยอย่างไร
โดยที่ผู้ร่วมออกงานและผู้เข้าเยี่ยมชมงาน CIIE ครั้งที่ 2 นี้เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทำให้ยอดขายปลีกภายในงานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่สำคัญ ก็คือ กิจกรรมการจัดทำนัดหมายเจรจาธุรกิจก็นับว่าคึกคักกว่าปีที่ผ่านมาอย่างมาก โดยตลอดงานมีผู้ร่วมออกคูหาราว 1,400 รายและผู้เยี่ยมชมงานราว 3,300 รายนัดหมายเจรจากัน และสามารถบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจถึง 2,200 ธุรกรรม นำไปสู่การลงนามใน MOU การซื้อขายสินค้าและบริการภายใน 1 ปีคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 71,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 23% เมื่อเทียบกับของปีก่อน จึงนับว่าการจัดกิจกรรมนี้สร้างประโยชน์ทางธุรกิจแก่กิจการที่เกี่ยวข้องได้อย่างกว้างขวาง เราลองไปดูกันว่ามีการลงนามข้อตกลงฯ สำคัญอะไรกันไปบ้างในปีนี้
• กลุ่มสินค้าอาหาร
- PinLive Food Co. สามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์นมกับ Arla Foods ของเดนมาร์ก มูลค่า 21.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายหลังการเปิดงานในวันแรกเพียง 1 ชั่วโมง
- Lyfen แฟรนไชส์ร้านขนมขบเคี้ยวชื่อดังของเซี่ยงไฮ้ในสังกัดของ Shanghai Laiyifen Co. ลงนามการจัดซื้อขนมขบเคี้ยวและขนมหวานจาก Freedom Foods Group Limited ของออสเตรเลีย และ Daesang Corporation จากเกาหลีใต้ คิดเป็นมูลค่ารวม 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังบรรลุข้อตกลงความร่วมมือกันในการพัฒนาขนมขบเคี้ยวใหม่เพื่อนำเสนอสู่ตลาดจีนผ่านช่องทางของ Lyfen ในอนาคต
• กลุ่มยานยนต์
- Ford ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของสหรัฐฯ และผู้ส่งออกสู่ตลาดจีนรายใหญ่สุด ได้ลงนามขายอะไหล่กับ South Industries Group Corporation ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Changan Auto ในมูลค่ากว่า 740 ล้านดออลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2020
- Volkswagen ลงนามในการขายยานยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ Audi ให้กับ AG FAW-Volkswagen ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนของทั้ง 2 ฝ่ายในจีน ในมูลค่าที่ไม่เปิดเผย แต่แจ้งว่ามีมูลค่าดีลสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
- GE Aviation หนึ่งในบริษัทลูกของ GE จากสหรัฐฯ ร่วมกับกิจการร่วมทุน CFM International ลงนามการซื้อขายเครื่องยนต์และบริการ กับสายการบินและผู้ผลิตเครื่องบินของจีนในมูลค่ารวมกว่า 1,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- กลุ่มสินค้าเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมืออุปกรณ์ไฮเทค
- CNBM Triumph Robotics (Shanghai) Co. ตกลงที่จะจัดซื้อหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้องจาก ABB Group จากสวิตเซอร์แลนด์ ผ่าน ABB Engineering Co. ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ในมูลค่า 11.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ผู้บริหารของ Lenovo บริษัทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่จีนซื้อจาก IBM มาเมื่อหลายปีก่อนก็ให้ความเห็นว่า งานนี้ไม่เพียงแต่ช่วยต่อยอดกระแสโลกาภิวัตน์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพและขับเคลื่อนนวัตกรรม แต่ยังเป็นเวทีที่พิเศษสุดที่ส่งเสริมให้บริษัทสามารถเพิ่มโอกาสในการยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเดิม และแสวงหาพันธมิตรใหม่ในกว่า 100 ประเทศและภูมิภาคในช่วงเวลาอันสั้น
• กลุ่มพลังงาน
- ซัพพลายเออร์กว่า 30 รายจาก 12 ประเทศ อาทิ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และมองโกเลียลงนามความร่วมมือในการเป็นพันธมิตรเชิงยุทธ์ระยะกลางและระยะยาว และสัญญาขายอุปกรณ์และวัสดุด้านพลังงานกับ China Energy Investment Corporation กิจการที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 107 ใน Fortune 500
- GE Renewable Energy กิจการลูกจากฝรั่งเศสของ GE ลงนามในสัญญาโครงการพลังงานลมที่ใหญ่สุดในเอเชีย โดยฟาร์มพลังงานลมนี้จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 715 เมกะวัตต์ในพื้นที่ของมณฑลเหอหนาน
อนึ่ง มีคำถามเกิดขึ้นว่า MOU เหล่านี้เกิดการซื้อขายจริงมากน้อยขนาดไหน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีนพบว่า มากกว่า 90% ของมูลค่าการลงนามใน MOU ซื้อขายสินค้าและบริการในมูลค่ารวม 57,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นได้เกิดเป็นรูปธรรมในปี 2018 ไปแล้ว โดยในจำนวนนี้ กลุ่มสินค้าเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยีระดับสูงคว้าชิ้นปลามันไปในมูลค่ารวม 16,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อ่านต่อฉบับหน้า)
ที่มา: คอลัมน์มังกรกระพือปีก ฐานเศรษฐกิจ