อย่างกรณีของ ปตท. วางยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรผ่านสถาบัน VISTEC และ PLLI (อ้างอิงจากบทความ ถอดความคิดซีอีโอ ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ ปตท.จะอยู่อย่างไรในยุค Energy Disruption) แต่ในบทความนี้จะพาไปพูดคุยกับนวัตกรและนักประดิษฐ์ ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) สถานศึกษาซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกนั่นเอง
ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร นวัตกรเจ้าของรางวัลระดับโลกมากกว่า 10 รางวัล
จากการบริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และคร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร-ค้าปลีกมานาน กอปรกับเล็งเห็นว่า ยุคที่กำลังจะมาถึงนั้นเป็น ยุคของหุ่นยนต์-ปัญญาประดิษฐ์ ทางซีพี ออลล์จึงลงทุนกว่า 50 ล้านบาท สร้าง ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) พีไอเอ็ม และรวบรวมหุ่นยนต์รุ่นใหม่จากบริษัททั่วโลกมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้ โดยเน้นสอนทักษะด้านการออกแบบและสร้างระบบหุ่นยนต์ให้แก่ผู้เรียน จนกระทั่งมีทักษะด้านหุ่นยนต์ในระดับมืออาชีพก่อนที่จะเรียนจบ
Q : สไตล์การเรียนการสอนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่พีไอเอ็มเป็นแบบไหนคะ?
A : Work-based Education เป็นการเรียนการสอนที่เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติงานจริง คือการเรียนทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติงานด้วยการใช้โจทย์จริง จากบริษัทที่ใช้งานหุ่นยนต์จริง จึงทำให้นักศึกษาได้องค์ความรู้ที่เข้มข้นกว่าการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์และนำไปใช้จริงก็เป็นความภูมิใจของนักศึกษาเอง
และโดยปกติ เด็กที่พีไอเอ็มทุกชั้นปี ทุกคณะ ทุกสาขา จะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย สลับกันจนกว่าจะเรียนจบ เช่น เด็กบริหารธุรกิจเรียน 3 เดือน สลับกับการไปอยู่ร้านเซเว่น 3 เดือน สาขาอื่นๆ เรียน 9 เดือน แล้วลงร้าน 3 เดือน
Q : มีหลายสถานศึกษาที่สอนระบบหุ่นยนต์ แต่อะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เด็กมาสมัครเรียนที่นี่?
A : เด็กที่มาเรียนหุ่นยนต์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ลงสนามแข่งขันด้านหุ่นยนต์ แล้วอยากลงมือในภาคปฏิบัติ อยากทำงานจริงมากกว่าเรียนตามทฤษฎีจึงมาสมัครที่นี่ แล้วที่ซีพีมีงานเยอะ เราจึงนำโจทย์จริงมาใช้สอนได้ โดยให้เด็กปี 2 ได้เข้าโรงงาน บุคลากรในโรงงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ก็มาเป็น Mentor แนะให้เด็กออกแบบหุ่นยนต์ ผ่านการเรียนเขียนแบบ ออกแบบ ตรวจงานว่าต้องเติมอะไรเพิ่ม
Q : ทราบว่ามีหุ่นยนต์ประเภท Cobot, Cylindrical Robot, Arm Robot, Fixed Robot สรุปได้ไหมว่า หุ่นยนต์แบบไหนจะเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Industrial Robot Type) มากที่สุด?
A : ในเครือซีพีมีการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเยอะ โดยเฉพาะ หุ่นยนต์แขนกล (Arm Robot) ซึ่งจะเป็นที่ต้องการมาก และไม่ใช่เฉพาะซีพีเท่านั้น เราจึงให้เด็กได้เรียนรู้การเคลื่อนไหว การหยิบจับของแขนกล แล้วให้ออกแบบแขนหุ่นยนต์ที่เรียกว่า Gripper ตรงนี้หาคนทำยาก เพราะในกระบวนการผลิตมีหลายส่วน แต่หากออกแบบหุ่นยนต์มาทำงานที่มีรายละเอียดแตกต่างกันได้ก็จะช่วยหลายด้าน หนึ่ง ต้นทุนถูกลง ทั้งค่าแรงและต้นทุนเวลา สินค้าก็จะมีราคาถูกลงไปด้วย สอง การใช้หุ่นยนต์ทำงานก็จะเชื่อถือได้ในเรื่องความสะอาด และ สาม Speed มันดี Performance มันได้
Q : ตอนนี้มีนักศึกษามากน้อยเพียงใด และมีผลงานใดที่ใช้ได้จริงแล้วบ้าง?
A : เราตั้งหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มา 3 ปี ปี 1 กับ 2 มีปีละ 40 คน ปี 3 มี 60 คน แต่ในภาพรวมรับได้ถึงปีละ 100 คน ตอนนี้นักศึกษารุ่นแรกอยู่ในชั้นปีที่ 3 แต่สร้างผลงานที่นำไปใช้ได้จริงแล้ว เช่น หุ่นยนต์ช่วยปิดฝาข้าวกล่อง สำหรับโรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง จากที่ปิดได้ครั้งละ 1 กล่อง ก็ออกแบบให้ปิดได้ทีละ 4 กล่อง หุ่นยนต์ตรวจเช็คสภาพอากาศด้วยเซ็นเซอร์ เพื่อจะนำไปใช้ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และ หุ่นยนต์ทำความสะอาดคลังสินค้า สำหรับศูนย์กระจายสินค้า
Q : ปัจจัยหลักที่ซีพีให้จัดตั้งหลักสูตรการสอนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ คือเพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจค้าปลีกและอุตสาหกรรมอาหาร?
A : นั่นก็ใช่ครับ แต่ด้วยความที่ผมอยู่ในสาขานี้มานาน เห็นมาตลอดว่าประเทศไทยยังขาดคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี เนื่องจากตลอด 20-30 ปี เราไม่ได้เน้นการพัฒนาทักษะเพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เมื่อคนขาดทักษะขั้นสูง ทำงานก็ได้เงินเดือนน้อย ต่างคนต่างไปแย่งงานกันในระดับกลาง ทำให้คนไทยได้เงินเดือนไม่สูง ส่งผลต่อการติดกับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปี แต่หากเราสร้างคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีได้มากๆ คุณภาพชีวิตคนในประเทศก็จะดีขึ้นด้วย เป้าหมายปลายทางจึงเป็นเรื่องที่กว้างและลึกกว่าประเด็นทางธุรกิจ
Q : มุมมองของ ดร.ธันยวัต ในเรื่องการสร้างหุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานละคะ?
A : แรงงานไทยเริ่มหายาก และคุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่แรงงาน แต่อยู่ที่ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยออกแบบให้หุ่นยนต์ทำงานในส่วนที่ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยด้วย การนำหุ่นยนต์มาใช้งานจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต และจากที่สังเกต คนที่กลัวหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน เขาไปกลัวแทนคนอื่น อันที่จริงไม่ได้มีอะไรน่ากลัวขนาดนั้น
Q : ถามถึงความได้เปรียบของการเรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีที่พีไอเอ็ม?
A : เกริ่นก่อนว่าตอนเปิดตัวหลักสูตร เทรนด์หุ่นยนต์กำลังมา แล้วปีต่อมาก็มาเลย แล้วแนวการสอนของเรานั้นมุ่งให้เด็กเป็นในด้าน SI (System Integrator) คือ การออกแบบระบบหุ่นยนต์ โดยต้องสามารถบูรณาการกระบวนการผลิตในระบบอัตโนมัติได้ ไม่ใช่นักพัฒนา (Developer) บริษัทหุ่นยนต์ต่างๆ เห็นว่าเราเปิดสาขานี้จึงนำเอาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของตัวเองมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้และให้นำไปใช้กับการฝึกปฏิบัติงาน หลักสูตรของเราจึงทันสมัยอยู่ตลอด เช่น หุ่นยนต์ของบริษัท ABB และการที่เราสร้างศูนย์หุ่นยนต์ iCAS ขึ้น บริษัทต่างๆ ก็ยิ่งต้องการส่งต่อเทคโนโลยีให้เด็กที่มาเรียนได้สร้างความคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนี้
Q : คนที่เรียนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ไม่ตกงาน?
A : ผมก็เป็นกรรมการด้านหุ่นยนต์ในคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ตั้งแต่ก่อตั้ง บอกได้ว่าผู้ที่มีทักษะทางด้านหุ่นยนต์จะกลายเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจ ดูได้จากการสำรวจเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC พบว่า มีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้สูงถึง 37,500 คน
ส่วนซีพี ออลล์ ซึ่งเป็น Key Player และเป็นหนึ่งในบริษัทที่คนอยากเข้าทำงานมากที่สุด ก็วางนโยบายในการรับนักศึกษาที่จบหลักสูตรนี้เข้าทำงานอย่างเป็นทางการแล้ว ตลอดจนบริษัทพันธมิตรต่างๆ ก็พร้อมที่จะรับนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วย เพราะเป็นเส้นทางของการสร้างมูลค่าพร้อมกับนวัตกรรม จากไอเดียของผู้เรียนและเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงในภาคธุรกิจ จึงรับประกันได้ถึงความมั่นคงทางอาชีพของสาขาวิชานี้
Q : มีอุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาบุคลากรไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ หากมี ดร.ธันยวัต หรือทางพีไอเอ็มเตรียมแนวทางใดไว้แก้ปัญหา?
อุปสรรคคือ การเรียนของเด็กขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง คือผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหุ่นยนต์คืออะไร ทำอะไรได้บ้างก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กมาเรียน เพราะมองไม่เห็นว่าเรียนจบแล้ว เด็กจะต้องไปสมัครงานที่ไหน มองไม่เห็นเงินเดือน คือขาดความชัดเจนหลายด้านจึงทำให้เขาสงสัยและยังไม่สนับสนุนให้เด็กมาเรียนด้านนี้ และเนื่องจากพีไอเอ็มให้ความสำคัญของบุคลากรด้านโรโบติกส์ จึงให้ทุนการศึกษาแก่ผู้เรียน ซึ่งมีทั้งแบบทุนเต็มจำนวนและทุนบางส่วน เพื่อให้ผู้ปกครองเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงการเรียนสาขานี้มากขึ้น
Q : อยากทราบเกี่ยวกับก้าวต่อไปของสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม
A : ปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม เป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์ของเครือซีพีและพันธมิตร นักศึกษาจึงมีโอกาสเรียนรู้ มีโอกาสฝึกงานและดูงานอย่างกว้างขวางและหลากหลายกับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรที่มีมากที่สุด นอกจากนี้ เรายังเป็นเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของกระทรวงอุตสาหกรรม และยังเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยยังต้องการบุคลากรด้านนี้อีกมาก เราจึงพยายามหาพันธมิตรเพิ่ม ขณะเดียวกัน ก็กำลังสร้าง PIM EEC แคมปัสใหม่บริเวณสวนนงนุช จังหวัดชลบุรี เพื่อปั้นคนที่มีทักษะตรงตามความต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ของประเทศ
ที่มา: salika