ด้วยความเชื่อมั่นว่า ‘การศึกษา’ คือพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้คนทุกคนมีคุณค่า มีความพร้อมมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้และยังเป็นรากลึกหล่อเลี้ยงให้ทุกชีวิตยังเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าโลกของเราจะเปลี่ยนไปรวดเร็วแค่ไหนก็ตาม
ดังนั้น ถึงแม้มีภารกิจต้องสวมหมวกหลายใบในต่างบทบาท หากเรื่องหนึ่งที่ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความสำคัญเสมอมาคือ ‘การมุ่งพัฒนาคน’ เพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
เมื่อผู้นำขับเคลื่อนองค์กรจึงก้าวตาม ในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่สุดที่ CEO ของเครือฯมาฉายภาพแนวคิดและแนวทางที่จะสามารถขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
โลกเปลี่ยนไว ทำอย่างไรให้คนเปลี่ยนตาม
กระแส Disruption ที่เกิดขึ้นกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นย่อมสะท้อนถึงภาพรวมของระบบการศึกษาในระดับโลกที่จะต้องปรับตัวก้าวตามให้ทันเช่นกันและเพราะปัญหารวมถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกของเราตอนนี้มาจาก ‘คน’ คุณศุภชัยจึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกลับไปแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุโดยเริ่มที่การ ‘สร้างคน’ ผ่านการศึกษาที่ดี และเป็นแนวทางนำพาสังคมไปสู่ความยั่งยืน
“ท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกผมรู้สึกว่าเราแก้ปัญหาทุกอย่างที่ปลายเหตุ ไม่ว่าจะเรื่องปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ หรือไม่รู้กี่ปัญหาที่มีอยู่เราไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่เราควรกลับไปแก้ไขที่ต้นเหตุ ไปเริ่มต้นที่ตัวเด็กเริ่มต้นที่กระบวนการการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดนำความพร้อมของระบบเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศเป็นพื้นฐาน เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเราจะสร้างให้โลกนี้น่าอยู่และอยู่ได้อย่างยั่งยืน ควรเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะวิธีนี้มันทำให้เกิดปัญหาของโลก”
แล้วระบบการศึกษาแบบใดที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงผู้นำองค์กรที่คลุกคลีกับการศึกษามาโดยตลอดให้ความเห็นว่า ระบบการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับการผลิตคนให้เป็นคนเก่งและดี มีคุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการในตลาดโลกได้ไปพร้อมๆ กัน
“เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ดีตั้งแต่ยุค 1.0 - 4.0 แต่ว่าในที่สุดก็กลับมาในเรื่องของคุณค่า คุณธรรมที่ต้องทำขนานไปกับเทคโนโลยี เด็กเกิดมามีความอยากรู้อยากเห็น ทำให้เขารักในการเรียนในการอ่านในการค้นคว้า ในการวิจัยและนำไปสู่การพัฒนาสิ่งที่ใกล้ตัวเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด สำคัญกว่าการให้เด็กจำได้ มากกว่าจำได้จากบทเรียน หรือจำได้จากวิธีทดเลขคำนวณ แต่หัวใจของการเรียนรู้จะต้องเรียนรู้จากใจ จากสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเขา”
“ระบบการศึกษาที่ดีจะต้องปลูกฝังสิ่งที่เราเรียกว่า Value หรือคุณค่า
แล้วคุณค่าเหล่านี้ทำให้เขาเอาความรู้ไปใช้เกิดประโยชน์
ต่อคนทั้งโลก ต่อครอบครัวเขา หรือตัวเขาเองได้”
ระบบการศึกษาที่ดีจะต้องปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่า ‘คุณค่า’
เมื่อมองย่อส่วนลงมาเฉพาะในประเทศไทยเอง กล่าวได้ว่าเกือบทุกปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญก็ไม่ต่างกัน นั่นคือต่างมีต้นเหตุสำคัญมาจากการศึกษาของคน ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ต้องเริ่มแก้ไขอย่างเร่งด่วน
“การศึกษาเป็นจุดที่ต้องแก้ไขมากที่สุด และเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาสังคมไทย วันนี้เด็ก ป.1 อายุเท่าไร อีก 20 ปีต่อจากนี้เขาอายุเท่าไร ถ้าระบบการศึกษาดีและเป็น Child Centric อย่างแท้จริง ในอีก 20 ปีจากนี้ โลกจะเปลี่ยนไปในทางที่ยั่งยืน แล้วถ้าเราแก้ที่ต้นเหตุ มีระบบการศึกษาที่ดี ไม่ได้หมายความเฉพาะว่าเขาเข้าใจว่าเลขสอบได้ยังไง ภาษาอังกฤษจะพูดได้คล่องแค่ไหน หรือจะอ่านได้เยอะแค่ไหน หรือว่าประวัติศาสตร์จะจำได้แค่ไหน แต่ระบบการศึกษาที่ดีจะต้องปลูกฝังสิ่งที่เราเรียกว่า Value หรือคุณค่า แล้วคุณค่าเหล่านี้ทำให้เขาเอาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งโลกต่อครอบครัวเขาหรือตัวเขาเองได้
“ผมมองว่าการสร้างValueที่ดีด้านการศึกษาคือการผลักดันเรื่อง Sustainableหรือความยั่งยืน โดยยึดหลักที่ Human Character Form ของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 1-12 ปี ซึ่งในช่วงวัยนี้คาแร็กเตอร์จะปรากฏและชัดเจน ดังนั้น ถ้าเราทุ่มกำลังไปกับคนรุ่นใหม่ สร้าง Core Value ให้เขารู้ว่าความยั่งยืนมีแกนอะไรบ้าง เขาจะเปลี่ยนประเทศนี้ได้ ซึ่งผมมองว่าไม่ต้องใช้เวลานานมากนัก เพราะอย่างที่บอกว่ากลุ่มเจนเนอเรชั่นที่จะขึ้นเป็นผู้ใหญ่นี้ใช้เวลาเพียง 20 ปี หากสร้างสิ่งนี้กับคนรุ่นใหม่ได้ ก็จะเป็นคลื่นที่ส่งต่อกันมาแบบ Wave after Wave”
นอกจากนี้คุณศุภชัย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชนโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) ที่เป็นการรวมพลังของภาคเอกชนไทย จากแรกเริ่ม 12 องค์กร ร่วมก่อตั้ง เป็นปัจจุบัน 33 องค์กร โดยการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาครัฐและประชาสังคมที่ตั้งใจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมได้เดินหน้าขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อเตรียมการเด็กไทยในศตวรรษที่ 21
“สำหรับการTransform หรือปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อที่จะเตรียมเด็กไทยในอนาคต ตอนนี้เรากำลังขับเคลื่อนและผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปยัง 5 ยุทธศาสตร์หลักของโครงการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐานนั่นคือ 1.Transparency หรือ การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะ ที่แสดงถึงข้อมูลและตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้ขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น 2.เรื่องกลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม หรือ Market Mechanisms ก็ตามมา เชื่อมโยงให้ทุกๆ ฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้ช่วยกันพัฒนา ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่กัน
“ขณะเดียวกันเรื่องที่ 3. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน หรือ High Quality Principals & Teachers ให้มีคุณภาพในทุกด้าน ภายใต้ KPI หรือตัวชี้วัดที่ดีและมีมาตรฐาน ผมมองว่าระบบการศึกษาในประเทศของเรา รากฐานสำคัญหนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านสำคัญคือโรงเรียนและครูใหญ่ของโรงเรียน ดังนั้นการหา Talent ผู้นำของโรงเรียนจึงสำคัญ เพราะครูใหญ่ที่มีคุณภาพก็มีศักยภาพที่จะดูแลเด็กอายุ1-12ปี ได้ครูใหญ่จึงมีบทบาทสำคัญเป็นผู้นำชุมชน การขับเคลื่อนสังคมผ่านระบบการศึกษาจึงน่าจะเป็นวิธีที่เร็วและดีที่สุด
“เพราะต้นแบบที่ดีจะเป็นตัวอย่างและจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อเด็กๆ โดยตรง ซึ่งจะส่งผลสำคัญนั่นคือ 4. เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum) ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้น Child Centric ให้เด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ทำให้เด็กของเราค้นพบกระบวนการเรียนรู้ที่รู้จักตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำ และอภิปรายด้วยเหตุผล แล้วเกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สำคัญไม่ลืมที่จะปลูกฝังให้พวกเขามีคุณธรรม จริยธรรม ผลิตคนของเราให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่งไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่ต้องเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพด้วย
“นอกจากนี้ เรื่องที่ 5. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures) เราจะส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สนับสนุนให้มี Digital Infrastructures ที่มีความพร้อม เพื่อให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างทัดเทียมกันในทุกพื้นที่ แม้จะอยู่ห่างไกลเขตเมือง หรืออยู่ชายขอบของประเทศก็ตาม”
ปักหมุดเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นส่งเสริมความรู้
นอกเหนือจากการทุ่มเทพลังเต็มที่ให้กับโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED แล้ว ด้วยบทบาทของผู้นำที่เห็นความสำคัญอย่างแท้จริงของการศึกษา เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงมียุทธศาสตร์และแนวทางสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อให้เครือฯ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกชุมชนและทุกสังคม
“เครือฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความรู้ พัฒนาความสามารถและศักยภาพ ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมจัดการด้านการศึกษาสำหรับเด็กไทยทุกช่วงวัย และส่งเสริมการเข้าถึงความรู้แก่คนในสังคม โดยมีแนวทางการบริหารจัดการผ่าน 3 แนวทาง คือการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะ การสร้างความพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการสร้างโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ โดยบูรณาการร่วมกันเป็นเครือข่ายที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เครือฯได้ส่งเสริมและสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะที่จำเป็นแก่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการจัดการประเด็นทางสังคม และสร้างคุณค่าร่วมผ่านการส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มเปราะบาง”
“การพัฒนาสิ่งที่ใกล้ตัว เป็นกระบวนการเรียนรู้
ที่สำคัญที่สุด สำคัญกว่าการให้เด็กจำได้ มากกว่าจำได้จากบทเรียน
หรือจำได้จากวิธีทดเลขคำนวณ แต่หัวใจของการเรียนรู้
จะต้องเรียนรู้จากใจ จากสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเขา”
เราสามารถร่วมเปลี่ยนโลกได้ผ่านระบบการศึกษา
ด้วยความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ‘การศึกษาคือหน้าที่ของทุกคน’ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณศุภชัยไม่คิดที่จะหยุดสานต่ออนาคตการศึกษาของไทยให้ก้าวไกลอย่างมีคุณภาพ และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 นี้
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นยิ่งใหญ่ คือเราสามารถร่วมเปลี่ยนโลกได้ผ่านระบบการศึกษานี่แหละเราอาจจะไม่ได้บอกว่าทำทั่วโลกแต่เราเป็นโดมิโนตัวหนึ่ง ซึ่งถ้ามันสามารถล้มแล้วพิงไปที่โดมิโนตัวอื่น มันอาจจะเกิดผลกระทบที่ตามมา แล้วเราโชคดีที่มีโอกาสเราสามารถเข้าไปช่วยบางเรื่องที่เป็นนโยบายยุทธศาสตร์ของประเทศได้เช่นตอนนี้ที่เราทำอยู่คือ CONNEXT ED ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งผู้บริหารของเราพนักงานของเราผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนรวมถึงองค์กรเอกชนทุกรายซึ่งก็ต้องขอขอบคุณ กลายเป็นว่าทุกฝ่ายต่างมาร่วมมือร่วมใจกันทำให้ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนอื่นๆเกิดความยอมรับขึ้นเรื่อยๆ จนถึงในระดับมหภาค
“ต้องบอกว่าทั้งหมดที่เราทำนี้จะเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงและต่อเนื่อง เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาของเรา ซึ่งอาจจะไม่เห็นผลในทันที แต่ในอนาคตถ้าเยาวชนของเรามีศักยภาพที่ดี สังคมและประเทศก็จะดีตามไปด้วย ซึ่งจะนำไปสู่วงจรการพัฒนาที่มีความยั่งยืนต่อไป”
อ้างอิงจาก : วารสารบัวบานฉบับที่ 11