วิธีการเรียนแบบ Work-Based Learning (WBL) หรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับยุคสมัย เพราะสามารถตอบโจทย์ทั้งการได้รับความรู้จากภาคทฤษฎี ทั้งการได้รับประสบการณ์และพัฒนาทักษะการทำงานในภาคปฏิบัติ ส่งผลให้ผู้เรียนมีความพร้อมทำงานทันทีอย่างมืออาชีพ และยังถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ปัญหาเด็กจบออกมาแล้วไม่มีงานทำได้เป็นอย่างดี
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM ก่อตั้งโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)เป็น Corporate University หรือมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบแห่งแรกของเมืองไทย และถือเป็นต้นแบบของ Work-Based Education ที่ผสมผสานระหว่างความรู้ในเชิงวิชาการกับภาคปฏิบัติเพื่อให้นักศึกษาของสถาบันทุกคนได้มีประสบการณ์ในการทำงานตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา เพื่อเป็นกำลังหลักของสังคมต่อไปในอนาคต
อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ผู้มีความเชื่อเต็มหัวใจในเรื่องของการ ‘Learning by Doing’ รับหน้าที่ฉายภาพให้เข้าใจถึงรูปแบบการเรียนรู้ Work-Based Education ที่กลายมาเป็นหลักสูตรเฉพาะของสถาบัน พร้อมเล่าถึงผลสำเร็จที่น่าชื่นใจ
เริ่มต้นที่คำจำกัดความ - ‘Work-Based Education’
“ต้องเริ่มต้นที่หน้าที่ในฐานะของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่แค่การสอนหนังสือ แต่เรามีหน้าที่พัฒนาคน ถ้าตั้งหลักที่คำนี้ได้ก็จะถอยกลับมามองว่า แล้วต้องพัฒนาอะไร ด้วยวิธีไหน ทำยังไงให้เขาเก่งขึ้น ผมเรียกทั้งหมดว่า 3 ทักษะจำเป็น หนึ่งคือทักษะอาชีพ (Professional Skill) คนที่โตขึ้นเขาต้องทำมาหากิน เพราะฉะนั้นเขาต้องมีทักษะวิชาชีพติดตัว ส่วนทักษะทางสังคม (Social Skill) คนเราไม่ได้อยู่คนเดียว เวลาทำงานต้องสื่อสารกับผู้คน ทำงานเป็นทีมได้ เข้าใจและเห็นใจคนอื่น มีจิตสาธารณะ ฯลฯ และสุดท้ายทักษะชีวิต (Life Skill) คือจัดการกับตัวเอง เราจะเห็นว่าคนทำงานในเมืองไทยจำนวนมากมักมี 2 ปัญหา หนึ่งเรื่องการเงิน เป็นหนี้เป็นสิน เงินไม่พอใช้ แต่ที่จริงแล้วใช้ไม่เป็นมากกว่า อันที่ 2 เรื่องสุขภาพ เมืองไทยเป็นหนึ่งในจำนวนหลายประเทศในโลกนี้ที่คนเป็นเบาหวานความดันตั้งแต่อายุน้อยๆ คือเรียนสูงเลยนะ แต่กินอะไรไม่รู้ ไม่ดูแลตัวเองกัน ซึ่งการจะสอนให้เขาเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ ก็มีผลวิจัยจากอเมริการายงานว่า การทำให้คนเรียนรู้อะไรบางอย่างสามารถทำได้หลายแบบ แต่ประมาณ 70-75% ของการเรียนรู้ได้ดีที่สุดมาจากการสอนเรียน On the Job เพราะเด็กได้เห็นโลกแห่งความเป็นจริง ก็เลยเกิดโปรแกรมนี้ขึ้นมา
“เพราะฉะนั้นคำว่า Work-Based ก็คือการหาความรู้จากประสบการณ์งานที่ทำโดยมีแบ็กอัพจากมหาวิทยาลัยที่สามารถทำให้เด็กเข้าใจได้ว่าทั้งหมดที่เราได้ฟัง ดู อ่านหนังสือมา ในที่สุดเราก็จะไปเจออยู่ที่ทำงาน หรือในทางกลับกันเขาไปเห็นสิ่งนั้นมาก่อน แล้วพอกลับไปที่ห้องเรียน ก็มีอาจารย์มาเล็กเชอร์สรุปให้ฟัง กลายเป็นการสังเคราะห์ความรู้กลับเข้ามาสู่เด็ก”
จากแนวคิด Work-Based Education สู่การออกแบบหลักสูตร
“ในส่วนของ PIM พูดได้ว่าเราเป็นสถานศึกษาแนว Work-Based Education แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งแบ่งส่วนเป็นการเรียนรู้แบบ Work-Based Learning โดยใช้ฐานการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ออกไปทำงาน Work-Based Teaching เพราะคนเป็นครูก็ต้องปรับตัว ต้องรู้ว่าข้างนอกเขาทำงานกันยังไง ที่ยากเพราะว่าในชีวิตจริงครูบางท่านก็ไม่ได้ผ่านการทำงานกับองค์กร เราก็เลยต้องให้ครูได้เรียนรู้งานจริง โดยเรามีกฎไม่ว่าคุณจะอยู่แผนกไหนในเครือ CP All รวมถึงครู คุณต้องลงไปดูงานร้าน 7-Eleven 1 สัปดาห์เพื่อสร้างความกระตือรือร้น ตื่นตัวตลอดเวลา จากนั้นก็ลิงก์ไปกับส่วนที่ 3 Work-Based Researching คือเราจะได้ยินว่าการวิจัยเป็นวิธีทางที่ดีอย่างหนึ่งในการหาองค์ความรู้ใหม่ๆ แต่ที่เคยทำกันมาคือวิจัยโดยไม่เคยคิดว่าคนสุดท้ายที่เอาไปใช้คือใคร กลายเป็นวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง แต่หลักสูตรของเรา โจทย์ในการทำวิจัยจึงต้องเป็นการทำงานใกล้ชิดระหว่างสถาบันกับองค์กรธุรกิจ เวลาเราจะสนับสนุนทุนต้องดูว่าโครงการวิจัยที่อยากทำนี่มีคนอยากได้ไปใช้งานหรือเปล่า เพื่อที่จะทำแล้วได้นำไปใช้จริง
“และโชคดีที่ PIM เป็นสถาบันในเครือบริษัทที่ไม่ได้มีสังกัดเพียงแค่ CP All หรือเครือ CP Group เท่านั้น ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของอีกคำหนึ่งคือ Networking University โดยเรามีเครือข่ายทั้ง International กับ Local ใครก็ตามที่เป็นเครือข่ายธุรกิจที่เป็นพาร์ตเนอร์ชิป ไม่ว่าจะเป็นการธุรกิจ สายการบิน ภัตตาคาร แม้กระทั่งบริษัทที่ทำหุ่นยนต์ ก็ถือเป็นมหาวิทยาลัยของเขาได้ด้วย ถ้าเขามีความต้องการอะไร เราเข้าไปศึกษาวิจัยให้ได้ โดยให้คนของบริษัทนั้นที่มีประสบการณ์เข้ามาสอนเด็กเรา ส่วนงานวิจัยก็นำกลับไปใช้ในธุรกิจตัวเองได้”
“เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้
เพียงแต่ว่าเราอย่าใช้วิธีพูดอัดเข้าไปในหัว
เพราะแค่นั้นไม่พอ เด็กต้องเข้าไปอยู่ในวงการนั้นตั้งแต่ต้น
แล้วก็เรียนจากสิ่งที่ตัวเองทำ”
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ Work-Based Education
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2550 เปิดสอนระดับปริญญาตรี โท และเอก รวมเวลา 13 ปี ผลิตบัณฑิตจบออกมาแล้ว 9 รุ่น เป็นจำนวนประมาณ 10,000 คน ปัจจุบันมีนักศึกษากว่า 19,000 คน โดยนักศึกษาจะเรียนและทำงานสลับกันไปครั้งละ 3 เดือน เป็นเวลา 4 ปี โดยหน่วยกิตจากการทำงาน คิดเป็น 15-20% และเวลาที่ทำงานจริงคิดเป็น 40-50% ของหลักสูตร นักศึกษาเกือบทั้งหมดจบออกมาแล้วมีงานทำทันที
“หลักสูตรแรกที่เกิดขึ้นคือค้าปลีก (คณะบริหารธุรกิจ) ปีแรกมีนักศึกษาอยู่ 300 กว่าคน มีพนักงานเครือ CP ALL เข้ามาเรียนด้วย แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงปีที่ 13 เปิดสอนปีแรกนี่พอถึงเวลาเด็กต้องออกไปฝึกงาน กลับมาลาออกตูมเดียว 30% (ยิ้ม) เพราะเขาเหนื่อย กลับบ้านไปร้องไห้ แม่เลยมาขอลาออก กลายเป็นบทเรียนที่เราต้องพัฒนา โดยตอนแรกๆ ก็จัดให้มีอาจารย์พี่เลี้ยงพูดจาปลอบประโลมเวลาเด็กเริ่มออกไปทำงาน
“กระทั่งเวลาผ่านไปสัก 1-2 ปี เวลาปฐมนิเทศเราก็เชิญผู้ปกครองมาเล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมาทำอะไรบ้าง แล้วลูกเขาเปลี่ยนไปยังไง มีผู้ปกครองคนหนึ่งเป็นพี่สาวขึ้นเวทีเล่าให้ฟังว่า ที่บ้านมีน้องเป็นลูกชายคนเดียว ถูกส่งมาเรียนที่ PIM ปรากฏว่าหลังจากนั้นกลับไปบ้าน ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตคาเฟ่อยู่ที่โคราช น้องชายลุกมาเช็ดกระจกหน้าร้าน ช่วยงานบ้าน ซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกงานที่ร้าน 7-Eleven ดังนั้น จริงๆ แล้วเด็กทุกคนมีศักยภาพ แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เขาได้แสดงออกหรือเปล่า
“คือทุกหลักสูตรของ PIM ระบุให้ต้องไปลงฝึกงานร้าน 7-Eleven อย่างน้อย 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน ต้องทำทุกอย่างเหมือนพนักงานทำกัน ซึ่งทำให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นมาเรื่องหนึ่งว่าการฝึกแบบนี้ทำให้อีโก้ (Ego) หายไป เพราะเด็กได้เรียนรู้เองว่าถ้าพูดจาดีๆ กับลูกค้าแล้วมีคนชอบ ขายของได้ หรืออย่างเรื่องค่าของเงินนี่เราไม่มีทางเห็นจนกว่าจะไปเจอเอง เพราะร้าน 7-Eleven นี่ต้องยืน 8 ชั่วโมงนะครับ ถึงจะได้เงินชั่วโมงละ 30-40 บาท วันละ 200-300 บาท เด็กก็เห็นค่าของเงิน นิสัยการใช้เงินเปลี่ยนเอง เด็กจะถูกฝึก Social Skill ต่างๆ จนเกิดความเคยชิน ในที่สุดก็สามารถเปลี่ยนนิสัยได้ และพวกนี้เราประเมินเป็นคะแนนได้หมดจากพฤติกรรม
“ปัจจัยความสำเร็จคือต้องทำให้ผู้ปกครองเชื่อว่าการสอนคนโดยวิธีประคบประหงมอย่างเดียวมันไม่สำเร็จ ต้องให้คนเจอปัญหาเอง และมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำอยู่ห่างๆ ต้องใช้เวลาเพื่อรอให้เห็นผล ซึ่งผลงานที่ผ่านมาค่อนข้างพิสูจน์ว่าวิธีการแบบนี้ก็สามารถตอบโจทย์ได้ว่าเด็กมีความพร้อมที่จะไปทำงานหากได้ฝึกฝนตั้งแต่เด็ก เพราะไม่ว่าจะเลือกทำตอนอายุ 18 กับทำตอน 22 ยังไงก็ต้องมีวันแรก แต่การเริ่มวันแรกตอนอายุ 18 ซึ่งอายุยังน้อย ยังมีครูดูแลอยู่ก็น่าจะดีกว่า ที่สำคัญจุดเด่นของ Work-Based Education คือเรียนจบแล้วมีงานทำทันที เพราะการฝึกตั้งแต่ยังเรียนทำให้เด็กมีทักษะพร้อมในการทำงาน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยต่อรุ่น เด็กของเราจบออกไปแล้วมีงานทำเกือบ 100%
“สำหรับเป้าหมายต่อไปในการอบรมเด็ก เราจะสร้างความเป็นนักสร้างนวัตกรรมภายในตัวเขา แปลว่ายุคต่อไปเด็กที่จบทุกคนต้องคิดอะไรใหม่ๆ เป็น เพื่อที่จะโชว์ฝีมือว่าวันหนึ่งข้างหน้าเด็กเหล่านี้จะเป็นผู้นำองค์กรได้ และอีกสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะเกิดก็คือ เด็กพร้อมที่จะทำงานได้โดยที่ไม่ต้องมานั่งปลอบประโลมอะไรอีกแล้ว ซึ่งตอนนี้แนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะกระแสบอกต่อกันไปเรื่อยๆ ในที่สุดพ่อแม่ผู้ปกครองยอมรับและเข้าใจรูปแบบการเรียนแล้ว”
Work-Based Education กับความยั่งยืน
“เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ เพียงแต่ว่าเราอย่าใช้วิธีพูดอัดเข้าไปในหัว เพราะแค่นั้นไม่พอ เด็กต้องเข้าไปอยู่ในวงการนั้นตั้งแต่ต้น แล้วก็เรียนจากสิ่งที่ตัวเองทำ จากนั้นครูกลับมาสรุปภาพมุมกว้างให้ฟัง ครูจะช่วยลิงก์ให้มองภาพรวมได้ ในที่สุดก็ประยุกต์สิ่งที่เขาเจอได้ เพราะว่าทำเองมากับมือ ดังนั้น ถ้าจะพัฒนาการศึกษาไทยให้ยั่งยืน เราก็ต้องฝึกเด็กให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง”
อ้างอิงจาก : วารสารบัวบาน ฉบับที่ 11