เสร็จสิ้นไปแล้วกับการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่และประทับใจ ในการเปิดตัวหนังสือ "ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว" ของประธานอาวุโส เครือซีพี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ The Portal ballroom เมืองทองธานี โดยในงานบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก และอบอุ่นท่ามกลางนักอ่าน บุคคลทั่วไป รวมถึงผู้บริหารและพนักงาน เข้าร่วมงานกว่า 800 คน ซึ่ง งาน Exclusive Talk ครั้งนี้ มี "หนุ่มเมืองจันท์" สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยตลอดการสนทนาพูดคุยแบบสบาย ๆ เกือบ 2 ชั่วโมงนั้น เต็มไปด้วยแง่คิดและมุมมองที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจ
CP E-News ได้รวบรวมทุกโมเมนต์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งงาน มาสรุปไว้ที่นี่ ติดตามกันได้
@ เปิดใจคำถามแรก ทำไมใช้เวลาทำหนังสือ นานนับ 8 ปี
พร้อมทีเด็ดแรก #การมองเห็นโอกาสและเริ่มต้นก่อนคนอื่น
เปิดบทสนทนาด้วยคำถามแรกจาก "หนุ่มเมืองจันท์" ถึง "ประธานอาวุโส เครือซีพี" ว่าทำไมถึงใช้เวลาถึง 8 ปี ในการทำหนังสือ "ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว"
“ที่ทำหนังสือเล่มนี้ใช้เวลา 8 ปี เพราะพยายามดูว่าระหว่างนี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม มีอะไรที่ดีกว่านี้ไหม เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”
“ความจริง ในชีวิตผม ไม่คิดว่าจะทำหนังสือ แต่ผมอ่านหนังสือของ แจ็ค เวลช์ (CEO ของ GE) แล้วประทับใจที่เห็นเขาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร”
“ผมได้ฟังคนเก่งๆ ทั้งอาลีบาบา ผมยกเขาเป็นอาจารย์ผม ผมชอบไปคุยกับเขา (แจ็ค หม่า) ผมรู้จักเขา...
..แต่ทำไมคุยกับเขา แล้วผมไม่กล้าลงทุน
วิธีของเขา ธุรกิจของเขา ตอนนั้นผมยังฟังไม่เข้าใจ ทั้งที่รู้ว่าเป็นเทรนด์
ความสำเร็จของผม ของเครือซีพี คือ เราเห็นก่อนว่า เรื่องนี้เขาสำเร็จมาอย่างไร มีโอกาสเอามาต่อยอดไหม แต่ไปคุยกับแจ็ค หม่า เราฟังไม่รู้เรื่อง ทั้งที่เข้าคอร์สที่ฮ่องกง ก็ยังไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่มีรูปแบบให้เราเห็นว่าเป็นอย่างไร เรายังชินที่จะเห็นรูปแบบที่สำเร็จ แล้วและนำไปต่อยอดในประเทศที่กำลังพัฒนา
"ผมเชื่อมั่นว่าเขา (แจ็ค หม่า) มองเห็น….
เหมือนกับภูเขา คนหนึ่งเห็นเป็นทองทั้งภูเขา แต่เรามองไปมีแต่ต้นไม้กับหิน และดิน เหมือนผมตอนนั้น จึงไม่กล้าลงทุนกับเขา"
“เรื่องเซเว่น อีเลฟเว่น ผมเห็นว่ามีการทำสำเร็จในอเมริกา ก็นำมาศึกษาในเมืองไทย ผมเห็นชัด ว่าเราต้องทำสำเร็จแน่นอน ทั้งที่ตอนนั้นเขาเตือนว่าเมืองไทยไม่พร้อม รายได้ของคุณน้อยกว่าอเมริกา 10 เท่า ยังไม่คุ้ม ไม่ถึงเวลาลงทุน เขาเตือนว่าอย่าทำเลย บอกวันนี้ยังไม่คุ้ม เพราะกำลังซื้อเราไม่พอ
แต่เคล็ดลับของผมที่เขาคิดไม่ถึงคือ ที่อเมริกา 1 คนมาซื้อ เท่ากับคนไทย 15 คนมาซื้อรวมแล้วถึงจะได้ต่อบิลเท่ากับเขา เขาก็คิดว่าไม่คุ้ม ค่าใช้จ่ายไม่คุ้ม แต่เขาลืมคิดว่าค่าใช้จ่ายเราก็ถูกกว่าเขา 15 เท่าเหมือนกัน และเขาคิดเฉลี่ย อาจจะ 10 คนก็พอ คนในกรุงเทพฯมีเงินก็มี เขาลืมไปว่า เราจ้างพนักงานกับการเปิดร้านต้นทุนเราถูกกว่าเขา 10 เท่า ค่าใช้จ่ายถูกลง 10 เท่า คนมาซื้อมากขึ้น 10 เท่า ก็คิดแล้วไหว แต่เขามองไม่เห็นตรงนี้...แต่ผมเห็น...
ทำไมถึงเห็นโอกาสเซเว่น แต่ไม่เห็นอาลีบาบา?
“อาลีบาบา เรามองไม่เห็น มันเป็นภาพเล่า แต่ของเซเว่น เราไปศึกษามองเห็น ผมเป็นคนล้าสมัยต้องเห็นของจริง แล้วไปต่อยอด นี่คือความสำเร็จผม ผมเลือกของที่ยาก คนฉลาดไม่เอาหรอกครับ คนฉลาดชอบทำอะไรง่ายที่สำเร็จได้ง่าย แต่ผมไม่ใช่”
"ผมต้องดูอะไรที่ยากที่สุดและมีอนาคตไหม ถ้าไม่มีอนาคตไม่เอา แต่ถ้ายากและมีอนาคต ผมจะเข้าไป"
………………………………………
@ ทำไมถึงตั้งชื่อหนังสือ ว่า “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”
"ในชีวิตผมไม่เคยฉลองความสำเร็จอะไร ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เพราะรู้ว่าพอเราสำเร็จไปแล้วมันจะตามมาด้วยปัญหาอีก ยิ่งสำเร็จเรื่องใหญ่ ๆ ปัญหาใหญ่ก็ตามมา แล้วเราต้องเตรียมแก้ปัญหาเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผมดีใจวันเดียว....เพราะพรุ่งนี้ไม่ใช่แล้ว
และพรุ่งนี้ก็อาจมีคู่แข่งเหนือกว่าเรา ทุก ๆ วัน เราต้องศึกษาดูว่ามีอะไรที่ต้องปรับ ต้องเปลี่ยนแปลงไหม ? เราอย่าไปอิจฉาใคร เราต้องดูตัวเราเอง สร้างตัวเราให้เข้มแข็งตลอดเวลา และตัวเราต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นอย่าดีใจนานไป
@ เคล็ดลับการลงทุน เผยสูตร "เสี่ยง 30 ชนะ 70 "
“ไม่ว่าลงทุนอะไร คนที่บอกว่าไม่มีความเสี่ยงเลย ไม่จริง เชื่อผม...
เราต้องเสี่ยง นักธุรกิจต้องเสี่ยง อย่างเช่นสตาร์ทอัพก็เช่นกัน
การทำธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จสำเร็จรูป ต้องทำไป แก้ไป ระดมทุนไป แต่เราต้องเห็นว่าแนวทางนี้ถูกต้องแล้ว สุดท้ายเป้าหมายชัด แม้เจอภูเขา เจอเหว ก็ต้องคิดหาทาง หลีกเลี่ยง แก้ไข ใครบอกว่าทำธุรกิจไม่มีวันเสี่ยง ถ้าคิดแบบนั้นอย่าทำ เพราะทำธุรกิจต้องเสี่ยง
แต่ซีพี เวลาทำใหญ่ เสี่ยงแล้วมันอันตรายก็ต้องคิด ก็ต้องดูถ้ามันมี 70 เปอร์เซ็นต์ ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเสี่ยง ผมก็จะลงทุนแล้วล่ะ ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์
ในการทำธุรกิจถ้าได้ 70 แพ้ 30 ผมก็โอเคถ้าจะต้องเสี่ยง ต้องเสี่ยงโดยที่เราไม่ล้มละลาย อย่าเล่นอะไรที่เกินตัว เพราะเสี่ยง ถ้ามันเกิดอุบัติเหตุ เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดได้ทุกเมื่อ
"ขอให้ทุกท่านรับรู้ ทำใหญ่ยิ่งเสี่ยงสูง ถ้าทำใหญ่และเกินความสามารถ จะล้มละลายได้ อย่าไปเข้าใจผิดว่าบริษัทใหญ่ล้มไม่ได้
นโยบายของซีพีคือเสี่ยงได้ แต่ไม่ให้ล้มละลาย อะไรเสี่ยงเกินตัวเราจะไม่ทำ แต่สตาร์ทอัพ ยิ่งเสี่ยง ไม่มีทางเดิน เพราะเป็นของใหม่คิดใหม่ แต่ถ้าสำเร็จแล้วยิ่งใหญ่ และยุคสมัยนี้มีโอกาสสำเร็จสูง ยุคสมัยนี้เป็นยุคเปลี่ยนแปลง"
@ บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ
“รักษาเรือให้รอด ต้องทิ้งบางอย่าง อย่าให้จมน้ำทั้งลำ”
ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมบอกพวกเราสี่พี่น้อง ผมขอรับปัญหาไว้คนเดียว ขอให้ผมปวดหัวคนเดียว ทำให้พี่น้องเขาสบายใจ
และขอการันตีว่าธุรกิจเดิมของเราที่เป็นเรื่องเกษตรว่าไม่ล้มละลายแน่นอน ผมรักษาได้ไว้แน่
ส่วนธุรกิจที่ผมสร้างมาใหม่ทั้งหมด ถ้ามีปัญหา ผมจะขายธุรกิจที่ผมสร้างขึ้นมาใหม่ก่อน
เวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้องจำไว้ เรารักษาทุกอย่างไว้ไม่ได้ เราอาจต้องทิ้งหลายอย่าง
เราต้องดูว่าอันไหนสำคัญเราต้องรักษาไว้ มีบทเรียนหนึ่ง คือ เวลาจะทำอะไรต้องทำอะไรที่โลกยอมรับและเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มิฉะนั้นวิกฤตแล้วให้เขาฟรีเขาก็ไม่เอา อย่าว่าแต่จะขายเลย
ตอนนั้น ผมขายโลตัส เพราะคนเห็นว่าตัวนี้ดีมาก คนที่ซื้อจากผมยังพูดตรงๆ กับผมว่า อันนี้คุณทำเหนือกว่าผมที่อังกฤษอีก ไม่ต่อรองราคาเลย และเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ให้เราอีก
ต่อมาผมขายแมคโคร ทำให้เราคืนหนี้ได้หมด ถ้าไม่คืนให้หมดเขาจับเราล้มละลาย กระทบเครดิตที่เราสร้างเอาไว้
ถ้าวันนั้นผมขายธุรกิจโทรศัพท์อันเดียวจบ ไม่ต้องขายแมคโคร โลตัส ตอนนั้นโทรศัพท์มันดีมาก เราเป็นคนลงทุน เคเบิ้ลใต้น้ำ คิดว่าเป็นธุรกิจมูลค่าสูง ถ้าผมตอนนั้นขายตรงนี้ไป อย่างอื่นก็ไม่ต้องขาย โลตัสถ้าจะซื้อกลับต้องเป็นหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนแมคโครเราซื้อกลับมา 6 พันกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตอนนั้น ที่ขายไปก็เสียดาย แต่เพื่อให้ธุรกิจรอด ก็มีความจำเป็นต้องทำ
"เพราะเรือมันเจอพายุเราต้องทิ้งของบางส่วน รักษาเรือลำนี้ให้รอดก่อน แล้วค่อยซื้อกลับมา ถ้าเราจะรักษาทุกอย่างสุดท้ายล้มทั้งลำ ก็เหลือเฉพาะที่มีอนาคต โดยเฉพาะที่พี่น้องสร้างเอาไว้ เราต้องรักษาไว้ก่อน ซึ่งขายสองอันนี้เราก็ผ่านพ้นวิกฤตแล้ว"
ขณะเดียวกันเราขายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกำลังใจให้พนักงานด้วย เรายังต้องมีเงินมาลงทุนขยายธุรกิจที่เห็นว่าดี ถ้าเราไม่ขยายก็กินของเก่าเท่านั้นก็ไม่ได้ โลกมันเปลี่ยนแปลง ยุคนั้นก็ยังมีโอกาสที่เราขยาย ได้ ถ้าตอนนั้นใครมีเงินขยายก็ได้เปรียบที่สุด เพราะของถูกที่สุด
@ "คนเก่ง" ต้องให้อำนาจ และ โอกาส
เรื่องใหม่ ใช้คนใหม่ “ลูกวัวไม่กลัวเสือ”
การให้คนทำงาน สิ่งสำคัญคือ เวลาทำผิดเขาต้องรู้ว่าตัวเองผิด ผิดคือค่าเล่าเรียน เสียแล้วเราเอากลับได้ สิ่งที่เสียไปแล้วขอให้เขารู้ทำเสียหายผิดพลาดแล้วก็ให้โอกาส
"เวลาเราจะสนับสนุนคนเก่ง ต้องให้อำนาจเป็นลำดับหนึ่ง เพื่อให้เขามีโอกาสแสดงความสามารถเขา เราอย่าไปกำกับ ครอบงำ ชี้นำเขา แต่ชี้แนะเขาได้ ให้อำนาจเขาทำ"
ใครจะเป็นผู้นำได้ ต้องทำเพื่อบริษัทและเพื่อพนักงาน เพราะถ้าไม่มีเพื่อนร่วมงานช่วยทำ คุณคนเดียวจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร วันนี้ที่ซีพีกำลังทำ คือทำอย่างไรให้เหมือนสตาร์ทอัพ แต่ดีกว่าสตาร์ทอัพ คือทำให้ขาดทุนน้อยลงหน่อย เพราะเรื่องใหม่ต้องใช้คนใหม่ ผมถึงพูดคำว่า...
"ลูกวัวไม่กลัวเสือ เราให้อำนาจและโอกาส และให้ทุนเขาไปทำแล้ว แต่สำคัญ ต้องให้เขารู้กำไร ขาดทุน"
ความรู้ใหม่ต้องใช้คนใหม่ เรื่องเก่าถ้ารู้ยิ่งลึกยิ่งทำยาก กลายเป็นว่าเขาทำเรื่องนี้สำเร็จ ทำได้ผลมาก เวลาทำของใหม่กลายเป็นเรื่องใหม่ของเขา ยังไงก็ไม่เคยทำ
ดังนั้นเพื่อไม่ให้บัวช้ำน้ำขุ่น เอาคนใหม่มาทำเลยไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนความคิดเขา ถ้ายังยึดของเก่าอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงใหม่ ถึงวันนั้นมีปัญหาก็สายเกินแก้ คนเก่าก็ชินกับสิ่งเดิม ถ้าทำของใหม่คนใหม่ทำให้คนเก่าเห็นจะเปลี่ยนแปลงง่าย เพราะมนุษย์ไม่ค่อยยอมรับความเปลี่ยนแปลง
ซีพีเองเราทำประโยชน์ 3 อย่าง คือทำประโยชน์เพื่อชาติ ประชาชน และบริษัท เป็น 3 ประโยชน์ของซีพี
ยุคนี้ต้องเร็วและมีคุณภาพ และนวัตกรรมใหม่ "ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง" ของเก่าดีอยู่แล้วเปลี่ยนคนใหม่จะดีหรือเปล่า ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง และทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย เพราะคนฉลาดในโลกนี้ชอบทำเรื่องง่าย ๆ แต่ถ้าฉลาดกว่า เราต้องเลือกของยากๆ และทำให้ง่ายขึ้น
ดังนั้น ต้องคิดเอาของยากที่สุด ทำของยาก ซีพีก็เจอปัญหาเหมือนกัน ซีพีจึงถูกมองว่าผูกขาด ขอชี้แจงให้เข้าใจ เราไม่ได้ผูกขาด แต่เราทำก่อน ทั้งเกษตร เซเว่นฯ แม้แต่เจ้าของ(เซเว่น)ยังบอกคุณอย่าทำเลยขาดทุน จนเราทำสำเร็จขึ้นมา
เหมือนต่อยมวย ขึ้นเวทีมีคนเดียวเท่านั้น สะดุดขา ล้มไปถูกนับถึง 10 ตื่นขึ้นมาก็ยังเป็นแชมป์ เพราะไม่มีคู่ต่อย ถ้าเราสำเร็จเมื่อไหร่ คนอื่นตามมาก็สายไปแล้ว ซีพีจึงถูกมองว่าผูกขาด ขอให้เข้าใจ เป็นเพราะเราทำก่อน ไม่มีใครให้เราผูกขาด รัฐบาลไม่ให้ กฎหมายก็ไม่ให้ใครผูกขาด
@ แนะเคล็ดวิชาแก่นักธุรกิจและคนรุ่นใหม่
“ทำงาน คือ ไปเที่ยว”
"อุปสรรค คือ อาหาร 3 มื้อ”
ผมถือว่าผมไปทำงานเหมือนไปเที่ยว อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องทำงาน ต้องคิดท้าทายตัวเราเอง ถ้าเราไม่ทำงาน วันหนึ่งก็ผ่านไป สมมติว่าผมไปเที่ยวสบายเลย วันหนึ่งก็ผ่านไป ปีหนึ่งก็ผ่านไป สิบปีก็ผ่านไป
แต่ถามว่า แล้วเราสนุกที่ไหน ทำไปก็ผ่านไป เราไม่ได้อะไรเลย แต่เราทำงาน เราก็คิดว่าไปสนุก ไปเที่ยวเหมือนกัน ก็ได้ อย่าไปคิดว่าเป็นภาระ
ถ้าเจอ "อุปสรรค" ให้มองว่าเป็น "อาหาร" ที่เรากินสามมื้อ ให้มองเป็นเรื่องธรรมดาของนักธุรกิจเขาคิดอย่างนี้เวลาพบปัญหา
ดังนั้น ทำธุรกิจต้องมีอุปสรรค เรื่องอุปสรรคปัญหาผมคิดว่าเป็นอาหารสามมื้อของนักธุรกิจที่เราต้องเจอแน่นอน
@ "รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน" คือ ความเสี่ยงที่มีโอกาสสำเร็จ ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ
ถ้ามองเรื่องการลงทุนทำธุรกิจ หากเสี่ยงเลย 30% ซีพีก็ไม่เอาแล้ว....
พูดถึงเรื่องรถไฟความเร็วสูง เสี่ยงไหม ?ตอบได้เลยว่า เสี่ยง....แต่ถามมีโอกาสสำเร็จไหม ตอบได้เลยว่า มี
ถ้ารัฐบาลเข้าใจ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องเศรษฐกิจแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องของเอกชน เขาตั้งชื่อ PPP หมายถึงรัฐบาลร่วมเอกชน เอาจุดเด่นเอกชนมาบวกกับรัฐบาล และมาลบจุดอ่อนรัฐบาล
แต่ TOR เขียนออกมาแล้วไม่ใช่ ....
รัฐบาลต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยกันกับเอกชน ถ้าเสี่ยงก็ต้องสองคนมาเป็นคู่ชีวิตกันเสี่ยงด้วยกัน ถ้าจะต้องล่มก็ล่มด้วยกันไม่ใช่เอกชนเสี่ยงแล้วรัฐบาลไม่เสี่ยง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ ยุคนี้ต้องเร็ว จึงต้องมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ต่อไปทุกอย่างการเดินทางต้องเร็ว ซึ่งเชื่อมโยงกับอีอีซี
ถ้าอีอีซีไม่ได้เกิด เรากำลังถดถอยแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคน เขาจะย้ายฐานไปลงทุนที่เวียดนาม อินโดนีเซีย ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็จะถึงจุดอิ่มตัวและไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างธุรกิจรถยนต์ก็ถึงจุดเปลี่ยนแปลงแล้ว ซึ่งประเทศไทยผลิตรถยนต์ใหญ่สุดในอาเซียน แต่กำลังเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า ถ้ารัฐบาลยังมองไม่เห็นตัวนี้ แน่นอนทุกบริษัทที่ผลิตในเมืองไทยก็อยากเอารถไฟฟ้าไปผลิตประเทศอื่น ถือว่ากินของเก่าหมดไป
สิบยี่สิบปีไม่ต้องลงทุน ของเก่าทำไปขายไปกำไรไป รถไฟฟ้าไปลงทุนอินโดนีเซียตลาดใหม่เกือบสามร้อยล้านคน เวียดนามร้อยล้านคนกำลังเติบโตอยู่
ถ้าเรายังไม่รีบมีมาตรการดี ๆ ให้เขาอย่าย้ายฐาน จะให้แรงจูงใจ (อินเซนทีฟ) อย่างไร ตรงนี้รัฐบาลยังมองไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ ปิโตรเคมีหายไป อิเล็กทรอนิกส์ เริ่มย้ายฐานวันนี้เรื่องรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์เป็นโอกาสอย่างยิ่ง ดึงคนมาลงทุน ตอนนี้จีน อเมริกามีปัญหา ยิ่งเป็นโอกาสที่ให้เข้ามาลงทุนที่ไทย อย่าให้ย้ายการลงทุนไปเวียดนาม อินโดนีเซีย
@ คำคมอมตะ “ในวิกฤตยังมีโอกาส"
หลังวิกฤตยิ่งสำคัญ เตรียมตัวให้พร้อมเพื่อสร้างโอกาสใหม่
บทเรียนของซีพี วิกฤตคือโอกาส เพราะในโอกาสมีวิกฤต ตอนที่เรารุ่งเรืองที่สุด เราต้องคิดตลอดเวลาว่า...
"ในความมืด ตอนเกิดวิกฤต ต้องมองว่าเรารับไหวหรือไม่ คือเราต้องทำการบ้าน เราอย่าเหลิงในความยิ่งใหญ่ ถ้าเรายังจะทำธุรกิจอยู่ พอวิกฤตมามันก็กลายเป็นปัญหาและล้มละลายก็ได้ ถ้าเราไม่คิดไว้ก่อน ตอนที่วิกฤตและมืดที่สุดอย่าท้อใจ แสงสว่างมีมาเสมอ"
ดังนั้น ตอนที่วิกฤตเราต้องเตรียมว่าพอแสงสว่างมา คือฟื้นแล้ว ต้องมองถึงสังคม เศรษฐกิจ เพราะที่เสียก็เสียไปแล้ว เราต้องเตรียมตัวหลังวิกฤตว่าเราจะทำอะไร หลังจากตอนช่วงวิกฤตที่เราแก้ไขแล้ว ก็ต้องคิดไปด้วยว่าหลังวิกฤตผ่านไปเราจะเตรียมตัวอย่างไร
"สิ่งสำคัญวิกฤตมาเราอย่าตาย ต้องเอาชีวิตไว้ให้รอด และเราจะมีโอกาสคืน เป็นโอกาสแล้วที่เราได้ความรู้ เสียค่าเล่าเรียนจากวิกฤตแล้ว ถ้าตายไปไม่มีโอกาสแล้ว วิกฤตตามมาด้วยโอกาส โอกาสตามมาด้วยวิกฤต"
@ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว แล้วความล้มเหลว ความเสียใจได้กี่วัน?"
คุณสุทธิชัย หยุ่น ผู้สื่อข่าวผู้คร่ำหวอดและมีประสบการณ์เคยสัมภาษณ์ท่านประธานอาวุโสมาตลอดหลายทศวรรษ ซึ่งมาร่วมในงาน Exclusive Talk ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว ได้ถามท่านประธานอาวุโสเครือซีพีว่า "ถ้าความสำเร็จดีใจได้วันเดียว ความล้มเหลว ความเสียใจได้กี่วัน?"
“ผมว่าเหมือนกัน เพราะเราต้องทำใจ เราต้องรู้แพ้รู้ชนะ ...” ท่านประธานอาวุโสเครือซีพี ตอบ
"เราตั้งใจว่าเราสำเร็จดีใจได้วันเดียว
ความล้มเหลวก็เหมือนกัน"
เพราะมันล้มเหลวไปแล้ว เราจะไปกลุ้มใจก็ไม่มีประโยชน์
เราต้องทบทวนว่าทำไมเราล้มเหลว คิดให้เป็นบทเรียน เพราะไม่มีใครที่จะทำได้สำเร็จทุกเรื่อง ทำมากเรื่องก็ต้องมีผิดพลาดบ้าง
ดังนั้นอย่าไปกลุ้มใจหลายวัน ไม่มีประโยชน์ มันล้ม มันพลาดเสียหายไปแล้ว เราต้องทำใจแล้ว และเราต้องทำใจตอนที่สำเร็จ
ถ้าวันหนึ่งล้มเหลวก็อย่าให้ล้มละลาย
บริษัทที่ขาดทุนไปก็ยังมีโอกาสเอากลับมา และเป็นบทเรียน
กลุ้มใจก็วันเดียวพอ เอาเป็นบทเรียนว่าทำไมเราล้มเหลว เพื่อไม่ให้ล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง
@ โมเม้นต์สุดประทับใจ ถ่าย Selfie กับผู้เข้าร่วมงาน - แจกลายเซ็น แฟนคลับน้ำตาคลอ – บุตรหลานพูดถึง “คุณพ่อ” ผู้เป็น “สุภาพบุรุษ”
ช่วงท้ายหลังจบการสนทนา ประธานอาวุโสร่วมบันทึกภาพแบบ Selfie กับผู้เข้าร่วม พร้อมแจกลายเซ็นให้ผู้โชคดี 50 คน อย่างเป็นกันเอง ซึ่งแฟนคลับบางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เมื่อได้รับลายเซ็นจากประธานอาวุโสอย่างใกล้ชิด
ขณะที่โมเม้นต์สุดท้ายสุดประทับใจ คือบุตรหลานครอบครัวเจียรวนนท์ ทยอยเดินขึ้นมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับประธานอาวุโส โดยคุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ บุตรสาวคนโต เป็นตัวแทนกล่าวว่า
“หลายคนมองคุณพ่อในฐานะนักธุรกิจ แต่พวกเรามองคุณพ่อเป็นสุภาพบุรุษคนหนึ่ง ที่รักประเทศชาติ รักทุกอย่างที่ท่านทำ รักลูกน้อง และสอนพวกเราเสมอว่า เราต้องเป็นคนดี แล้วท่านจะพูดแต่เรื่องดี ๆ เกี่ยวกับทุกคนตลอดเวลา เรื่องไม่ดี ห้ามพูด เราก็พูดไม่ได้ คิดไม่ดี ก็ไม่ได้ พวกเราเป็นตัวแทนของคุณแม่ด้วย เนื่องจากคุณแม่สุขภาพไม่ดี เลยไม่ได้มา แต่คุณแม่ก็รักสุภาพบุรุษคนนี้เช่นเดียวกับที่เรารัก” ซึ่งสร้างความประทับใจและเรียกเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมงานอย่างกึกก้อง
สำหรับใครที่พลาดฟัง ประธานอาวุโส เครือซีพี พูดคุยแบบสุดพิเศษ ในงาน Exclusive Talk ในงานนี้ สามารถรับชมไลฟ์สด ย้อนหลังการพูดคุยสนุกสนาน ได้ข้อคิด และสุดประทับใจนี้ได้ ตลอดทั้งงาน
กดดูไลฟ์สตรีมมิ่ง ย้อนหลังได้ที่นี่ >>
หรือ https://www.facebook.com/cpgroupnews/videos/1428130284019916?sfns=mo