โลกยุคปัจจุบันเป็นยุคที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเพื่อหลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น ใช้ในการแก้ปัญหาของธุรกิจ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้หรือกำไร เพิ่มความรวดเร็วและความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ ทั้งหมดนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับโลก ผู้เล่นที่สำคัญที่เรียกได้ว่า เป็นผู้นำการพัฒนาระรอกใหม่ครั้งนี้คือ สตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นธุรกิจของหนุ่มสาวที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังสมอง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ตนเองเผชิญ เช่น ความยากในการหารถแท็กซี่ที่มีบริการที่ดีเพื่อเข้าเมือง (เป็นที่มาของ Uber) หรือ ความเสียเวลาในการไปต่อคิวหน้าร้านอาหารโดยไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ในระหว่างที่รอ (เป็นที่มาของ QueQ) ซึ่งหนุ่มสาวเหล่านี้เลือกที่จะรวบรวมคนที่มีความฝันและความต้องการที่เหมือนกัน มีการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับโมเดลการหารายได้และกลยุทธในการขยายธุรกิจ ก่อกำเนิดเป็นธุรกิจรูปแบบนึงที่กำลังมาแรงมากในยุคนี้นั่นคือ “สตาร์ทอัพ”
ความสำเร็จอันสูงสุดของเหล่าสตาร์ทอัพทั้งหลายคือ การเป็น “ยูนิคอร์น” ซึ่งหมายถึงบริษัทที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป อย่างไรก็ดี การที่จะไปถึง ณ จุดทีได้รับการขนานนามว่า “ยูนิคอร์น” ไม่ง่ายอย่างที่ใครหลายคนวาดฝันเอาไว้ และการที่ “ยูนิคอร์น” จะถือกำเนิดได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบหลาย ๆ ประการด้วยกัน เช่น ขนาดของตลาด ความสามารถของบุคลากรในทีม เทคโนโลยี โมเดลการหารายได้และกลยุทธในการขยายธุรกิจ เป็นต้น
ทรู อินคิวบ์ เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อจัดหาให้มีองค์ประกอบที่สำคัญเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสตาร์ทอัพ ทั้งในเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspire) การสร้างสรรค์นวัตกรรม (innovate) การให้ความรู้ผ่านการบ่มเพาะ (incubate) และการลงทุน (invest) ตั้งแต่ในระดับของนักศึกษาจนถึงการลงทุนในสตาร์ทอัพในระดับโลก ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้นอกจากเป็นผลดีต่อบริษัทในแง่ของความได้เปรียบในการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีในการนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอีกด้วย
การสนับสนุนและส่งเสริมที่ ทรู อินคิวบ์ จัดขึ้นนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 เป้าหมายหลัก ๆ ได้แก่ การมุ่งเน้นการสร้างสัญชาตญาณความเป็นผู้ประกอบการ การมองไกลไประดับโลก และการสร้างระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโต
สัญชาตญาณความเป็นผู้ประกอบการ
สตาร์ทอัพจะถือกำเนิดและเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น ส่วนประกอบที่สำคัญนอกเหนือจากความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) คงหนีไม่พ้นคุณลักษณะของคนที่ต้องมี “จิตวิญญาณของสตาร์ทอัพ” (Startup Spirit) คือ มีจิตวิญญาณของนักแก้ปัญหา ชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีการคิดค้นหาทางออกของปัญหาต่าง ๆ ชอบการลงมือทำโดยไม่รอช้า มีความเป็นนักสู้ ไม่ย่อท้อง่าย ๆ ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีในตำราเรียน ต้องอาศัยเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ และได้รับการชี้นำ ส่งเสริมที่ถูกต้องและต่อเนื่อง
มองไกลไประดับโลก
ปัญหาประการสำคัญของสตาร์ทอัพไทยที่ส่งผลให้ไม่สามารถเติบโตไปเป็นยูนิคอร์นได้ นั่นก็เพราะ ยังขาดมุมมองของปัญหาและการแก้ไขธุรกิจที่ไกลกว่าประเทศไทยและขาดความรู้ในการสร้างบุคลากรในทีม เทคโนโลยี โมเดลการหารายได้และกลยุทธในการขยายธุรกิจไปสู่ระดับภูมิภาคและในระดับโลก ซึ่งปัญหานี้ส่งผลต่อมูลค่าของสตาร์ทอัพ และความสำเร็จในการระดมทุนในรอบถัดไป ซึ่งหากระดมทุนไม่สำเร็จก็มีความเป็นไปได้ที่สตาร์ทอัพรายนั้นจะต้องเลิกกิจการไปเพราะไม่มีเงินทุนเข้ามาดำเนินการต่อ
สร้างระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโต
ระบบนิเวศน์ (ecosystem) เป็นอีกส่วนประกอบนึงที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพเป็นอย่างมาก องค์ประกอบของระบบนิเวศน์ที่ดีจะประกอบด้วย จำนวนนักลงทุน (Venture Capitalist) จำนวนหน่วยงานบ่มเพาะ (incubator/accelerator) สัดส่วนของสตาร์ทอัพต่อประชากร ซึ่งทรู อินคิวบ์ นอกจากเป็นหน่วยงานบ่มเพาะแล้ว เรายังกระตุ้นให้เกิดสตาร์ทอัพรายใหม่ ๆ ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Startup Eco build ที่ทำงานร่วมกันกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โครงการบ่มเพาะ Startup Batch ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 5 รุ่น และมีแผนที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทรู อินคิวบ์ ยังมุ่งเน้นเสริมสร้างเครือข่ายนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสตาร์ทอัพของเราอีกด้วย