นับเป็นวาระแห่งมวลมนุษยชาติ ที่นานาอารยประเทศต่างออกมาประกาศนโยบายสีเขียว รณรงค์ให้ประชากรโลกหันมาเหลียวแล “บ้าน” ของเราเสียที ก่อนที่จะสายจนไม่มีทรัพยากรใด ๆ ให้ใช้จ่าย หากใช้และทิ้งขว้างกันอย่างไร้ความตระหนักรู้อย่างในทุกวันนี้
สาเหตุของปัญหา “สิ่งเวดล้อมโลก” โดยเฉพาะ “ปัญหาขยะล้นโลก” ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ความรักสบายและมักง่ายของชาวโลก ทำให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจ การค้าและการบริการ จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้รับความ “สะดวก” ในการบริโภคให้มากที่สุด เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาด และไม่พลาดเป้าหมายในผลประกอบการ ความหวังในการได้ใจลูกค้าจากการอำนวยความสะดวกอย่างยอดเยี่ยมที่สุดในวงจรธุรกิจนี้ ทางหนึ่ง...จำเป็นต้องแลกมาด้วยการลงทุนใน “บรรจุภัณฑ์” อันสวยงาม ในการสร้างภาพลักษณ์ในสินค้าและบริการนั้น ๆ และหากได้กระแสตอบรับอันล้นหลาม ความต้องการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็มากขึ้นตามไปด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น พลาสติก หรือกระดาษ ซึ่งเพียงไม่กี่วินาทีหลังจากที่ลูกค้าได้บริโภคสินค้า บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นก็จะถูกทิ้ง กลับเป็นขยะ...ส่งภาระกลับไปยังโลกอีกครั้ง
หลายประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน, เยอรมนี, ออสเตรีย, เกาหลีใต้, เวลส์ และสวิตเซอร์แลนด์ ที่นโยบายของประเทศชัดเจนและสามารถรีไซเคิลขยะได้มากกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ จากการจัดอันดับของ Eunomia Research and Consulting บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม โดยความร่วมมือกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรป แต่นั่นก็นับเป็นความสำเร็จเพียงจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนประเทศทั้งหมดของโลกที่ร่วมสร้างปัญหาสิ่งปฏิกูลของโลก
ความหวังที่จะให้ทุกประเทศหันมาถอดต้นแบบความสำเร็จจากประเทศที่ประสบความสำเร็จได้ยังดูห่างไกลความเป็นจริงอยู่พอสมควร เหตุเพราะปัจจัยมากมาย ที่เป็นตัวกำหนดนโยบายที่จะนำพาประเทศเหล่านั้นไปสู่วิถีสีเขียวในอุดมคติ แต่ทว่ามนุษย์ทุกคนสามารถช่วยโลกได้ ด้วยการเอาใจใส่ “บ้าน” ของเรา เพียงแค่ “เริ่มต้นด้วยเรื่องส่วนตน” ฝึกฝนการ “เห็นแก่ตน” เพื่อ “หวังผลส่วนรวม” ซึ่งผมขออธิบายแนวคิดนี้แบบง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
“การเห็นแก่ตน” ที่ผมกล่าวถึง ไม่ใช่การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด แต่การจะรักษ์โลกได้ เราอาจต้องปรับใจให้รักและเอาใจใส่ตนเองก่อนเป็นอันดับแรก และอยากเสนอแนวทางให้แต่ละท่าน “ยึดติด” กับ “ของมันต้องมี” ที่เป็นของ “ส่วนตน” ของคนที่คิดจะริ(เริ่ม)จะรักโลก ด้วยการลดขยะ ที่เกิดจากการบริโภคของเรา เช่น การเลือกใช้ถุงผ้า กระเป๋า หรือย่าม ยิ่งพับได้ พกพาง่าย แทนการรับถุงพลาสติก ซึ่งย่อยสลายยาก นับเป็น Item ที่ต้องมีติดกาย ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะเป็นงานชนเผ่า หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ก็ยังเป็นอีกทางเลือกในการสรรหาของน่ารัก “ส่วนตน” ที่ส่งผลเชิงบวกกับ “ส่วนรวม” ด้วยการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วยการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่ทำลายธรรมชาติอีกทางหนึ่งด้วย หรือการใช้แก้วน้ำ ปิ่นโต หรือกล่องใส่อาหาร พร้อมช้อนส้อมหรือตะเกียบที่พับเก็บได้ หรือหลอดที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ, หลอดที่ใช้วัสดุที่คงทนใช้ซ้ำ (Reusable) ได้ อย่างสเตนเลส หลอดซิลิโคน เป็นต้น ซึ่ง “ของส่วนตัว” เหล่านี้ จะลดโอกาสการเกิดโรคที่ใช้ของสาธารณะ หรืออาจปนเปื้อนการล้างสิ่งสกปรกออกไม่หมด หรือโรคภัยที่ติดจากการใช้ภาชนะร่วมกันได้ แนวคิดนี้ได้กระจายไปสู่กลุ่มผู้มีจิตอาสา และห่วงใยในสิ่งแวดล้อมและความเป็นไปของโลก เช่น มูลนิธิฉือจี้ ซึ่งมีต้นกำเนิดในไต้หวัน ถ่ายทอดแนวคิดนี้ผ่านการเป็นผู้นำ ทำให้เห็น และมุ่งเน้นการใช้กระบวนการนี้ส่งเสริมให้เยาวชนและสมาชิกร่วมใจพิทักษ์โลกให้สดใส โดยถือวาระวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนปีนี้ เป็นการเริ่มต้น โดยจัดการประกวดต่าง ๆ ให้แก่เยาวชนในทุกระดับการศึกษา ทั้งการประกวดสุนทรพจน์, คำขวัญพร้อมภาพประกอบการรณรงค์พิทักษ์โลก, โครงการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, สื่อรณรงค์ และเยาวชนจิตอาสา ภายในงานมีการกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ และแสดงในเห็นหลักการทำงานของมูลนิธิส่วนหนึ่ง ที่ Recycle ขยะ นำกลับมาใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิ เป็นสินค้า และของบริจาค เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หรือเสื้อผ้า ส่งไปช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติทั่วโลก
เริ่มต้นจาก “ส่วนตน” คือเลือกใช้ของส่วนตัว ไม่ปะปนกับคนอื่น ซึ่งดีต่อสุขอนามัย ลดการใช้ทรัพยากร และที่สำคัญคือลดขยะให้โลก นอกจากนี้ เมื่อเรามองไปยัง “ส่วนรวม” เราก็สามารถใช้หลัก 7R ที่เข้าใจง่าย เพียงใส่ใจ และลงมือทำ ดังนี้
และในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือ หรือ Smart Phone และนวัตกรรมของแอปพลิเคชัน (Application) สามารถสร้างสรรค์ตัวตนอันเป็นอัตลักษณ์ของคนแต่ละคนตามความต้องการเชิงปัจเจก อีกเครื่องมือที่สามารถช่วยคุณไปสู่เป้าหมายสีเขียวนั้น ๆ ได้ด้วยมือของคุณและในกำมือคุณคือแอปพลิเคชันรักษ์โลกต่าง ๆ เช่น iRecycle แอป ที่รวบรวมกว่าล้านวิธีรีไซเคิลขยะ ข่าวสารอัพเดทเรื่องสิ่งแวดล้อม และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อการใช้ทรัพยากรโลกอย่างคุ้มค่า หรือ แอป Eco Planet ซึ่งมีความพิเศษตรงเป็นเกมจำลองเพื่อเสริมสร้างทัศนคติและประสบการณ์การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งเสริมแนวคิดแบบ ECO หรือรักษ์โลกได้อย่างตื่นเต้น น่าสนุก และสอดแทรกตรรกะการรักษาสิ่งแวดล้อม การแยกขยะไปได้อย่างแยบยล หรือแอปที่ส่งเสริมให้คนหันมาสนใจปลูกต้นไม้ สร้างเครือข่ายคนรักพื้นที่สีเขียวอย่าง We Grow ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถเริ่มต้นปลูกกล้ารักษาโลกได้เป็นอย่างดี และมีอีกมากมายหลากหลายแอปให้เลือกดาวน์โหลด ตามความต้องการ “ส่วนตน” ของทุกคน แต่สามารถฝึกฝนการคิดเพื่อ “ส่วนรวม” ได้อีกทางหนึ่ง
เริ่มต้นง่าย ๆ กับการตั้งสติในการใช้ชีวิตส่วนตัว และไม่ละทิ้งเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายความสุขและจิตสำนึกรักษ์โลกไปยังส่วนรวม...ร่วมกันอย่างยั่งยืน