ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก (UN Global Compact) เกิดจากการรวมตัวของภาคเอกชนทั่วโลก ภายใต้ข้อริเริ่มของนายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ในขณะนั้น เพื่อชักชวนให้ธุรกิจมาร่วมกับสหประชาชาติในการทำกิจกรรมเพื่อให้โลกมีความยั่งยืน (Sustainability) สอดคล้องกับสิ่งที่สหประชาชาติพยายามผลักดัน กล่าวคือบริษัทจะต้องทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดสิทธิและกฎหมายแรงงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และไม่สนับสนุนการทำทุจริต โดย UN Global Compact กำหนดขึ้นมาเป็นหลักการสากล 10 ประการที่จะต้องให้บริษัทสมาชิกปฏิบัติ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกราว 13,000 องค์กร จัดว่าเป็นการรวมตัวของภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
UN Global Compact มองว่าการรวมตัวกันในระดับโลกอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอในการจะขับเคลื่อนให้บริษัทเอกชนหันมาทำเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง จึงพยายามให้แต่ละประเทศมีแกนนำที่จะรวบรวมสมาชิกในประเทศนั้นๆ ตั้งเป็น UN Global Compact ระดับประเทศขึ้น ประเทศไทยก็ได้จัดตั้งเครือข่ายลักษณะดังกล่าวเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand : GCNT) ล่าสุดมีสมาชิกอยู่ราว 40 บริษัท ประกอบด้วยองค์กรธุรกิจเอกชน มูลนิธิ และสถาบันวิจัยบางแห่ง
หลักการของ UN Global Compact คือ การสนับสนุนให้สมาชิกส่งเสริมทั้งด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต ไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าจะถามว่าในสี่เรื่องนี้ GCNT อาจจะเน้นกิจกรรมในช่วงแรกๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหลักก่อน เพื่อที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญและเกี่ยวข้องต่อการทำธุรกิจอย่างไร และภาคธุรกิจต้องทำอะไรบ้างเพื่อที่จะนับว่าเป็นธุรกิจที่เคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องแรงงาน ในสายการผลิตของคุณไม่ควรจะมีการใช้แรงงานที่อายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การทำงานล่วงเวลาควรจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม กระบวนการจัดการหางานควรเป็นไปด้วยความสมัครใจ หรือแม้แต่ในการบริหารองค์กรก็ไม่ควรจะเลือกปฏิบัติ ผู้หญิงควรจะได้สิทธิและโอกาสในการบริหารทัดเทียมกับผู้ชาย หรือสิทธิของแรงงานในการพักผ่อน ความปลอดภัยในที่ทำงาน หรือแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย เขาโดนหลอกมาในลักษณะของเหยื่อการค้ามนุษย์หรือเปล่า น้ำเสียที่คุณปล่อยออกไปจากโรงงานไปทำลายแหล่งน้ำที่ชาวบ้านบริเวณนั้นอาศัยในการดำรงชีวิตหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น มันเชื่อมโยงกันหมด แต่บางครั้งภาคธุรกิจอาจไม่ได้ตระหนักหรือมองในแง่นี้
ภารกิจยกระดับสิทธิมนุษยชนในกลุ่มธุรกิจ
จากการกำหนดจุดยืนดังกล่าว อย่างน้อยในช่วงสองสามปีนี้ ภารกิจหลักประการหนึ่งของ GCNT จึงมุ่งไปที่การจัดทำคู่มือและหลักสูตรอบรมเพื่อให้ภาคธุรกิจไทยเข้าใจและดูแลด้านสิทธิมนุษยชนในการทำธุรกิจของตนได้ โดยขณะนี้ GCNT กำลังร่วมมือกับพันธมิตรอาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ UNDP (United Nations Development Programme) OECD (Organization Economic Cooperation and Development) และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แปลเนื้อหาจากคู่มือการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business Conduct) หรือ RBC ของ OECD - องค์กรซึ่งมีประเทศพัฒนาแล้วเป็นสมาชิก ถือเป็นต้นแบบของการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว
อันนี้เป็นประสบการณ์ที่ได้จากตอนที่เริ่มคุยกับภาคธุรกิจมากขึ้น เราพบว่ามันไม่พอที่จะไปบอกเขาว่า ธุรกิจควรจะส่งเสริมความเป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ เคารพสิทธิมนุษยชนนะ เขาก็จะถามต่อว่า แล้วสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับเขาคือประเด็นไหนบ้าง ต้องทำอย่างไรที่จะส่งเสริมความเป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ จะมีคำถามตามมาเกี่ยวกับวิธีการนำไปปฏิบัติ ซึ่งบางทีคู่มือที่มีก็ไม่ได้อิงเข้ากับภาคธุรกิจจริงๆ โดยเฉพาะในกรณีของไทย ทำให้ไปต่อไม่ได้ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก
เราต้องคิดเหมือนคนผลิตสินค้าว่าขั้นที่หนึ่งถึงสิบคุณต้องทำยังไง เพื่อที่องค์กรธุรกิจจะได้ไปทำต่อได้ ทั้งหมดนี้อยู่ในช่วงการวางหลักสูตร กำหนดแล้วเสร็จไว้อย่างเร็วปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องร่วมมือกับภาครัฐ โดยตอนนี้ภาครัฐ คือกระทรวงยุติธรรม ในฐานะแม่งานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ กำลังทำร่างเอกสารฉบับหนึ่งเรียกว่าแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plans on Business and Human Rights) เพื่อขับเคลื่อนในระดับนโยบาย ทั้งนี้เป็นไปตามหลักการของ UN ว่าด้วยเรื่องของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่บอกบทบาทไว้ 3 ด้าน คือ หนึ่งภาครัฐจะต้องให้ความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน สองภาคเอกชนหรือธุรกิจมีหน้าที่ในการเคารพสิทธิมนุษยชน และสามจะต้องมีการเยียวยา ซึ่งนี่คือหน้าที่ทุกคนต้องมาช่วยกัน
และถ้าทุกบริษัทได้ไปตรวจสอบประเด็นสิทธิมนุษยชนในระบบการผลิตของตัวเองมาแล้วอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ก็จะรู้แล้วว่าอะไรเป็นปัญหา อะไรที่จะต้องปิดช่องว่าง อะไรที่ยังขาดยังเกิน รู้ว่าจุดอ่อน จุดแข็งของตัวเองอยู่ที่ไหน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะไปละเมิดสิทธิมนุษยชนได้”
Supply Chain Sustainability = การผลิตที่มีความรับผิดชอบ
Supply Chain Sustainability ผมเรียกว่ามันเป็นการผลิตที่รับผิดชอบ ซึ่งหมายความว่าคุณรับผิดชอบต่อคนงาน สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่หลักการบรรษัทภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตนั้นๆ ดังเช่น การที่คุณจะสามารถผลิตโทรศัพท์มือถือได้ 1 เครื่อง ซัพพลายเชนสำหรับชิ้นส่วนต่างๆ ที่มาประกอบร่างเป็นโทรศัพท์ของคุณมีอะไรบ้าง ในกรณีแรงงาน เคยลงไปสอดส่องดูแลไหมว่าโรงงานผลิตน็อตที่อาจจะตั้งอยู่ในต่างจังหวัดนั้นเขาใช้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายหรือแรงงานเด็กหรือเปล่า ดังนั้น กระบวนการผลิตหรือการทำธุรกิจของคุณจะยั่งยืนได้จะต้องมีการตรวจสอบรอบด้าน จะต้องทำแผนภูมิขึ้นมาก่อนว่าในห่วงโซ่อุปทานนั้นมีใครเป็นใครบ้าง แล้วคุณสามารถสอดส่องลงไปได้ถึงที่ไหน ถ้ายังไม่มีก็ควรจะต้องเร่งทำ เพราะว่ามันเป็นจุดอ่อน และเมื่อซัพพลายเชนคุณมีปัญหา สินค้าหรือธุรกิจบริการของคุณก็อาจจะมีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากปัญหาดังกล่าวอาจกลายเป็นประเด็นลุกลามใหญ่โตขึ้นมาได้
ดังนั้น การที่สมาชิกทั้ง 40 บริษัทของสมาคมฯ จะสามารถดำเนินธุรกิจยั่งยืนได้อย่างแท้จริงเขาจะต้องกลับไปดูในห่วงโซ่อุปทานของตัวเองด้วย ซึ่งหมายความว่าทุกบริษัทที่อยู่ในซัพพลายเชนนั้นก็จะต้องทำธุรกิจอย่างยั่งยืนตามไปด้วย เพราะตอนนี้กระบวนการผลิตของโลกซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ มีแหล่งผลิตจากทั่วโลก ซัพพลายเออร์กระจัดกระจาย บริษัทใหญ่จึงต้องมีบทบาทในการยกระดับให้บริษัทกลางและบริษัทเล็กสามารถปรับตัวได้ช่วยส่งเสริมให้บริษัททุกขนาดที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานสามารถทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้เช่นเดียวกัน
แนวทางส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนของเครือเจริญโภคภัณฑ์
สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งหลายบริษัทในเครือฯ เป็นสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยด้วย และต่างเป็นองค์กรใหญ่ มีซัพพลายเชนที่ซับซ้อน เราก็คงต้องพยายามที่จะสอดส่องที่จะลดปัญหาให้ได้มากที่สุด นำไปสู่โจทย์ที่ต้องทำ Human Rights Due Diligence เพื่อที่จะทราบว่าปัญหาหรือโอกาสในการเกิดปัญหาอยู่ตรงไหน ช่องว่างมันอยู่ตรงไหน อะไรที่ยังไม่ได้ทำ สิ่งที่เกิดขึ้นในเครือฯ ที่ทำแล้วคือการสำรวจหา Salient Human Rights Issue หรือประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญต้องเฝ้าระวัง ออกมาเป็น 5 ด้านที่จะต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก การเลือกปฏิบัติ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ส่งผลให้ของการจ้างแรงงานต่างชาติตอนนี้ ทาง CPF เป็นบริษัทที่คนงานอยากจะมาทำงานด้วย เพราะมีชื่อเสียงดี ให้สิทธิประโยชน์และผลตอบแทนดี ก็ช่วยได้ในแง่ความมีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือ