• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

ฟาร์มสุกรไทย ใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ


โดย นายสัตวแพทย์ดำเนิน จตุรวิธวงศ์

05 สิงหาคม 2562

ปัญหาเชื้อดื้อยาหรือการเจ็บป่วยโดยไม่มียารักษา เนื่องจากเชื้อโรคมีการพัฒนาตัวเองจนล้ำหน้ากว่ายาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลชีพที่มีบนโลกใบนี้ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ต่างให้ความสำคัญ เกิดเป็นนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญระดับโลกที่เรียกกันว่า “สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ One Health ที่ต้องคำนึงถึงสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

เมื่อเร็วๆ นี้มีโอกาสได้ต้อนรับคณะแพทย์ สัตวแพทย์ และนักวิชาการจากหลายประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี 2561 จัดโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นการประชุมที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพในประเด็นเกี่ยวกับการทำให้โลกปลอดภัยจากภัยคุกคามด้านโรคติดต่ออุบัติการณ์ใหม่ นับเป็นงานใหญ่ระดับชาติ

และนักวิชาการเหล่านี้ล้วนได้ชื่อว่าเป็นแขกของรัฐบาลไทย จึงเป็นอีกวาระหนึ่งที่ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในฐานะตัวแทนของเอกชนภาคปศุสัตว์ไทย ตัวแทนของประเทศไทยที่มีส่วนช่วยอธิบายถึงมาตรการต่างๆ ที่บริษัทได้ทำเพื่อลดโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยาในสังคมโลก ภายใต้ “นโยบายการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ” ที่ซีพีเอฟประกาศใช้ทั่วโลกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

การบริหารจัดการด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่มีส่วนในการใช้ยาต้านจุลชีพ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณสุขของคน การเลี้ยงปศุสัตว์ และการเกษตร เป็นความร่วมมือหนึ่งเดียวในการลดโอกาสเกิดเชื้อดื้อยาซึ่งซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในทุกประเทศ ที่บริษัทไปลงทุนด้านการเลี้ยงสัตว์ จึงประกาศเป็น “วิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์” ที่มีผลบังคับใช้กับฟาร์มของซีพีเอฟทั่วโลก

หลายคนถามว่า ทำไมไม่เลิกใช้ยาไปเลย? ทำไมไม่ประกาศว่าจะเลี้ยงสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะ?

คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเลี้ยงสัตว์ที่ดีมีมาตรฐานจะมุ่งเน้นทำให้สัตว์มีสุขภาพดีเป็นหลักเสมอ เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้ยารักษา โดยบริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการป้องกันโรค การจัดการฟาร์มที่ดี โรงเรือนที่ดี อาหารที่ดี และสายพันธุ์สุกรที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ได้ดำเนินการทุกอย่างตามที่กล่าวมาแล้วอย่างดีที่สุดแล้ว หากสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีการป่วยด้วยสาเหตุใดก็ตาม ด้วยจรรยาบรรณของสัตวแพทย์ไม่สามารถปล่อยให้สัตว์ต้องทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยนั้นได้ ต้องทำการรักษาสัตว์นั้นตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ซึ่งการปฏิบัติดังนี้ถือว่าเป็นหลักการของคำว่า “การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบ”

นโยบายด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์อย่างรับผิดชอบของซีพีเอฟ ประกอบไปด้วย 1.การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์และใช้เพื่อการรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น 2.หลีกเลี่ยงการใช้ยาเพื่อวัตถุประสงค์เร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ 3.ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าในการดูแลสัตว์เพื่อให้มีสุขภาพดี ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อลดความจำเป็นในการใช้ยาต้านจุลชีพ เป็นต้น

โดยบริษัทจะทำงานตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารโปรตีนทั่วโลก และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปกป้องสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม

ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟจะมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มที่ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์และสมาคมสัตวแพทย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ด้านการป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิดในฟาร์มจะมีมาตรการควบคุมที่รัดกุม ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือก การจัดซื้อ การใช้ ตลอดจนการติดตามผลการรักษา การตรวจสอบสารตกค้างในเนื้อสัตว์ การควบคุมดูแลการใช้ยาอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์จะครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตสุกร เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อสัตว์ดังกล่าวปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ส่วนคำถามที่ว่า“ยาต้านจุลชีพ” (Antimicrobial agents) หมายถึงยาที่มีผลยับยั้งหรือทำลายเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และพยาธิ ซึ่งครอบคลุมยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ด้วย เนื่องจากยาปฏิชีวนะมีผลยับยั้งทำลายเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น ยาปฏิชีวนะจึงเป็นเพียงหมวดหนึ่งของยาต้านจุลชีพนั่นเอง

Dr.Jaana Husu-Kallio ปลัดกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ประเทศฟินแลนด์ ที่ได้เข้าเยี่ยมชมระบบการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างรับผิดชอบของฟาร์มสุกร CPF ใน จ.ระยอง กล่าวถึงฟาร์มสุกรของไทยว่ามีการบริหารจัดการที่ดี และชื่นชมที่ซีพีเอฟได้ยกเลิกการใช้ยาโคลิสตินแล้ว

ทั้งนี้ “โคลิสติน” เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาอาการท้องเสียในสัตว์ที่ให้ผลดีมากตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่อมาในปี 2559 กรมปศุสัตว์ได้ออกบันทึกขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้ลดการใช้ยานี้

จากรายงานของต่างประเทศที่ว่า “ยาโคลิสตินสามารถก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง” ประกอบกับข้อมูลทางห้องแล็บก็พบว่าเชื้อที่เคยใช้ยานี้แล้วได้ผลดีนั้นก็มีอัตราการดื้อยาสูงขึ้น และยาโคลิสตินก็เป็นยาทางเลือกตัวสุดท้ายที่ใช้ในคนกรณีที่ใช้ยาอื่นๆ รักษาแล้วไม่ได้ผล ซีพีเอฟจึงยกเลิกการใช้ยาโคลิสติน

ปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะถือว่าเป็นปัญหาในระดับโลก และหากจะตั้งคำถามหาว่าอะไร หรือใคร คือต้นเหตุของปัญหา คงยากที่จะด่วนสรุป ณ ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าสาเหตุของปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องในทุกภาคส่วน ไม่ว่าการใช้แบบพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น การใช้ยามากเกินไป การใช้ยาไม่ตรงกับโรค การใช้ยาเถื่อนที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือแม้กระทั่งการใช้ยาปฏิชีวนะโดยที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และใช้โดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์หรือสัตวแพทย์

ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนคงต้องกลับไปดูแลในส่วนงานของตนเอง แล้วมุ่งเน้นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม คนป่วยและสัตว์ป่วยก็ล้วนมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาเท่าเทียมกัน แต่การรักษาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์และสัตวแพทย์ เพื่อให้การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นไปอย่างถูกต้อง ลดปัญหาเชื้อดื้อยาลงให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ รวมถึงสิ่งแวดล้อมบนโลกของเรา


ABOUT THE AUTHOR
นายสัตวแพทย์ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ 
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส 
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

ข่าวยอดนิยม

เครือเจริญโภคภัณฑ์บริษัทข้ามชาติแห่งแรกในจีนจดทะเบียนการค้าหมายเลข 000...

17 พฤษภาคม 2560
26573

การบริหารงานบุคคลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในยุค 4.0...

08 พฤศจิกายน 2560
21869

โครงการเลี้ยงไก่ไข่อาหารกลางวันนักเรียน การ “ให้” อย่างมีคุณค่า ทั้งด้...

03 กรกฎาคม 2558
20470

Cage Free Eggs ไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภ...

18 กรกฎาคม 2562
12431

แชร์ข่าวสาร

เปิดใจซีพีเอฟอาสาร่วมพิทักษ์ป่า 'เขาพระยาเดินธง'... เทรนด์เทคโนโลยีหุ่นยนต์กับแนวทางการดำเนินธุรกิจด้านหุ่นยนต์ข...

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

“มาริษา เจียรวนนท์” บนเส้นทางรังสรรค์ อาหารเพื่อสังคม ผ่านมูลนิธิ CHEF...

23 พฤศจิกายน 2564
3781

สูตรรอด 'CPF' อยู่ร่วมโควิด กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ...

30 สิงหาคม 2564
3526

ทำความรู้จัก “สบขุ่นโมเดล”: CP ร่วมพัฒนา พลิกเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป...

13 กรกฎาคม 2564
4294

CP ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อน Social Enterprise ผู้นำหญิงนักพัฒนา ก้าวสู่ชุมช...

07 กรกฎาคม 2564
4173

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th