"ผมเป็นคนบ้านนอก บ้านเกิดอยู่โคราชฯ ที่บ้านมีอาชีพทำนา อยู่กับท้องไร่ท้องนามาตั้งแต่เด็ก ทำให้ซึมซับความเป็นธรรมชาติ คุ้นชินกับต้นข้าวที่เขียวเต็มนา ต้นไม้ ป่าไม้ มาเห็นป่าถูกทำลาย อยากเป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมสร้างผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ จึงได้รับโอกาสจากผู้บริหารของซีพีเอฟร่วมเป็นคณะทำงานซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง"
เริ่มทำงานกับซีพีเอฟ (บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) มาตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันเป็นผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจไก่เนื้อ จะมาแชร์ประสบการณ์ และสิ่งที่ภาคภูมิใจ จากการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่ ภายใต้โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง
ภารกิจประจำคือ ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมของสายฟาร์ม ส่วนหน้าที่หลักที่่รับผิดชอบอยู่ในฐานะคณะทำงานของโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง คือ สำรวจพื้นที่ปลูกป่า วางแผนการปลูก ประสานเรื่องแหล่งพันธุ์ไม้ สอนวิธีการปลูก การดูแลรักษา และสอนเรื่องของการวัดการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับคนในฟาร์ม เพราะมีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ด้านพืชศาสตร์และภูมิทัศน์มาอยู่แล้ว หลังจบการศึกษาระดับ ปวส. พืชศาสตร์ จากวิทยาลัยเกษตรบุรีรัมย์ และปริญาตรี 2 ใบ ด้านส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ และธุรกิจการเกษตร จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ทำให้ได้รับโอกาสจากผู้บริหารซีพีเอฟให้ร่วมเป็นคณะทำงาน "ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่ ที่ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และซีพีเอฟ
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของโครงการฯเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมจำได้ว่า เมื่อ 5 ก.พ. 2559 คณะสำรวจรุ่นบุกเบิกที่มี คุณนพดล ศิริจงดี ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นประธานคณะทำงานฯ คุณชาตรี รักษาแผน ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ นำคณะสำรวจลงพื้นที่เขาพระยาเดินธงครั้งแรก ผมมีโอกาสร่วมคณะไปด้วยในวันนั้น สิ่งที่เห็นและยังติดอยู่ในใจจนถึงทุกวันนี้ คือ ป่าที่นั่นแทบไม่เหลือสภาพของป่าดิบแล้ง มีแต่ฝุ่น กรวด หิน ให้เห็น พวกเราเห็นร่องรอยของร่องนํ้าที่มีแต่ก้อนหินก้อน ก้อนเล็ก ก้อนน้อยเป็นแนวยาว ซึ่งไม่มีความลึกเลย ไม่สามารถเก็บนํ้าในหน้าฝนเพื่อรักษาความชุ่มชื้นไว้ให้ดินในหน้าแล้งได้อย่างแน่นอน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เข้าสู่ปีที่ 4 ของโครงการฯ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการเป็นคณะทำงานซีพีเอฟรักษ์นิเวศ และเป็นหนึ่งในจิตอาสาที่ร่วมฟื้นฟูและปลูกป่าในพื้นที่ดังกล่าวให้เติบโตขึ้นมาใหม่ คือ ความตั้งใจจริง ความต่อเนื่อง และความสมัครสมานสามัคคีของเพื่อนพนักงาน ที่ไม่ว่าจะเรียกระดมกำลังกันเมื่อไหร่ สามารถระดมจิตอาสามาช่วยกันได้เกินกว่าเป้าหมายทุกครั้ง นอกจากนี้ มีโอกาสได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ออกแบบและจัดภูมิทัศน์ในพื้นที่โครงการเขาพระยาเดินธง เลือกต้นไม้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพดิน ปริมาณน้ำที่ใช้ ปรับพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ช่วยออกแบบและดูแลเรื่องการปลูกต้นไม้ที่โรงงานแปรรูปสระบุรี
นอกเหนือจากภารกิจประจำที่ต้องรับผิดชอบที่ฟาร์ม ได้แบ่งเวลาเพื่อเข้ามาติดตามงานที่โครงการฯสัปดาห์ละประมาณ 1-2 วัน ทุกครั้งที่เข้าป่า จะรู้สึกภาคภูมิใจ ที่เห็นป่าตอนนี้ ต้นไม้โตขึ้นเรื่อยๆ หนาแน่นขึ้น ขณะเดียวกันประสบการณ์จริงจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า คือ ได้เรียนรู้เรื่องการปลูกป่าจากผู้ชำนาญการด้านนี้จริงๆ ได้เรียนรู้นวัตกรรมการปลูกป่า 4วิธี ที่ถูกนำมาใช้ในการปลูกป่าที่นี่ คือ 1.ปลูกป่าแบบพิถีพิถัน (จัดทำระบบให้น้ำแบบหยดทั่วทั้งแปลง) 2. ปลูกป่าเชิงนิเวศ เป็นการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ ไม่มีระบบน้ำหยด 3.ปลูกป่าแบบเสริมป่า พื้นที่มีแม่ไม้และลูกไม้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไม่กระจายทั่วพื้นที่ จึงต้องปลูกต้นไม้เสริมและกำจัดเถาวัลย์ที่ปกคลุมเรือนยอดเปิดให้แสงส่องถึงลูกไม้ที่อยู่พื้นดิน และ 4. การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยย่นระยะเวลาการฟื้นฟูป่าให้เร็วขึ้นกว่าการปล่อยให้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ และทุกวันนี้ ผมได้นำประสบการณ์จากการร่วมกิจกรรมโครงการปลูกป่ามาใช้กับงานประจำ เนื่องจากพื้นที่ฟาร์มบางฟาร์มมีพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการเขาพระยาเดินธง จึงได้นำการปลูกป่า 4 วิธี มาปรับใช้ในฟาร์มด้วย