• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะมาช่วยเสริมศักยภาพในการประกอบธุรกิจยุคดิจิทัล


โดย ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร

24 กรกฎาคม 2562

คอมพิวเตอร์ยุคสมัยแรกถูกออกแบบเพื่อคำนวนค่าต่างๆ โดยเฉพาะการคำนวนที่เกี่ยวข้องกับการสงคราม มันถูกใช้คำนวนวิถีการยิงตอร์ปิโดใต้น้ำสู่เรือเป้าหมาย หรือคำนวนสูตรระเบิดไฮโดรเจน หลักการเคลื่อนที่สัมพันธ์ ตรีโกณมิติ และ พีชคณิต รวมถึงสูตรทางคณิตศาสตร์อื่นๆ ถูกกำหนดไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ทันทีที่ได้รับโจทย์คอมพิวเตอร์ก็สามารถหาผลลัพธ์กลับได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว สมัยนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์คือสุดยอดเครื่องมือของนักคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านการคำนวน

เมื่อเวลาผ่านไป คอมพิวเตอร์ถูกใช้งานแพร่หลายมากขึ้น มีการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ สามารถบันทึกข้อมูลเก็บไว้ได้ คำนวนได้รวดเร็วมากกว่าเดิม คิดโจทย์ที่ซับซ้อนได้มากขึ้น มนุษย์เริ่มตั้งคำถามถึงศักยภาพของคอมพิวเตอร์ในแง่มุมต่างๆ เป็นต้นว่า นอกจากคำนวนตัวเลขได้แล้วคอมพิวเตอร์สามารถคิดตัดสินใจได้เหมือนมนุษย์หรือไม่? เป็นไปได้ไหมที่จะใส่อารมณ์และความรู้สึกลงไปไว้ในคอมพิวเตอร์? หรือสามารถให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ไหม? คำถามดังกล่าวทำให้เกิดสาขาใหม่ทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ขึ้นมา มีชื่อเรียกว่า Artificial Intelligent หรือย่อสั้นๆ ว่า AI

AI คือสมองกลหรือปัญญาในแบบฉบับของเครื่องจักร ซึ่ง AI ตัวแรกของโลกได้นำเอาเทคนิคทางสถิติมาประยุกต์เพื่อสร้างโปรแกรมหมากฮอส ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถคิดเองได้ว่าจะวางตาหมากอย่างไรให้ชนะผู้เล่นที่เป็นมนุษย์ โปรแกรมหมากฮอสในยุคแรกนี้แม้จะเล่นแพ้เป็นส่วนใหญ่ แต่ได้จุดประกายให้กับนักวิทยาศาสตร์ทางด้านคอมพิวเตอร์ และดึงดูดการลงทุนอันมหาศาลจากภาครัฐและเอกชน

ในยุคแรก AI ส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคในการเขียนโปรแกรมเลียนแบบพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถคิดได้ราวกับว่ามันมีสมองหรือปัญญา เช่น มีการศึกษาการขนอาหารของฝูงมดไปเก็บที่รัง ถ้าเอาของไปขวางทางเดินมัน ทำไมมดจึงรู้ว่าต้องเดินไปทางไหนถึงจะใกล้ที่สุด? ในยุคนั้นจึงมีการร่วมมือกันระหว่างนักชีววิทยาและนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เพื่อถอดรหัสในการขนอาหารของมด ประยุกต์จนกลายเป็นโปรแกรมวางแผนเส้นทางขนส่ง นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือระหว่างนักภาษาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างโปรแกรมที่สามารถพิมพ์คุยโต้ตอบกับมนุษย์ได้โดยวิเคราะห์คำในประโยคที่ถูกป้อนเข้ามาแล้วเลือกคำตอบที่สอดคล้องกลับไป สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ใช้งานว่าคอมพิวเตอร์นั้นสามารถเข้าใจข้อความของมนุษย์ได้ด้วย ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็ได้มีความพยายามจำแนกแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ออกเป็นระบบขั้นตอน และโปรแกรมลงบนระบบผู้เชี่ยวชาญ (expert system) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเองเบื้องต้นราวกับมีผู้เชี่ยวขาญคอยให้คำแนะนำอยู่ใกล้ๆ เป็นต้นว่า ถ้าลำโพงไม่มีเสียง โปรแกรมจะแนะนำให้สำรวจว่าเสียบสายเคเบิลเรียบร้อยดีไหม ติดตั้งไดรเวอร์หรือยัง 

เมื่อเวลาผ่านไป ศาสตร์ของ AI นั้นได้แตกย่อยออกไปอีกหลายสาขาวิชา ในส่วนที่เรียกว่า Machine Learning นั้น คอมพิวเตอร์สามารถคิดและเรียนรู้เองได้ด้วยตนเองจากข้อมูลที่ให้ไว้  ยิ่งข้อมูลที่ให้ไว้มีจำนวนมากเท่าไหร่ AI ก็จะยิ่งฉลาดมากขึ้นเท่านั้น ก่อนหน้านี้เราอาจถูกรบกวนด้วยอีเมล์ขยะอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งผู้ใช้งานบางกลุ่มได้แจ้งไปยังส่วนกลางเมื่อพบอีเมล์ขยะ เมื่อได้รับรายงานจำนวนมากพอ ระบบก็สามารถกรองอีเมล์ขยะออกจากอีเมล์อื่นๆ ได้โดยดูจากเนื้อหาของอีเมล์ เทคนิคเดียวกันนี้ได้นำไปใช้กับการวิเคราะห์โซเชียลมีเดียเพื่อดูว่าผู้คนกำลังตำหนิหรือชมเชยสินค้าโดยที่ไม่ต้องให้พนักงานฝ่ายการตลาดคอยเฝ้ามองหน้าจอตลอดเวลา ใช้จำแนกประเภทของลูกค้าออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามลักษณะการซื้อของ ใช้แสดงโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายตามพฤติกรรมการท่องเน็ต ตลอดจนใช้หาจุดการก่อตัวของมะเร็งจากแผ่นฟิล์มเอ็กซเรย์ ทั้งหมดนี้โปรแกรมเมอร์ไม่ต้องทำการโปรแกรมทีละขั้นตอนเหมือนในอดีตอีกต่อไป เพียงแต่จัดเตรียมข้อมูลให้เหมาะสมเพื่อให้คอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้

การพัฒนา AI ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน AI นิยมใช้เทคนิค Deep Learning ที่เลียนแบบรูปแบบการคิดของสมองมนุษย์ ซึ่งแท้จริงแล้วแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีความพยายามเลียนแบบการทำงานของเครือข่ายประสาทในสมองขึ้นตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่มี AI แล้ว แต่ด้วยประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์สูงขึ้น จึงสามารถจำลองเครือข่ายให้ซับซ้อนหลายชั้นมากขึ้น ทำให้ศักยภาพของ AI พุ่งทยานขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันเราสามารถบอกเป้าหมายให้ว่าต้องการอะไร ที่เหลือ AI สามารถคิดและตัดสินใจได้เองได้ด้วยตนเอง

เดิมทีมีการคาดการณ์ว่าคอมพิวเตอร์ไม่สามารถที่จะเอาชนะมนุษย์ได้ในเกมหมากล้อม เนื่องจากการวางหมากแต่ละเม็ดนั้นต้องอาศัยวิสัยทัศน์ตั้งแต่ต้นจนจบเกม แต่ด้วยเทคนิคของ Deep Learning ที่มีการจัดเตรียมข้อมูลการเดินหมากจำนวน 30 ล้านรูปแบบใส่เข้าไปเพื่อให้ AI รู้จักรูปแบบการเดินหมากที่ดีที่สุด และทำการเรียนรู้โดยการเล่นแข่งกับตัวเอง ตัวไหนชนะก็จะทำการก็อปปี้ตัวนั้นมาเป็นคู่แข่งรายต่อไปนับสิบล้านกระดาน เมื่อมาแข่งกับมนุษย์ AI ก็สามารถเอาชนะแชมป์โลกได้อย่างขาดลอย 

ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ Deep Learning สู่โดเมนต่างๆ โดย AI สามารถแต่งเพลงให้สอดคล้องกับแต่ละฉากของภาพยนตร์ได้อย่างอัตโนมัติ สามารถเรียบเรียงสาระสำคัญจากบทความวิชาการเกี่ยวกับแบตเตอรี่ตลอดสามปีที่ผ่านมารวมเป็นหนังสือให้มนุษย์อ่านได้ สามารถเขียนบทความได้เองจากหัวข้อที่กำหนดให้ สามารถสร้างภาพถ่ายปลอมของคนที่ไม่ได้มีตัวตนอยู่บนโลก สามารถแยกแยะผู้คนและระบุชนิดของสิ่งต่างๆ ที่เคลื่อนไหวผ่านกล้อง สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมได้ ตลอดจนสามารถแปลอักขระโบราณที่เป็นปริศนาของนักโบราณคดีมาช้านาน

ทั้งหมดนี้คือผลงานของ AI ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา จากนี้ต่อไปศักยภาพของ AI จะเข้มข้นขึ้นอย่างมาก และมีบทบาทในทุกๆ เรื่อง องค์กรธุรกิจที่ค้นพบการใช้ AI เพื่อยกระดับงานของตัวเองจะได้เปรียบเหนือคู่แข่งในทุกๆ แง่มุม ในทางตรงกันข้าม องค์กรที่ละเลยศักยภาพส่วนนี้ไปหรือตามเทคโนโลยีไม่ทันก็จะถูก disrupt อย่างแน่นอน


ABOUT THE AUTHOR
ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร 
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)

ข่าวยอดนิยม

เครือเจริญโภคภัณฑ์บริษัทข้ามชาติแห่งแรกในจีนจดทะเบียนการค้าหมายเลข 000...

17 พฤษภาคม 2560
26576

การบริหารงานบุคคลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในยุค 4.0...

08 พฤศจิกายน 2560
21871

โครงการเลี้ยงไก่ไข่อาหารกลางวันนักเรียน การ “ให้” อย่างมีคุณค่า ทั้งด้...

03 กรกฎาคม 2558
20471

Cage Free Eggs ไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภ...

18 กรกฎาคม 2562
12442

แชร์ข่าวสาร

CPPC กับแนวทางการพัฒนา ‘บรรจุภัณฑ์’ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อ... เมื่อการโค้ชไม่ใชการสอนงาน...

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

“มาริษา เจียรวนนท์” บนเส้นทางรังสรรค์ อาหารเพื่อสังคม ผ่านมูลนิธิ CHEF...

23 พฤศจิกายน 2564
3784

สูตรรอด 'CPF' อยู่ร่วมโควิด กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ...

30 สิงหาคม 2564
3529

ทำความรู้จัก “สบขุ่นโมเดล”: CP ร่วมพัฒนา พลิกเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป...

13 กรกฎาคม 2564
4297

CP ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อน Social Enterprise ผู้นำหญิงนักพัฒนา ก้าวสู่ชุมช...

07 กรกฎาคม 2564
4174

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th