กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ บริษัท CPPC จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อปี 2532 โดยดำเนินการเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งภารกิจหลักคือการมุ่งเน้นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากนั้นยังรับผลิตและพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วไปอีกด้วย โดยโรงงานของกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ CPPC ในประเทศไทยมีอยู่ 4 แห่งด้วยกัน
ภารกิจหลักในการทำงานว่า ทุกโรงงานผลิตของกลุ่ม CPPC ล้วนมีนโยบายเดียวกัน นั่นคือความพยายามที่จะนำเทคโนโลยีการผลิตอันสมัยใหม่เข้ามาเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ด้วยประสิทธิภาพสูงที่สุด และยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย
“หน้าที่หลักของเราในการคิดค้นหรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์มี 2 ส่วน คือ หนึ่งต้องตอบสนองนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ด้วยหลัก 5Rs ของ CEO คุณศุภชัย เจียรวนนท์ สำหรับส่วนที่สองเนื่องจากเราเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระสอบพลาสติกที่มีการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไม่ว่าในแนวทางใดก็ตาม หน้าที่หลักของบรรจุภัณฑ์ก็ยังต้องคงอยู่ นั่นคือต้องสามารถป้องกันและถนอมรักษาผลิตภัณฑ์ที่อยู่ข้างในได้ในช่วงระยะเวลาตาม Shelf-Life ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
“ฉะนั้นในการพัฒนาจะต้องมีความแตกต่างหลากหลาย มีจุดเด่นที่ผู้ผลิตคู่แข่งยังไม่สามารถทำได้ หรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา หรือเพื่อเพิ่มยอดขายโดยการลดต้นทุนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับหลักการ Reduce อาทิ การลดน้ำหนักกระสอบให้เบาลงหรือบางลง ลดปริมาณสีจากที่เคยพิมพ์ 3 สี ให้เหลือเพียงสีเดียว หรือลดการใช้ด้ายเย็บกระสอบด้วยการใช้เทคนิคเย็บแบบ Ultrasonic Heat Seal แทน ซึ่งการลดเหล่านี้ ท้ายที่สุดบรรจุภัณฑ์กระสอบที่ได้ยังคงต้องผ่านมาตรฐานการใช้งานต่างๆ ของลูกค้าเสมอ
“สำหรับหลักการ Recycle ทางบริษัทก็ได้ดำเนินการในลักษณะ Upcycling วัตถุดิบประเภทพลาสติก โดยการแปรสภาพไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อนำกลับมาใช้ในโรงงานได้สักระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือการนำของเสียระหว่างกระบวนการผลิต หรือสินค้าสำเร็จรูปที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ต้องคัดทิ้ง เช่น พิมพ์เลอะ ภาพพิมพ์เบลอ หรือสีพิมพ์ Off Spec เหล่านี้นำไปหลอมเหลวแล้วนำกลับมาขึ้นรูปใหม่เป็นพาเลตพลาสติก (Plastic Pallet) เพื่อนำกลับมาใช้ในโรงงาน นับว่าเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะปล่อยสู่ห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์ได้อีกทางหนึ่ง
“อีกประเด็นหนึ่งที่ทางบริษัทให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม คือ ‘การส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint) ของผลิตภัณฑ์’ ซึ่งนับได้ว่าเราเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมการผลิตกระสอบพลาสติกที่ได้ขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตเพื่อจำหน่าย ไว้กับ ‘องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก’ (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี แล้ว เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่จะติดบนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไร ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจชื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นต์ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย
“ส่วนเป้าหมายในระยะยาว สำหรับแนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น จะไม่ใช่แค่การ Reduce หรือ Recycle แต่หมายถึงการจะต้อง Replace คือการหาสิ่งมาทดแทน ทั้งในรูปของวัตถุดิบที่จะมาทดแทนเม็ดพลาสติกจากปิโตรเลียม เป็นเม็ดพลาสติกที่มาจากธรรมชาติ ที่เรียกว่า Bio-plastic หรือ Bio-based ซึ่งความสามารถในการย่อยสลายได้ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมได้ รวมทั้งการทดแทนทั้งในรูปของระบบอัตโนมัติมากขึ้นเพื่อมาทดแทนแรงงานคนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือการทดแทนพลังงานความร้อนจากไฟฟ้า โดยการใช้ระบบโซลาร์เซลล์จากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นต้น
“รวมทั้งการก้าวสู่แนวทาง Reinvent บรรจุภัณฑ์แบบใหม่ๆ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของไทยแลนด์ 4.0 และตรงความต้องการของผู้บริโภคในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด หรือแบบ Disruptive ต่อไป”
ที่มา : วารสารบัวบานฉบับที่ 9