เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลักด้านการเกษตร โดยมีหลักคิดว่า ‘เกษตรกรคือคู่ชีวิต’ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ได้กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ปี 2020 ด้านคุณค่าทางสังคม ด้วยการส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย จึงมีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทในเครือฯ ทำประกันภัยให้กับเกษตรกร ในโครงการเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่เกษตรกร ซึ่งกล่าวได้ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ประกอบการรายแรกในระบบ Contract Farming ของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารความเสี่ยงแทนเกษตรกรรายย่อยทั้งในประเภทประกันรายได้ หรือแบบฝากเลี้ยง และประเภทประกันราคา
เครือเจริญโภคภัณฑ์มีการทำประกันภัยให้กับเกษตรกรคู่สัญญาทั้งที่กฎหมายไม่ได้บังคับและเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด โดยปัจจุบัน บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ได้เดินหน้าตามนโยบายประกันภัยให้แก่เกษตรกร Contract Farming ได้ทำประกันภัยแก่เกษตรกรรายย่อยทั้งหมดที่อยู่ในโครงการ Contract Farming ของซีพีเอฟ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวนเกือบ 6,000 ราย
บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ได้จัดทำประกันภัยอาคารโรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยง และสต็อกสินค้าสิ่งมีชีวิตให้แก่เกษตรกร ให้การสนับสนุนการประกันภัยเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพแก่เกษตรกรรายย่อย โดยไม่รวมเกษตรกรรายใหญ่ (ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนและดำเนินธุรกิจในลักษณะเป็นตัวแทน) ภายใต้โครงการสัญญาการเลี้ยงแบบฝากเลี้ยงและประกันราคาของบริษัทฯ เริ่มต้น ฉบับแรกเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเริ่มมีการเอาประกันภัย ปีที่ 1 ระยะเวลา 1 กันยายน 2560 - 1 สิงหาคม 2561 และปีที่ 2 ระยะเวลา 1 สิงหาคม 2561 - 1 สิงหาคม 2562
สำหรับโครงการสัญญาแบบฝากเลี้ยงนั้น บริษัทจะสนับสนุนการทำประกันภัยในส่วนของอาคารโรงเรือน ซึ่งได้แก่ 1. ไก่พื้นเมือง 2. ไก่กระทง 3. เป็ดไข่ 4. สุกรพันธุ์ 5. สุกรพันธุ์ - ทดแทน 6. สุกรขุน ส่วนสัญญาแบบประกันราคา จะสนับสนุนการทำประกันภัยอาคารโรงเรือนและสต็อกสินค้าสิ่งมีชีวิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งได้แก่ 1. ไก่กระทง 2. ไก่ไข่ 3. เป็ดเนื้อ
ในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน ซึ่งปัจจุบันทำกับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) คุ้มครองอาคาร โรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยง และระบบสาธารณูปโภคของเกษตรกรรายย่อย โดยมีค่าเบี้ยประกันภัย 0.084 % ความคุ้มครองตามระบุภัยที่กำหนดไว้ภายใต้กรมธรรม์ กรณีมีความเสียหายจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยระเบิด ชดเชยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินทุนประกันภัย ความเสียหายจากการจลาจล นัดหยุดงาน เจตนาร้าย ชดเชยตามความเสียหายจริง แต่ไม่เกินทุนประกันภัย ขณะที่กรณีเกิดภัยธรรมชาติ เช่น พายุ แผ่นดินไหว ลูกเห็บ น้ำท่วม จะให้ความคุ้มครองตามประเภทของภัยภายใต้วงเงิน 500 ล้านบาท ต่อครั้ง และไม่เกิน 1,000 ล้านบาท /ต่อปี กรณีความเสียหายต่อระบบไฟฟ้า จากการลัดวงจร การใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง 50 ล้านบาท ต่อครั้ง และไม่เกิน 100 ล้านบาท /ต่อปี อย่างไรก็ตาม เฉพาะส่วนภัยน้ำท่วมมีเงื่อนไขเรื่องความรับผิดส่วนแรกอยู่ที่ 10% ของความเสียหาย หรือขั้นต่ำ 50,000 บาท ต่อครั้ง ซึ่งหมายความว่าถ้ามีความเสียหายส่วนนี้เกิดขึ้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายก่อนเคลม
ด้านการประกันภัยสต็อกสิ่งมีชีวิต บริษัทรับประกันภัย ได้แก่ บริษัท อลิอันซ์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) คุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิดจากสาเหตุภายนอก รวมกรณีที่ส่งผลให้สัตว์ขาดอากาศหายใจ ภายใต้ Global Property Program แต่ยกเว้นสัตว์ที่ตายจากโรค โดยหากเกิดความเสียหาย อัตราค่าเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 0.063% โดยมีค่าความรับผิดส่วนแรก 10,000 เหรียญสหรัฐต่อครั้ง และทุกครั้ง ขณะที่มูลค่าการชดใช้จ่ายตามต้นทุนการเลี้ยง ณ วันเกิดเหตุ
สำหรับรายละเอียดการจัดประกันภัยปีแรกภายใต้สัญญาแบบฝากเลี้ยง ในปีแรกบริษัทช่วยเหลือเกษตรกรชำระค่าเบี้ยประกันภัยในช่วงเวลา 11 เดือน ทั้งในส่วนสัญญาแบบฝากเลี้ยงและประกันราคาเป็นเงินรวมอยู่ที่ราวๆ 8.2 ล้านบาท ขณะที่ปีที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นอายุประกันเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา จำนวนเบี้ยประกันที่ชำระเพิ่มขึ้นเป็น 8,918,184 บาท จำนวนเกษตรกรทำประกันภัยปีนี้อยู่ที่ 5,234 ราย
มาถึงหมวดของการเรียกร้องค่าสินไหม ในปีกรมธรรม์แรกได้รับรายงานความเสียหายทั้งสิ้น 14 ราย มาจาก 3 โครงการส่งเสริมเกษตรกร โดยภาพรวมความเสียหายที่ได้รับแจ้งเป็นเงินทั้งสิ้น 876,772 บาท ได้รับค่าสินไหมทดแทน 764,772 บาท โดยปัจจุบัน ได้รับการชดใช้จากกรุงเทพประกันภัยไปแล้ว 7400,000 บาท คงค้างอยู่ประมาณ 20,000 บาท
จากนโยบายดังกล่าวเท่ากับว่าตอนนี้เกษตรกรรายย่อยที่อยู่กับโครงการ Contract Farming ของซีพีเอฟทุกรายที่มีการทำประกันภัยและเมื่อเกิดความเสียหายตามภัยที่คุ้มครองได้ก็จะสามารถเคลมค่าสินไหมได้
ส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่มีการรับประกันสต็อกสิ่งมีชีวิต เราจึงต้องนำเข้ามาทำประกันรวมกับทรัพย์สินของเครือฯ โดยให้ความคุ้มครองแบบเดียวกัน เป็นกรณีไฟไหม้ ภัยธรรมชาติ ความเสี่ยงภัยจากภายนอก แต่ก็มีกรณีพิเศษที่เราพยายามเพิ่มขึ้นมา เช่น บางทีเกิดระบบไฟฟ้าช็อตทำให้เครื่องปรับอากาศขัดข้องแล้วสัตว์ขาดอากาศหายใจ หรือเคยมีเคสงูเข้าไปในโรงเรือนแล้วสัตว์ตกใจตาย ถึงแม้ตัวสัตว์จะไม่ได้โดนไฟไหม้แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในความคุ้มครองได้
สมัยก่อนบริษัทประกันอาจจะมีหลักเรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินที่เอาประกัน แต่พอมาตอนนี้บริษัทเราทำประกันโดยพยายามยกผลประโยชน์ให้เกษตรกร และเป็นผู้เอาประกันเลย ซึ่งทางประกันภัยเองก็สามารถวัดตรงนี้ได้ กับกรุงเทพประกันภัยถือเป็นพันธมิตรทางการค้า เวลามีเคลม บางเคสในทางประกันอาจจะเคลมไม่ได้ ก็ต้องอาศัยว่าเชื่อใจกัน และมองภาพใหญ่ร่วมกัน คือช่วยเหลือเกษตรกรเป็นหลัก
ตอนนี้สิ่งที่ต้องทำมากที่สุดคือ การให้ความร่วมมือ การให้ความรู้ แล้วก็การพัฒนาระดับของภัยที่รับประกัน เช่น สภาพโรงเรือนให้มีมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้นๆ ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน ถ้าสามารถทำได้ การประกันภัยจะช่วยยกระดับภาคการเกษตรได้เลย เพราะที่ผ่านๆ มา ถึงแม้เราบอกว่าต้องทำประกัน แต่บางทีเกษตรกรไม่มีกำลังที่จะทำ เพราะเบี้ยมันแพง ถ้าเทียบกับต่างประเทศที่มีระบบประกันที่พัฒนาแล้ว ค่าเบี้ยของเขาจะถูกกว่าเรา
อ้างอิงจาก : วารสารบัวบานฉบับที่ 8