นับเป็นข่าวดีที่ทำให้เกษตรกรไทยยิ้มได้ เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 โดยภาครัฐก้าวเข้ามามีบทบาทในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และฝ่ายเกษตรกร รวมถึงกำหนดกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
ซีพีเอฟได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธ-สัญญาและจัดทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ. เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันซีพีเอฟมีเกษตรกรในระบบ Contract Farming อยู่ 5,960 คู่สัญญาครอบคลุมการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร โดย 60% ของจำนวนคู่สัญญานี้เป็นเกษตรกรที่อยู่กับบริษัทมายาวนานกว่า 10 ปี
ความจริงแล้ว Contract Farming ซีพีนำแนวทางนี้เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านตั้งแต่พ.ศ. 2518 หรือ 40 กว่าปีแล้ว โดยส่งเสริมโครงการเลี้ยงไก่กระทงที่อำเภอศรีราชา มีเกษตรกรเข้าร่วมอยู่ประมาณ 200 ราย รายละ 10,000 ตัว ท่านประธานธนินท์บอกว่า ‘เกษตรกรคือคู่ชีวิต’ เกษตรกรก็คือพาร์ตเนอร์ชิปของเรา เพราะฉะนั้นในการทำธุรกิจ จะต้องได้รับประโยชน์ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และบริษัท เพราะถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้ บริษัทก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน
ระบบสหกรณ์ - ระบบเกษตรพันธสัญญา
ในระดับโลก การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรมี 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ แนวทางจากฝั่งยุโรป นิยมส่งเสริมอาชีพเกษตรกรโดยใช้ระบบสหกรณ์ คือ ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อการเลี้ยงสัตว์ การบริหาร การผลิต การตลาด ไปจนถึงการจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค และแนวทางจากทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่ส่งเสริมระบบ Contract Farming โดยถือว่าผู้ซื้อกับผู้ขายทำธุรกิจร่วมกัน มีการแบ่งหน้าที่กันทำ และมีข้อตกลงร่วมกัน
“Contract Farming สามารถที่จะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เมื่อเกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิกโครงการของเรา จะได้รับความรู้ ได้โนว์ฮาว เทคโนโลยีต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะสถาบันการเงินก็พร้อมที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับเกษตรกรที่ทำ Contract Farming และแน่นอนว่าสุดท้ายคือผลิตแล้วมีตลาดรองรับแน่นอน”
นอกจากนี้บริษัทยังได้พัฒนาปรับปรุงสัญญาโดยอิงแนวทางสากลของ UNIDROT (The International Institute for the Unification of Private Law) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก มาสร้างมาตรฐานการดำเนินโครงการคอนแทร็กฟาร์มที่ดี ให้ความสำคัญกับเกษตรกรในฐานะพันธมิตรธุรกิจที่เติบโตไปด้วยกัน สัญญา Contract Farming ของซีพีเอฟจึงได้รับการประเมินจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ามีความเป็นธรรมและเป็นสากล ขณะเดียวกัน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังให้การยอมรับโดยนำไปเป็นตัวอย่างในหลายประเทศด้วย
ประการสำคัญ ซีพีเอฟในส่วนของภาคปศุสัตว์เป็นรายแรกที่ ‘ประกันภัย’ รองรับความเสี่ยงแทนเกษตรกรรายย่อยในประเภทประกันรายได้ (หรือฝากเลี้ยง) โดยเพิ่ม ‘การประกันภัย’ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรงเรือนและอุปกรณ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเกษตรกรหากเกิดภัยพิบัติ
ตามปกติเกษตรกรรายใหม่จะมีเงื่อนไขของสถาบันการเงินให้ทำประกันโรงเรือนและอุปกรณ์เป็นเวลา 8 ปี แต่หลังจากชำระหนี้เงินกู้ครบถ้วน เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะไม่ทำประกันต่อ ซึ่งถ้าเกิดอะไรขึ้นมา เช่น ไฟไหม้ เขาหมดอาชีพเลยนะ บริษัทจึงมีแนวคิดที่จะช่วยรองรับความเสี่ยงตรงนี้แทนเกษตรกรเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้
นับเป็นสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้งของระบบ Contract Farming เพราะถือได้ว่าซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกและบริษัทเดียวในเมืองไทยที่ทำประกันภัยให้เกษตรกร
อ้างอิงจาก : วารสารบัวบานฉบับที่ 8