Animal Welfare ซึ่งเป็นหลักสวัสดิภาพสัตว์ ที่เริ่มต้นมาจากสหภาพยุโรป ที่ผู้บริโภคมีความรู้และตื่นตัวกับความปลอดภัยในอาหาร โดยยินดีจ่ายเงินเพิ่มกับสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจ และมีความรับผิดชอบทุกขั้นตอน กระทั่งวันนี้ได้กลายเป็นกระแสในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากกระบวนการผลิตอย่างรับผิดชอบ และมีสวัสดิภาพสัตว์สูง (High welfare products)
สำหรับประเทศไทย ได้นำมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อ ที่ลูกค้าทั่วโลกต่างให้การยอมรับว่าไทยมีความเข้มแข็งเลี้ยงไก่เนื้อตามมาตรฐานสากลมาตลอด โดยมีภาคเอกชนอย่าง “ซีพีเอฟ” บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรกนอกเขตยุโรปที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Animal Welfare ในด้านไก่เนื้อตั้งแต่ ปี 2543 และเป็นองค์กรแรกของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ จัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรของ ซีพีเอฟ ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์ปีก ที่สามารถตรวจสอบและให้คำแนะนำการปฏิบัติงานด้านความเป็นอยู่ของไก่เนื้อตามมาตรฐานสากลแก่ฟาร์มของบริษัทและเกษตรกรได้
ในส่วนการเลี้ยงไก่ไข่ ซีพีเอฟกำลังทำการศึกษาเพื่อพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ของบริษัทในประเทศไทย ไปสู่ระบบการเลี้ยงแบบปล่อยในโรงเรือน (cage free) ซึ่งองค์กร Humanity Society International (HSI) ที่เป็นองค์กร NGOs สากลที่ทำงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ของสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มสัตว์ในห้องปฏิบัติการทดลอง ในสวนสัตว์ รวมถึงสัตว์ป่า ที่ได้ดำเนินการรณรงค์การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระ ระบุว่าเรื่องนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนของผู้ผลิตอาหารชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์และช่วยยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้กับคนไทย
ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในการเลี้ยงหมูอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยการเลี้ยงหมูของบริษัทและเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพทั้งหมด จะถูกเลี้ยงดูอย่างดีในโรงเรือนระบบปิดควบคุมอุณหภูมิ การขนส่งไม่มีการไล่ตี มีระบบสปริงเกอร์ช่วยลดความร้อน
ที่สำคัญซีพีเอฟยังร่วมมือกับ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประเทศไทย ดำเนินการยุติการเลี้ยงหมูแม่พันธุ์ที่ตั้งครรภ์ยืนซอง โดยปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงแบบคอกขังรวม สำหรับกิจการในประเทศไทย ในปี 2561 บริษัทมีการปรับปรุงฟาร์มแม่พันธุ์สุกรอุ้มท้องแล้วเสร็จไป 32% เพิ่มขึ้นจาก 24% เมื่อปี 2560 และตั้งเป้า 100% ของฟาร์มสุกรแม่พันธุ์อุ้มท้องเป็นระบบการเลี้ยงแบบคอกขังรวมภายในปี 2568 และภายในปี 2571 สำหรับกิจการในประเทศอื่นๆ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา
หลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ซีพีเอฟนำมาใช้เป็นมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟนั้น เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากความเครียด เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ตามหลักอิสรภาพสัตว์ 5 ประการ (Five Freedoms of Animals) ซึ่งนอกจากจะทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดี ตามหลักมนุษยธรรมแล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ได้อีกด้วย นั่นคือความปลอดภัยในอาหารที่ผู้บริโภคจะได้รับนั่นเอง
ความมุ่งมั่นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้ในปี 2561 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารไทยเพียงรายเดียว จาก 150 บริษัทชั้นนำทั่วโลก ที่ได้ร่วมการประเมิน “รายงานมาตรฐานด้านการดำเนินธุรกิจตามหลักสวัสดิภาพสัตว์” หรือ The Business Benchmark on Farm Animal Welfare Report สนับสนุนโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) และ Compassion in World Farming ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับบริษัทที่ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลก โดยซีพีเอฟได้ถูกจัดอันดับให้อยู่ในระดับที่ 4 มีการปฏิบัติตามนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ (Tier 4 Making progress on implementation)
การตั้งเป้าสู่การยุติการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซองที่ซีพีเอฟประกาศออกมานั้น นับเป็นแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ในความตระหนักต่อสวัสดิภาพสัตว์และความปลอดภัยทางอาหารที่บริษัทมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย
โดย: อครินธ์ ปิ่นเกษมศาสตร์