เมื่อ 4 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้จัดสัมนาประจำปี “PIM Work-based Education Forum ครั้งที่ 7” เรื่องบทบาทของเอกชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน : Work-based Education for Sustainability เรียนรู้จากประสบการณ์จริงเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์และความยั่งยืน 3 มิติ ที่เป็นความร่วมมือกันของภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ทั้งนี้ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะผู้บริหาร หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนเครือเจริญโภคภัณฑ์ถ่ายทอดเรื่องราว “บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์” โดยมีผู้เข้าฟังประมาณ 200 คน เป็นอาจารย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เป็นเครือข่ายทางวิชาการกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ซึ่ง ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ ได้กล่าวถึงเรื่องราว “บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์” ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
ไม่มีต้นไม้ใหญ่ต้นใด ที่ไม่เริ่มต้นจากการเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก
ปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์มีอายุ 98 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ผ่านวิกฤตมามากมาย ไม่ต่างไปจากบริษัททั่ว ๆ ไป ที่เริ่มจากต้นไม้ขนาดเล็ก แนวคิด หรือ นโยบายในการทำธุรกิจหลายประการก่อเกิดขึ้นเพื่อช่วย แก้ปัญหาที่เป็น Pain Point ของสังคม
ไม่มีต้นไม้ใหญ่ต้นไหนที่ไม่เริ่มจากต้นไม้เล็ก แต่ต้นไม้จะโตขึ้นมาได้มีอยู่ 2 ส่วนที่สำคัญ
ส่วนที่ 1 เมล็ดพันธุ์ที่ดี – คือการฝัง DNA เข้าไป นั่นก็คือ การพัฒนา “คน” เพราะ คนคือรากฐานสำคัญ
ส่วนที่ 2 ดินดี – เครือฯ ได้มี “3 ประโยชน์” เป็นค่านิยมองค์กร ที่ยึดโยงคนซีพีทุกคนไว้ด้วยหลักการคือการทำธุรกิจของเครือฯจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน ต้องสร้างประโยชน์ให้ประชาชน สุดท้ายถึงเป็นประโยชน์ต่อองค์กร เพราะฉะนั้นการทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ไม่ต่างอะไรกับการที่มีดินดี ไปอยู่ที่ไหน ต้องทำให้ที่นั้นดี
“ด้วยเครือฯ ซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจใหญ่ เป็นธุรกิจทางด้านอาหารที่ถูกจัดอยู่ในอันดับ 4 ของโลก จึงมีความคาดหวังของสังคมต่อภาคเอกชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่โลกใบนี้ เพราะฉะนั้นในการทำธุรกิจของเครือฯ เพียงมิติเดียวคือการสร้างรายได้ ไม่ได้อีกต่อไป แต่จะต้องทำธุรกิจให้ “สมดุล” คือต้องคำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับเศรษฐกิจด้วย”
การสร้างหัวใจแห่งความยั่งยืนในใจทุกคน
การทำธุรกิจทุกวันนี้ไม่สามารถทำคนเดียวได้ เปรียบเสมือนต้นไม้ที่จะต้องพึ่งพากันให้ร่มเงาทั้งต้นไม้เล็กและต้นไม้ใหญ่ สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี ก็จะเกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการทำงานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งการเข้ามาทำงานในองค์กรของพวกเขาไม่ได้มองบริษัทไหนให้เงินเดือนสูงสุด แต่มองถึงว่าบริษัทไหนเป็นคนดี ทำเพื่อสังคม ได้มีโอกาสตอบแทนให้กับสังคมบ้าง โลกทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลง เราจะต้องปรับตัว
“โลกในยุคแห่งความยั่งยืน เราจะต้องเปลี่ยนไปฟังเสียงคนอื่น ไม่ว่าคนตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็ตาม”
จุดเริ่มต้นของความยั่งยืน คือการดำรงชีวิตในแบบ caring คือการแคร์ซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างความยั่งยืนด้วยหัวใจ คือการฟังเสียงคนอื่น การสร้างความยั่งยืนในหัวใจของคนในองค์กรมีหลายมิติ การปลูกฝังหัวใจแห่งความยั่งยืน อย่างเช่น คนรุ่นก่อนได้ปลูกฝังเรื่องของความทันสมัย เป็นการเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาสินค้า
การเรียนรู้ในแบบ work base education คือการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่เรียนรู้จากในตำรา เช่น กรณีซองใส่เมล็ดพันธุ์ผักเจียไต๋ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดธุรกิจของซีพี เริ่มต้นที่ถนนทรงวาด มีจุดเด่นที่ชนะคู่แข่งคือมีการเขียนวันหมดอายุ ถ้าเห็นว่าหมดอายุแล้วสามารถนำมาเปลี่ยนใหม่ได้ เป็นการสร้างคุณภาพให้กับสินค้า เราถูกปลูกฝังมาเช่นนี้ ถือเป็นการสร้างคนเพื่อสร้างสินค้า ปลูกฝังด้านคุณภาพ และคุณธรรมให้กับคนตั้งแต่นั้นมา
การขับเคลื่อนความยั่งยืนทำคนเดียวไม่ได้
ทั่วโลกได้ตั้งเป้าหมายความยั่งยืนร่วมกันที่เรียกว่า UN SDGs มีทั้งหมด 17 ข้อ โดยตั้งให้บรรลุเป้าหมายในปี 2030 ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก หากทำคนเดียวอาจจะไม่ทัน แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำก็จะทัน เพราะฉะนั้นการที่จะบรรลุเป้าหมายได้ เป็นการสร้าง Force for Sustainable Life Chain ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ไม่สามารถทำคนเดียวได้ เราต้องทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
เช่น กรณีหมอกควันทางภาคเหนือ หมอกควันดังกล่าว 90% มาจากไฟที่เกิดขึ้นในป่า และอีก 10% เป็นไฟที่มาจากการปลูกข้าวโพด ในฐานะเอกชน ขั้นแรก เราไม่รับซื้อข้าวโพดจากบนภูเขาที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และขั้นต่อมา คือการทำระบบ Tracability หรือ การตรวจสอบย้อนกลับว่า ข้าวโพดทุกเม็ดรับซื้อมาจากแหล่งใด ที่มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยใช้กลไกทางการตลาดเข้ามาช่วยลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ ๆ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จนทุกวันนี้กล่าวได้ว่า 100% ซีพีไม่ได้รับซื้อข้าวโพดจากภูเขาและที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าความคาดหวัง มาคู่กับขนาดขององค์กร เราจึงได้พัฒนานวัตกรรม เพื่อลดปัญหาและสร้างประโยชน์ในพื้นที่
“เครือฯ มีธุรกิจ 8 สายธุรกิจ เพราะฉะนั้นการทำไปดำเนินงานธุรกิจในประเทศใดต้องไปทำประโยชน์ให้กับประเทศนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำพูด แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำจริง “
การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนทำคนเดียวไมได้ กระบวนการที่เครือฯ ทำคือ การสร้างการมีส่วนร่วมทั้งผู้บริหาร การมีที่ปรึกษา การมีส่วนร่วมของพนักงาน ที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนในระดับมาตรฐานโลก เครือฯได้มีประกาศนโยบายจากท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ในการทำยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน พร้อมประกาศเป้าหมายความยั่งยืน 2563 โดยมีรากฐานที่สำคัญคือค่านิยม 3 ประโยชน์ รวมไปถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระบบการบริหารซีพีสู่ความเป็นเลิศ เป้าหมาย 17 UN SDGs กฎระเบียบข้อบังคับและมาตรฐาน จนมาเป็น กรอบการทำงาน 3Hs คือ Heart –มุ่งมั่นทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน Health – มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ยั่งยืน Home – มุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ความยั่งยืน หากปล่อยมือแล้วจะต้องอยู่รอดได้
มุมมองความคิดจาก ดร.ธีระพล ผู้บริหารรุ่นใหม่มองว่า การขับเคลื่อนหลักความยั่งยืนของเครือซีพี คำนึงถึงการพัฒนาคน เป็นสำคัญ หากปล่อยมือแล้ว คนเหล่านั้นหรือสังคมนั้นต้องอยู่รอดได้ด้วยตนเอง
“การให้เงินตลอด เหมือนกับการให้ร่มเงาด้วยความสงสารให้กับต้นไม้เล็กใต้ต้นไม้ใหญ่ แต่นั้นทำให้ต้นไม้เล็กเหล่านั้นได้ตาย เพราะไม่ดิ้นรนมาหาแสงอาทิตย์ด้วยตนเอง”
ยกตัวอย่าง หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเดิมที่ดินแปลงนี้เป็นพื้นที่ที่ทำการเกษตรไม่ได้มากนัก เกษตรกรก็ยากจน และยังมีข้อจำกัดคือ ขาดที่ดินทำกิน ขาดความรู้ ขาดเงินทุน และขาดตลาด สิ่งที่เครือฯ เข้าไปช่วยในเรื่องข้อจำกัดดังกล่าว จนปัจจุบันหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้าสามารถบริหารจัดการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และพึ่งตนเองได้
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างพื้นที่ในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น โครงการเกษตรสันติราษฎร์ โครงการส่งเสริมปลูกกาแฟที่หมู่บ้านสบขุ่น จ.น่าน เป็นต้น
“การขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กร คือต้องทำให้ธุรกิจและสังคมเติบโตยั่งยืนไปพร้อมกัน กำไรไม่ใช่คำเลวร้าย ถ้าสร้างกำไรได้และทุกคนได้ประโยชน์ สิ่งนี้เรียกว่าความยั่งยืน”
เช่น กรณีหมู่บ้านเกษตรกรรมทันสมัย “ผิงกู่” ประเทศจีน เป็นการผลิตไก่ไข่ครบวงจร ในรูปแบบ 4 ประสาน คือ เกษตรกร คนอยากจน และผู้พิการ กว่า 5,000 คน มีเป็นเจ้าของโครงการ โดยซีพีมาช่วยบริหารจัดการ เป็นการทำโมเดลที่ทุกคนได้รับประโยชน์
ความยั่งยืนหนีไม่พ้นเรื่องของ “คน”
การพัฒนาคน สิ่งสำคัญคือการให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว ทั้งนี้คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญจากภาครัฐให้เป็นกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ
ยกตัวอย่างสิ่งที่เครือฯได้ทำในภาคการศึกษา คือ โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED ) การทำความร่วมมือกับโรงเรียน โดยภาคเอกชนเป็น Coaching ทางการศึกษาให้กับบุคลากรในโรงเรียน มีการพัฒนา สร้างการประเมินให้เกิดขึ้นในโรงเรียน เพื่อสร้างคุณภาพในระบบการศึกษา
“การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง คือหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องช่วยกันพัฒนา ยกระดับการศึกษาไทย เพื่อสร้างความยั่งยืน ให้คนไทยมีศักยภาพเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง”
####