เป็นที่ทราบกันดีว่า สงครามการค้าโลก ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าโลก เริ่มจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกอบด้วย 1. Protect คือ การปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ เป็นนโยบายเกี่ยวกับอเมริกาและอเมริกาใต้ โดยเฉพาะเม็กซิโก เพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้ามาสหรัฐฯ 2. Preserve คือ การรักษาผลประโยชน์ของอเมริกา เป็นนโยบายที่ชี้ชัดไปในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ 3. Promote คือ การทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาน่าลงทุน มีการสร้างงานที่เพิ่มพูน เศรษฐกิจไม่ซบเซา 4. Advance คือ การทำให้อเมริกามีบทบาทสำคัญไปทั่วโลกในทุกๆ ด้าน
ด้านนโยบายเศรษฐกิจของจีนภายใต้ยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง หรือ ที่เรียกว่า “สีโคโนมิคส์” (XICONOMICS) ซึ่งถือเป็นพิมพ์เขียวทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำหนดแกนหลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ของจีนเป็นระยะเวลายาว 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า โดยมีหลักใหญ่ ๆ อยู่ 3 ประการ คือ 1. FOCUS ON SUPPLY-SIDE STRUCTURAL REFORMS หรือตามที่ชาวจีนพูดกันวา "กินข้าวให้พอดี ไม่ใช่กินเหลือ" หมายถึงการปฏิรูปโครงสร้างการผลิต 2. นโยบายทางการเงินและเศรษฐกิจต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเมืองของการเป็นผู้นำสูงสุด เช่น นโยบายก้าวออกไป หรือ GOING OUT POLICY ที่รัฐบาลจีนส่งเสริมให้นักลงทุนจีน นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น 3.การส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นไฮเทคเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างชื่อ "Made in China" ให้เป็นที่ยอมรับ และทำให้จีนเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี นี่คือสิ่งที่จีนโฟกัส
สหรัฐฯใช้ “ภาษี” ทำสงครามการค้า
จีนส่งออกสินค้าไปทั่วโลกในปี 2017 คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,263 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมียอดส่งออกไปสหรัฐฯประมาณ 19% ในขณะที่สหรัฐฯส่งออกสินค้าไปทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 1,546 พันล้านเหรียญสหรัฐฯโดยส่งออกไปจีนเพียง 8.4% เป็นผลให้สหรัฐฯพยายามสร้างเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ แทนที่จะส่งเสริมการค้าเสรี เพราะถ้าสหรัฐฯสามารถสร้างสมดุลทางการค้ากับจีนได้ จะทำให้ความแตกต่างของการค้าระหว่างสองประเทศ เข้าใกล้กันมากยิ่งขึ้น จะทำให้สัดส่วนการส่งออกน้อยลง และสหรัฐฯจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกับจีนมากขึ้น เป็นการดึงให้คู่แข่งช้าลง ในเวลาเดียวกันก็ดึงให้ตัวเองมีศักยภาพของผู้นำสูงขึ้น
เส้นทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มจากสหรัฐที่ใช้มาตรการทางภาษี เมื่อจีนมีการโต้ตอบ สหรัฐฯก็ใช้วิธีปรับขึ้นภาษีนำเข้าสูงขึ้นจาก 10% และจะขึ้นเป็น 25% ซึ่งจีนก็ใช้มาตรการเดียวกัน แต่หลังจากสองฝ่ายตกลงที่จะยืดระยะเวลาออกไปก่อน ทำให้เศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นตอบรับเป็นอย่างดี ว่าสหรัฐอเมริกามีท่าทีจะพยายามเจรจากับจีน
จีน VS สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ปีนี้จะเข้าสู่การเลือกตั้งของสหรัฐฯ และมีคำศัพท์ที่ว่า “ภาษีนำเข้าก็คือภาษีของชาวอเมริกัน” (Tariff is tax to the American) เพราะคนที่จะเสียภาษีจากการที่สหรัฐฯตั้งกำแพงกีดกันจีนก็ คือ คนอเมริกัน ไม่ใช่จีน ซึ่งทำให้ต้นทุนในการดำเนินชีวิตของคนอเมริกันสูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นแนวโน้มในการประนีประนอมสูงขึ้น แต่สหรัฐฯคงไม่วางมือง่าย ๆ เพราะดุลการค้ายังห่างกันมาก การใช้มาตรการนี้เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯโตขึ้น และเศรษฐกิจจีนโตลดลง โดยมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจาก 3% จะลดลงเหลือ 2.9% และอาจจะชะลอลงไปอีก
หากพิจารณาด้านรายได้ต่อหัว (Per Capita Income) ของจีนกับสหรัฐฯ พบว่า รายได้ต่อหัวของสหรัฐฯอยู่ที่ 6.5 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี แต่รายได้ต่อหัวของจีนอยู่ที่ 1 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี โดยสหรัฐฯประมาณการว่า GDP ของสหรัฐฯจะโตถึง 4% ซึ่งจริง ๆ แล้ว GDP ของอเมริกาอยู่ในอัตราค่อนข้างสูง การที่จะเร่งให้เติบโตต่อไปมากกว่านี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทุกคนต่างกล่าวว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯในปีนี้จะเริ่มชะลอตัวลง ส่วนจีนโต 9% จะเห็นได้ว่าอำนาจซื้อจริง หรือ PPP-Purchasing Power Parity จีนอาจเทียบเท่าหรือนำหน้าสหรัฐฯ เนื่องจากราคาสินค้าและค่าบริการต่างๆในประเทศจีนถูกกว่า
นอกจากนี้เป็นเพราะประเทศจีนอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา ถ้าการส่งออกของจีนเข้าสู่ภาวะถดถอย อาจทำให้อัตราการเติบโตของจีนขยายตัวช้าไปบ้าง แต่ฐานการส่งออกและการบริโภคในประเทศของจีนมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งจีนต้องการพัฒนาให้เป็นฐานที่สร้างเศรษฐกิจแบบมั่นคง แต่ยังต้องอาศัยทั้งการลงทุนและการส่งออกขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีนี้จะขยายตัวลดลงเหลือ 2.9% และอาจจะชะลอลงไปอีก โดยสำนักวิเคราะห์บางแห่งคาดการณ์ว่าจะขยายตัวต่ำกว่า 2% ส่วนของจีนมีแนวโน้มชะลอตัวจาก 6.6%เหลือ 6.2% ขณะที่ประเทศไทย คาดว่าจะขยายตัวลดลงเล็กน้อย จาก 4% กว่า เหลือ 3.8% ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ลดลง แต่ไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแต่อย่างใด
Leadership Position ของ 2 ผู้นำเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม ยังถือได้ว่าสหรัฐฯเป็นผู้นำในตลาดโลก 3 ด้านหลักคือ ด้านการศึกษา(Education)ด้านเทคโนโลยีความก้าวหน้า( Advanced) และด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Currency) ที่แสดงถึงศักยภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
ส่วนจีนก็ประกาศว่าภายในปี 2025 จะโฟกัสในเทคโนโลยีทั้งหมด 10 ด้านเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมสารสนเทศ 2.อุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินและยานอวกาศ 4.อุตสาหกรรมนวัตกรรมการต่อเรือ 5.อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ 6.อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ 7.อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์พลังงาน 8.อุตสาหกรรมการเกษตร 9.อุปกรณ์การผลิตวัตถุดิบใหม่ 10.อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยเทคโนโลยีทั้งหมดจะสอดประสานด้วยเทคโนโลยี AI แม้ว่าเทคโนโลยีในแต่ละด้านอาจจะยังด้อยกว่าสหรัฐหรือบางประเทศในโลก แต่โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจจีนที่ก้าวกระโดดมากด้านอีคอมเมิร์ซ จะทำให้จีนเป็นผู้นำของโลกทางด้านเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของมนุษยชาติ และสะเทือนฐานการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ หากสหรัฐฯปล่อยให้จีนเป็นผู้นำ 5 จี หรือ 6 จี ด้านสื่อสารซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ AI ทั้งหมด ถ้าสหรัฐฯยังนำเข้าอุปกรณ์ของหัวเหว่ย ยิ่งทำให้เทคโนโลยีของจีนก้าวกระโดด ขณะนี้งบประมาณด้านงานวิจัยและพัฒนาของหัวเหว่ยใหญ่ที่สุดในโลกในหมวดสื่อสาร ซึ่งกรณีนี้สหภาพยุโรปหลายประเทศก็เริ่มจะป้องกันฐานผลิตในอียู เว้นแต่เยอรมนีที่เป็นคู่ค้าสำคัญของจีน ถือเป็นความเสี่ยงภูมิศาสตร์การเมืองโลกด้านเทคโนโลยีที่ไม่ควรมองข้าม รวมถึงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ที่หลายคนเริ่มจับตาดูบทบาทของเงินหยวนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย One Belt One Road (หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง)
สำหรับด้านการศึกษา การที่สหรัฐฯกดดันประเทศจีน ทำให้จีนต้องสร้างเทคโนโลยีของตัวเองและพัฒนาทางด้าน R&D (วิจัยและพัฒนา) ตลอดจนฟื้นฟูระบบการศึกษาในประเทศของจีนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพขของคน ซึ่งเป็นหนึ่งในการปฏิรูปที่สำคัญของประเทศจีน
จีนชูนโยบาย Mega region เชื่อมโยงภูมิภาค
จีนออกนโยบายหลายเรื่องเพื่อเตรียมรับมือกับสหรัฐฯ และก็คงเป็นเรื่องที่จีนปรับตัวเองอยู่แล้วด้วย โดยเฉพาะการเชื่อมโยงภูมิภาค (Mega Region) ที่เชื่อม 3 - 4 เมืองใหญ่ด้วยรถไฟความเร็วสูง มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 40% ของ GDP ทั้งประเทศจีน ซึ่งคล้ายกับประเทศไทยที่ทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั่นเอง
ภาพอนาคตประเทศจีน ที่เป็นคลัสเตอร์เมืองถือเป็นการเชื่อมจุดแข็งแต่ละเมือง ขนาดมหึมาของพื้นที่และประชากร ยุทธศาสตร์นี้แสดงให้เห็นว่าการคิดแบบจีนคือ การคิดการใหญ่ เชื่อมโยงเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพูนโอกาสทางเศรษฐกิจทวีคูณ
1) ยุทธศาสตร์ Jing Jin Ji ซึ่งมีหัวใจคือปักกิ่ง (เชื่อม 13 เมือง ประชากร 112 ล้านคน) - Beijing-Tianjin-Hebei
2) ยุทธศาสตร์ Yangtze River Delta ซึ่งมีหัวใจคือเซี้ยงไฮ้ (เชื่อม 26 เมือง ประชากร 222 ล้านคน) Anhui, Jiangsu, Shanghai, Zhejiang
3) ยุทธศาสตร์ Pearl River Delta ซึ่งหัวใจอยู่ที่กวางเจา (เชื่อม 11 เมือง ประชากร 118 ล้านคน) Guangdong, Hong Kong, Macau
ยุทธศาสตร์เปลี่ยนโลก : เส้นทางสายไหมแห่งใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ญี่ปุ่นผนึกจีนพัฒนาภูมิภาค
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีท่าทีเป็นพันธมิตรกับจีนมากขึ้น และยินดีที่จะพิจารณาความเป็นไปในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะนโยบายของจีนที่ต้องการผลักดันความเป็นปึกแผ่นในภูมิภาคและต้องการเห็นการเติบโตไปพร้อมกัน ภายใต้โครงการ One Belt One Road แต่ทั้งนี้ญี่ปุ่นต้องพยายามสร้างสมดุลทางการเมืองกับสหรัฐฯค่อนข้างมาก ดังนั้นความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะไม่ใช่แค่จีนกับญี่ปุ่น แต่จะเป็นความร่วมมือของจีนกับญี่ปุ่นในประเทศที่ค่อนข้างเป็นกลาง โดยไม่ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ
ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีโครงการอีอีซี มีการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนทั้งทางบก ทางน้ำ ทางรถไฟ รวมไปถึงการบิน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฮับและมีการเชื่อมโยงกับระดับภูมิภาค ไปถึงจีน เวียดนาม พม่า และมาเลเซีย
เวทีโลกห่วงสงครามการค้า
ที่ประชุมเศรษฐกิจโลก WORLD ECONOMIC FORUM 2019 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรื่องที่ทุกคนเป็นกังวลคือเรื่องสงครามการค้า ซึ่งประเมินว่าน่าจะหาข้อสรุปได้ใน 2 ปี และที่สำคัญคือ การยอมรับว่าปัจจุบันมีผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกเกิดขึ้นอีกราย คือ จีน
ถ้าพิจารณาจากความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจโลกกับจีนและสหรัฐฯ จะพบว่าทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ด้านการค้าเกือบจะเรียกว่าเป็น Partner กัน แต่จีนมีฐานเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคงและทั่วถึงเกือบทุกอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นการใช้มาตรการด้านการค้าต่าง ๆ กับจีน ไม่ได้ทำให้เกิดผลสำเร็จเหมือนที่เคยใช้ในประเทศอื่นๆ โดยความเป็นพันธมิตรทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จะทำให้เกิดการประนีประนอม และนำไปสู่แนวทางที่ทั้งสองฝ่ายรับได้
ไทยมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส
สำหรับประเทศไทยมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส โดยโอกาสหลักของเราคือ การเป็นศูนย์กลาง หรือ Hub ของอาเซียน ซึ่งในหลายๆ โรงงานของต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนและสหรัฐฯ ก็พิจารณาที่จะย้ายมาเมืองไทย ซึ่งทั่วโลกมองประเทศไทยหรืออาเซียนเป็นหนึ่งในการเติบโตของโลก ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทย
การที่สหรัฐฯกดดันจีนมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้จีนพยายามจับมือกับเพื่อนบ้านมากขึ้นเท่านั้น และพยายามทำให้ประเทศของตัวเองมีความเข้มแข็งและภูมิภาคมีความมั่นคง เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่รู้ว่าถ้าเศรษฐกิจของจีนมีปัญหา ญี่ปุ่นก็สะเทือนเหมือนกัน การเติบโตของญี่ปุ่นอาศัยจีนค่อนข้างมากโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่มาก จึงคาดว่าจะเกิดการผนึกกำลังกันในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเรื่องนี้ ท่านประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์ เปรียบว่าเหมือนกับ “อเมริกาเอาปูนซีเมนต์มาให้จีน”หมายความว่าจีนเป็นประเทศที่มีเหล็กกับหินจำนวนมาก ถ้าเหล็กกับหินอยู่ด้วยกันนาน ๆ ก็เปรียบได้เหมือนประชาชนในประเทศอาจมีความขัดแย้งกันได้ ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯกดดันจีนมาก ๆ จะทำให้คนทั้งประเทศรวมกัน ทำให้เป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น และทำให้เสถียรภาพในการบริหารประเทศมั่นคงมากขึ้น ในที่สุดแล้วส่งผลดีต่อประเทศจีน และส่งผลบวกต่อภูมิภาค ซึ่งจะเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วย
ขณะเดียวกัน จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ หรือแม้แต่ยุโรป ไม่ได้มองประเทศไทยประเทศเดียว แต่ยังมองโอกาสการลงทุนไปที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งในประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงอีกเรื่อง คือ ความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางการเมือง
-###-
หมายเหตุ : สรุปและเรียบเรียงจากปาฐกถาของ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้าโลก” ในงานวันนักข่าว 5 มีนาคม 2562 จัดโดยสมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์ (ประตูน้ำ)