หนังสือพิมพ์ "Xinmin Evening News” หรือ ที่ชาวจีนรู้จักในชื่อ “Xinmin Po” ซึ่งเป็นสื่อจีนที่มีอายุยาวนาน ได้ตีพิมพ์ข่าวจำนวน 4 หน้าเต็ม แนะนำชาวไทยเชื้อสายจีน “ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์” ในฐานะที่เป็นประธาน บริษัท เจียไต๋อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยระบุว่าท่านประธานอาวุโสธนินท์เกิดเมื่อปี พ.ศ.2482 มีเชื้อสายชาวเมืองเฉินไห่ มณฑลกวางตุ้ง และในปี 2531 นิตยสารเศรษฐกิจชื่อดังของเอเชีย "Asian Finance" ได้กล่าวว่าท่านประธานอาวุโสเป็น "ผู้ประกอบการที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย" ต่อมาในวันที่ 25 สิงหาคม 2558 สำนักงานของสภาแห่งรัฐจีนโพ้นทะเลแถลงข่าวว่า รัฐบาลใช้เวลามากกว่า 4 เดือนในการพยายามเชิญชวนชาวจีนโพ้นทะเลจำนวน 1,779 คนกลับไปเป็นเกียรติในการประกอบพิธีกลับสู่มาตุภูมิ ซึ่งปรากฏว่าท่านประธานอาวุโสธนินท์ คือ 1 ใน 5 ของแขกผู้ทรงเกียรติที่สุด และยังเป็นหนึ่งในตัวแทนของชาวจีนโพ้นทะเลที่ได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานพิธีที่เทียนอันเหมิน และนอกจากนี้ ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เคยได้รับเลือกให้เป็น "นักธุรกิจชาวจีนที่มีอิทธิพลสูงสุดสิบอันดับแรกของโลก"
ความรักคือ "การอุทิศและเสียสละ ของเจียไต๋"
"Xinmin Evening News” รายงานต่อไปว่า...จากวลีติดปากของผู้ดำเนินรายการ เจิ้งต้า วาไรตี้ ที่กล่าวว่า “ไม่ดู ไม่รู้ ว่าโลกนี้มหัศจรรย์แค่ไหน” รายการนี้ไปออกอากาศไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของยุคของคนจีน มีความทรงจำที่คลาสสิกมากมายเกิดขึ้นจากการรับชมรายการนี้ เหมือนคำขวัญเพลงขึ้นต้นรายการที่ว่า “ความรักคือการอุทิศ เสียสละ” เป็นที่รู้จักไปทั่วทุกภาคของจีน
เจียไต๋ กรุ๊ป จากประเทศไทย หรือ ซีพี ติดอันดับ 500 บริษัทแรกของโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทข้ามชาติในจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีการดำเนินงานในกว่า 100 ประเทศ มีพนักงานมากกว่า 350,000 คนและมีรายได้ปีละกว่า 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เจียไต๋กรุ๊ปเป็นผลงานสำคัญให้เห็นถึงการปฎิรูปของมหานครเซี่ยงไฮ้ โดยเจียไต๋กรุ๊ป หรือ ซีพี เป็นบริษัทข้ามชาติ แห่งแรกที่ลงทุนในเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2522
เป็นเวลา 40 ปี ที่ซีพีได้เติบโตคู่มากับการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของมหานครเซี่ยงไฮ้ เจียไต๋ ค่อย ๆ พัฒนาจากอุตสาหกรรมหลัก อุตสาหกรรมรอง จนเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อ “ประโยชน์ต่อประเทศ ต่อประชาชน และต่อธุรกิจ” (ค่านิยม 3 ประโยชน์) ซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณเจียไต๋
ปี 2528 ต้าเจียง ฟู๊ด ปี 2528
คนเซี่ยงไฮ้รุ่นเก่าต้องรู้จัก “ต้าเจียง ฟู๊ด” ตระกร้าทุกบ้านต้องมีสินค้า ต้าเจียง ฟู๊ด โดยเฉพาะ “ไก่ต้าเจียง” ซึ่งเกือบทุกครอบครัวต้องมี
"Xinmin Evening News” เล่าต่อไปถึงจุดกำเนิดซีพีในจีน หรือ เจียไต๋ กรุ๊ป ว่าเริ่มต้นในปี 2522 ด้วยความเชื่อมั่นนโยบายปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน จึงทำให้เป็นบริษัทข้ามชาติแห่งแรกที่เข้ามาลงทุนในประเทศจีน โดยตั้งโรงงานอาหารสัตว์ที่เซินเจิ้น เป็นบริษัทแรกที่ทำอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร แต่ก็ยังแสวงหาบ้านที่ใหญ่ขี้นในประเทศจีน
“ไม่ไปเซี่ยงไฮ้ เหมือนไปไม่ถึงประเทศจีน” ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้กล่าวเช่นนั้น "Xinmin Evening News” บอกว่าท่านประธานอาวุโสธนินท์มีความสนใจที่จะลงทุนในเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยปี 2526 ท่านประธานอาวุโสธนินท์ ในฐานะประธานเจียไต๋กรุ๊ป พร้อมด้วยคุณธนากร เสรีบุรี รองประธาน ในขณะนั้นได้เดินทางไปเซี่ยงไฮ้เพื่อลงทุนทำธุรกิจที่นั่น “ที่จริงแล้วพวกเราตั้งใจที่จะลงทุนในเซี่ยงไฮ้อยู่แล้ว ในขณะนั้นประเทศจีนเพิ่งเปิดประตู คนเซี่ยงไฮ้เท่านั้นที่จะปรับตัวรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่ทันสมัยได้ เซี่ยงไฮ้มีช่างเทคนิครุ่นเก่าที่รู้ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น พวกเขาคุ้นเคยกับการจัดการแบบทันสมัย” คุณธนากร เล่า และกล่าวต่อไปด้วยว่า “ในตอนนั้นอุตสาหกรรมเกษตรในเซี่ยงไฮ้ยังไม่พอเพียง ฟาร์มไก่ในปีหนึ่งสามารถเลี้ยงไก่ได้แค่ 300-500 ตัวเท่านั้น” การเจรจากับทางการเซี่ยงไฮ้ก็ไม่ราบรื่น และฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพการผลิตของเจียไต๋ ในปี 2527 ทางการเซี่ยงไฮ้ได้ส่งผู้แทนมาเยี่ยมชมกิจการเจียไต๋ในประเทศไทย สุดท้ายเห็นผลด้วยตาตนเองว่าเจียไต๋ในประเทศไทยมีความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทันสมัย จึงตัดสินใจลงนามความร่วมมือกับเจียไต๋กรุ๊ปในปี 2528 โดยร่วมทุนระหว่างจีนกับเจียไต๋กรุ๊ป ในชื่อ “บริษัท เซี่ยงไฮ้ต้าเจียงฟู๊ด จำกัด” โดยมีเลขาธิการพรรคเขต Songjiang นาย Du Su Gu เป็นประธานบริษัท นับเป็นบริษัทแห่งแรกที่ผลิตอาหารสัตว์ เพาะพันธุ์ จนถึงโรงเชือด แบบครบวงจร และต่อมาได้เข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ ลงทุนก่อสร้างฟาร์ม 10 กว่าแห่ง ผลิตไก่ได้ 1 ล้านกว่าตัวต่อปี โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย การควบคุมการผลิตที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน ได้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปโดยได้รับการยกเว้นการตรวจนำเข้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากในสมัยนั้น
ในวันนี้ ยกเว้น ชิงไห่ และธิเบต เจียไต๋กรุ๊ปมีบริษัทครอบคลุมไปทั่วทุกภาค ทุกมณฑล ทุกเขตการปกครองตนเองของประเทศจีน โดยถือได้ว่าการเกษตรแบบครบวงจรของเจียไต๋หรือซีพีในจีนถือกำเนิดแห่งแรกที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และในปี 2532 ร้าน KFC แห่งแรกในเซี่ยงไฮ้ที่ The Bund of Shanghai ก็เป็นบริษัทร่วมลงทุนแห่งแรกระหว่างซีพีและอเมริกา ต่อมาในปี 2536 ต้าเจียงฟู๊ด ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศจีนทั้งหุ้น AและB เป็นบริษัทข้ามชาติที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นแห่งแรกของประเทศจีน
ปี 2540 ก่อกำเนิด “เอ็กชอ โลตัส” ซุปเปอร์ สโตร์ ขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศจีน
เปรียบกับต้าเจียงฟู๊ด คนเซี่ยงไฮ้ยังคุ้นเคยคำว่า “สดใหม่ ราคาต่ำ ทุกวัน” ซึ่งเป็นสโลแกนของเอ๊กชอ โลตัส ที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นซีพีโลตัสเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามคนเซี่ยงไฮ้จะประทับใจในแบรนด์ เอ็กชอโลตัส อย่างมาก วันที่ 23 มิถุนายน 2540 เอ็กชอโลตัสได้เปิดที่ทำการแรกที่เขตผู่ตง ถนนหยางเกาใต้ มีพื้นที่ค้าปลีกมากกว่า 2 หมื่นตารางเมตร ในวันเดียวมีคนหลั่งไหลเข้าร้านอย่างเนืองแน่นนับหมื่นคน แย่งกันรอคิวเข้าจับจ่ายใช้สอยเป็นภาพที่น่าแปลกใจมาก พวกเขาต้องการสัมผัสการจับจ่ายใช้สอยแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากมีผู้คนที่รอแถวจำนวนมาก จึงกังวลเรื่องการจราจรและความปลอดภัย จนต้องปิดประตูทางเข้าล่วงหน้า
ในประเทศไทย ซีพีได้เข้าสู่วงการค้าปลีกเมื่อปี 2531 นั่นก็คือร้านสะดวกซื้อ 7 Eleven ที่ขณะนี้มีสาขามากว่า 10,000 แห่ง ตามมาด้วยซุปเปอร์สโตร์แบบขายส่งขนาดใหญ่คือแมคโคร สำหรับประเทศจีนมีร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ซีพีโลตัส(ในจีน) ธุรกิจค้าปลีกเป็นธุรกิจที่พัฒนาต่อยอดของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เจียไต๋กรุ๊ปมีความมุ่งมั่นแต่แรกที่จะจัดหาอาหารมนุษย์ ให้คนใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย
ความสำเร็จของธุรกิจร้านสะดวกซื้อในไทย ทำให้ซีพีต้องการนำประสบการณ์ด้านค้าปลีกเข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ในประเทศจีน การเปิดเขตผู่ตงจึงนำมาซึ่งโอกาส และด้วยความร่วมมือกับบริษัทผลิตผักของเซี่ยงไฮ้ ซีพีจึงได้เปิดร้านค้าปลีกแห่งแรกในประเทศจีน ในช่วงก่อนที่ฮ่องกงจะกลับคืนสู่ประเทศจีน ปัจจุบันซีพีในจีนมีทั้งซีพีโลตัส, CP Club, CP Freshmart (หรือที่คนจีนเรียกกันว่า youxianchaoshi ทั้งหมดรวม 96 ร้าน โดยมีร้านอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ จำนวน 26 ร้าน
ปี 2545 เจียไต๋ซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ห้างสรรพสินค้าครบวงจรแห่งแรกของประเทศจีน
ถ้าจะพูดว่าเจียไต๋ พลาซ่า ในเขตลู่เจียจุ่ย ผู่ตง เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของเซี่ยงไฮ้ก็ไม่น่าจะมีใครคัดค้าน ในปี 2545 เจียไต๋กรุ๊ป ได้ลงทุนใน “เจียไต๋ ซุปเปอร์แบรนด์มอลล์” จำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นห้างสรรพสินค้าครบวงจรรองรับทุกการจับจ่ายใช้สอยอย่างแท้จริง ได้รับรางวัลมากมายตั้งแต่เปิดห้าง ปกติแล้วชาวเซี่ยงไฮ้คงไม่คาดคิดว่าเบื้องหลังการเปิดห้างดังกล่าว ผ่านการเตรียมการณ์และความยากลำบากมากว่า 10 ปี พิสูจน์ให้เห็นว่าผู่ตงพัฒนาเริ่มต้นจากศูนย์จนกระทั่งมีวันนี้
ในต้นปีศตวรรษที่ 90 เจียไต๋กรุ๊ป มีความคิดที่จะลงทุนในเซี่ยงไฮ้ คุณธนากร กล่าวว่า “ในตอนนั้นท่านประธานอาวุโสและข้าพเจ้ามักจะนั่งอยู่ที่ The bund of Shanghai มองข้ามแม่น้ำหวางผู่ข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามคือผู่ตง ฝั่งนี้เต็มไปด้วยผู้คน ส่วนอีกฝั่งมีแต่ความมืดมิด ลู่เจียจุ่ยมีพื้นที่กว่า 40 ตารางกิโลเมตร ถ้าสามารถลงทุนพัฒนาที่ดินดังกล่าวได้ก็จะเป็นการดี" ซึ่งที่จริงแล้วรัฐบาลจีนในขณะนั้นกำลังเริ่มมีการประมูลพัฒนาที่ดินฝั่งลู่เจียจุ่ย โดย มร.จูหรงจี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเซี่ยงไฮ้ ได้ติดต่อประสานงานเชิญชวนซีพีให้เข้ามาลงทุน โดยที่ซีพีเองก็มีท่าทียินดีที่จะเข้าร่วมลงทุน พื้นที่ฝั่งลู่เจียจุ่ยในขณะนั้นเป็นที่ดินทำเกษตร จะต้องกลับดินเพื่อถมที่ พัฒนาสาธารณูปโภค (ระบบน้ำประปา การระบายน้ำ ไฟฟ้า การสือสาร การคมนาคม แก๊ส ท่อส่งความร้อน) ทั้งนี้ซีพีได้ร่วมกับบริษัท ลู่เจียจุ่ย ดีเวลลอปเม้นท์ ทำการพัฒนาปรับพื้นที่ 40 กว่าตารางกิโลเมตร เสร็จภายใน 2 ปี
ปี 2540 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ทำให้เจียไต๋ซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ หยุดการก่อสร้างไปปีกว่า คุณธนากร จำทุกรายละเอียดได้ว่า ในปี 2545 ที่เปิดห้างต้องเช่ารถ 60 คัน เพื่อรับส่งลูกค้าเข้าห้างตอบสนองความต้องการของลูกค้า ต้องประสบกับภาวะขาดทุนตลอด 5 ปีแรกที่เปิดกิจการ แต่วันนี้ซุปเปอร์แบรนด์มอลล์มีลูกค้าเข้าห้างกว่าวันละแสนคน
ปี 2557 รถ MG
ปี 2557 SAIC Zhengda Automobile Co.,Ltd. ได้จัดพิธีเปิดตัว MG6 คันแรกในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีคนรู้ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว บริษัทรถยนต์เซี่ยงไฮ้แห่งนี้และเจียไต๋กรุ๊ปหรือซีพีเคยมีความร่วมมือกันมาก่อน ต้นศตวรรษที่ 80 รถมอเตอร์ไซด์เป็นของหายาก ประชาชนแย่งกันซื้อ ผลิตไม่พอความต้องการของตลาด ขณะนั้นคุณธนากร รับผิดชอบการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม มีคนที่ฮ่องกงเป็นผู้แทนจำหน่ายในเซี่ยงไฮ้ แต่ละปีสามารถนำเข้ามาจำหน่ายในเซี่ยงไฮ้ได้แค่ปีละ 500 คัน
ปี 2526 เจียไต๋กรุ๊ปหรือซีพีและบริษัท เซี่ยงไฮ้ แทรกเตอร์ ร่วมมือกันสร้างโรงงานผลิตรถมอเตอร์ไซด์ คือ บริษัท เซี่ยงไฮ้เอ๊กชอ มอเตอร์ไซด์ ใช้เทคโนโลยีจากฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่น ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ “ซิ่งฝู” จำหน่ายทั่วประเทศ ผลิตได้ถึงปีละ 60,000 คัน กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นตลอดถึงปีละ 450,000 คัน จนกลายเป็นผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซด์ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน จากนั้นเจียไต๋กรุ๊ปยังคงร่วมมือกับ SAIC ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์
จนกระทั่งปี 2555 SAIC ได้เริ่มกลยุทธ์ลงทุนต่างประเทศ และหวังว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากจีน ต่อมา SAIC ได้เซ็นสัญญาร่วมกับเจียไต๋กรุ๊ป สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเพื่อขยายแบรนด์ MG ไปยังสหภาพยุโรป “ต้องผลิตรถที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการที่ดี” MG ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมในประเทศไทย ต้นปี 2561 ผลิตรถ SUV สู่ตลาดเป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งในประเทศไทยนั้นรถยนต์จากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนนานกว่า 60 ปี คุณธนากร กล่าวว่า ซีพีและเซี่ยงไฮ้ได้พิสูจน์ถึงความร่วมมือกัน เราจะต้องมีผู้ร่วมลงทุนที่ดี ถึงจะตีตลาดได้ อยู่ในสถานะชนะทั้งคู่
เมื่อต้นปีนี้ เลขาธิการพรรคนครเซี่ยงไฮ้ นายหลี่ เฉียง ได้พบกับท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ และคณะ นายหลี่เฉียงหวังว่าเจียไต๋กรุ๊ปหรือซีพีจะยังคงร่วมกันพัฒนาเซี่ยงไฮ้ต่อไป ทั้งในแง่การผลิต ธุรกิจที่ทันสมัย และการพัฒนาเทคโนโลยี ต้องมีส่วนร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ท่านประธานอาวุโสธนินท์เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของเซี่ยงไฮ้ ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาของประเทศจีน ของเซี่ยงไฮ้ และจะร่วมพัฒนาเซี่ยงไฮ้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น ในการสร้างแบรนด์อุตสาหกรรมอาหาร การค้าปลีกที่ทันสมัย และมีบทบาทเต็มที่ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
ความปรารถนาดีของเจียไต๋กรุ๊ปต่อเซี่ยงไฮ้ ทำไมรายการ เจียไต๋ วาไรตี้ จึงเกิดขึ้นในเซี่ยงไฮ้
ปี 2533 รายการเจิ้งต้า วาไรตี้ ออกรายการทาง CCTV ครั้งแรก ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รายการนี้ผลิตโดย เจียไต๋ เซี่ยงไฮ้ ทีวีวาไรตี้ บริษัทนี้ถือกำเนิดโดยความร่วมือระหว่างเจียไต๋กรุ๊ป และสถานีโทรทัศน์เซี่ยงไฮ้ Shanghai Xinlonghua เป็นรายการทีวีที่ร่วมผลิตกับต่างชาติเป็นรายการแรก ท่านประธานอาวุโสธนินท์ได้เชิญคุณพ่อของนักร้องชื่อดัง Judy Ongg เป็นผู้ควบคุมการผลิตรายการ เพื่อป้อนให้รายการ เจิ้งต้าวาไรตี้ ทาง CCTV
ทำไมเอ็กชอโลตัส เปลี่ยนชื่อเป็นซีพี โลตัส
ปี 2551 เอ็กชอโลตัส ทั่วประเทศจีน เปลี่ยนชื่อเป็น ซีพีโลตัส หลายคนไม่เข้าใจ ที่จริงแล้วเจียไต๋ในเขตประเทศจีนเรียกเจียไต๋กรุ๊ป แต่ที่ประเทศไทยคือ “ซีพี กรุ๊ป” “เอ็กชอ” คือชื่อของบิดาท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ปี 2551 เจียไต๋กรุ๊ป เปลี่ยนชื่อ “เอ็กชอ” เป็นชื่อที่ใช้ในการกุศลเท่านั้น ไม่ใช้ในทางด้านธุรกิจ เอ็กชอโลตัส จึงเปลี่ยนเป็น ซีพีโลตัส ตามบริษัทแม่ในประเทศไทย นอกจากเปลี่ยนชื่อแล้ว ยังมีการเปลี่ยนโลโก้ด้วย จากดอกบัวขาวพื้นเขียว เป็นดอกบัวเหลืองพื้นแดง
สนามกีฬาฟู่ตั้น ทำไมเปลี่ยนชื่อเป็น เจียไต๋
เจียไต๋กรุ๊ปและมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นมีความสัมพันธ์มายาวนาน ในปี 2535 เจียไต๋กรุ๊ปหรือซีพีและคณะการจัดการ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ได้ร่วมกันสร้างศูนย์อบรม เพื่อใช้เป็นศูนย์พัฒนาการจัดการมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น- เจียไต๋ ต่อมาในปี 2546 ทางมหาวิทยาลัยมีโครงการสร้างสนามกีฬาเอนกประสงค์เพื่อฉลองครบรอบร้อยปีของมหาวิทยาลัย เมื่อเจียไต๋กรุ๊ปได้ทราบข่าวนี้ จึงยินดีบริจาคเงิน 30 ล้านหยวน เพื่อเป็นค่าก่อสร้างสนามกีฬาแห่งนี้ ปี 2548 ก่อสร้างเสร็จทันมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี จึงได้จัดงาน ณ อาคารแห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร สามารถบรรจุคนได้ 7,000 คน ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับเกียรติเป็นกรรมการอาวุโสของสภามหาวิทยาลัย และได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย
แปลและเรียบเรียงโดย :
คุณสุพิม จรูญจิตเสถียร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด