“ความกตัญญูต้องปลูกฝังในจิตใจของทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ใกล้ตัวที่สุดและทุกคนทำได้”
เพราะได้รับการปลูกฝังบ่มเพาะค่านิยมด้าน ‘ความกตัญญูกตเวที’ มาจากบรรพบุรุษมาตั้งแต่เด็กจนโต ผู้นำรุ่นใหม่วิสัยทัศน์ไกลอย่างคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงเชื่อมั่นเสมอมาในคุณค่าของ ‘ความกตัญญู’ พร้อมให้นิยามคุณธรรมนี้ว่าเป็น ‘รักแรก’ และ ‘รักแท้’ ของเราทุกคน ซึ่งเริ่มจากความรู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งที่ได้รับ พร้อมที่จะตอบแทนและเป็นผู้ให้กลับคืน
กตัญญูคือรักแรกและรักแท้
“ความกตัญญูในมุมมองของผม ถือว่าเป็นรักแรกและรักแท้ของเราทุกคนเลย เริ่มต้นจากการที่เรารู้จักความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งในบริบทของครอบครัวก็คือบุพการี หรือพ่อแม่ของเราเอง ความกตัญญูคือการที่เราสามารถรู้สึกได้ถึงสุขทุกข์ของผู้ที่ไม่ใช่ตัวเรา รู้สึกได้ถึงความยินดีของผู้อื่น ในกรณีนี้คือพ่อแม่
“ทีนี้ความกตัญญูยังสามารถขยายวงออกไปนอกเหนือจากในครอบครัวของเราเอง ถ้าเรารู้สึกได้ถึงโอกาส รู้สึกได้ถึงความพอใจในสิ่งที่เรามี และมีความรู้สึกที่อยากจะเป็นผู้ให้ อันนี้เป็นความกตัญญู เป็นความรู้สึกที่เป็นรักแท้ของเรา
“ท่านประธานอาวุโสเคยสอนผมไว้ตั้งแต่เด็กเรื่องความกตัญญู คือถ้าเราไม่ดูแลบุพการี ไม่ดูแลครอบครัว ไม่ดูแลผู้ค้ำจุนที่ทำให้เรามีโอกาสจนถึงทุกวันนี้ แล้วเราบอกว่าเราจะไปช่วยเหลือคนอีกมากมาย ก็เท่ากับเราหลอกตัวเอง ดังนั้น เราควรทำในสิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ความรู้สึกกตัญญู ปลาบปลื้ม รู้สึกยินดีต่อสิ่งที่เราได้รับ รู้สึกยินดีต่อสิ่งที่มีผู้ที่รักเราให้เรามา แล้วทำให้มันดี จากนั้นก็แผ่กระจายความรู้สึกนี้ออกไป”
กตัญญูคือประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่
“ถ้าขยายวงออกไป เราพูดถึงชุมชน เรามีโอกาสทำงานให้กับบริษัท เราเคยถามตัวเองไหมว่า บริษัทเป็นผู้ที่ช่วยเลี้ยงดูค้ำจุนครอบครัวของเรา ความมั่นคงและการเติบโตของบริษัทเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ครอบครัวของเรามีความมั่นคงในชีวิต สามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้ แทนที่เราจะถามตัวเองว่าบริษัทจะให้อะไรได้อีกบ้าง? เราจะถามตัวเองใหม่ได้ไหมว่า เราจะให้อะไรแก่บริษัทได้บ้าง? ถ้ามองในมุมที่ใหญ่ออกไปอีก เราเกิดในสังคมไทย ประเทศไทย เราเติบโตขึ้นมาได้ มีโอกาสมาจนถึงทุกวันนี้ เรารู้สึกไหมว่าเราควรจะให้อะไรคืนกลับสู่สังคม ให้คืนกลับแก่ประเทศ
“เพราะฉะนั้นถ้ามองไปแล้ว ความกตัญญูมีความชัดเจนมากอยู่ในปรัชญา 3 ประโยชน์ของบริษัท และมีความชัดเจนมากในความเป็นบริบทของความเป็นครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดที่สุด เป็นยูนิตที่เล็กที่สุด เรียกได้ว่าเป็นไมโครยูนิตของระบบสังคมทั้งหมด รวมไปถึงทั้งโลก ถ้าความกตัญญูหรือคุณค่าตัวนี้สามารถเติบโตและแผ่ขยาย เป็นการคิดและมีความรู้สึกซาบซึ้ง หรือมีความรู้สึกยินดีกับสิ่งที่เราได้รับ และเราเองก็อยากเป็นผู้ให้เพื่อให้คนอื่นได้รับเหมือนกัน อันนี้ล่ะ... คือความกตัญญู”
เมล็ดพันธุ์แห่งความกตัญญู
“ผมถือว่าคำว่า ‘กตัญญู’ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เราต้องการปลูกฝังให้เติบใหญ่ในจิตใจของลูกหลาน ในจิตใจของผู้บริหาร จิตใจของผู้นำ ในจิตใจของพนักงาน ในจิตใจของเพื่อนคู่ค้า และก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม ให้กับประเทศ และก็ให้กับโลกโดยรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด และทุกคนทำได้
“ผมคิดว่าเริ่มต้นง่ายๆ วันนี้คุณดูแลคุณพ่อคุณแม่ของคุณหรือเปล่า ให้อะไรกับคุณพ่อคุณแม่ของคุณบ้าง และก็เริ่มกลับมาถามตัวเองว่า คุณได้รับอะไรบ้างจากผู้ที่อยู่รอบข้าง แล้วได้ให้อะไรตอบแทนไปบ้าง กลับมาถามตัวเองว่า คุณได้รับอะไรบ้างจากบริษัท แล้วได้ให้อะไรกับบริษัทบ้าง คุณได้รับอะไรบ้างจากสังคม และได้ให้อะไรคืนแก่สังคมบ้างเพราะคุณค่าของเราไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่เรามีอะไร แต่คุณค่าของเราเกิดขึ้นจากการที่เราให้อะไรแก่คนอื่น”
ความกตัญญูสร้างความสำเร็จ
“ความเชื่อของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในเรื่องของความกตัญญู เป็นความเชื่อและเป็นคุณค่าที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น องค์กรของเรามาถึงจุดที่ตอบคำถามได้ว่า ทำไมเราจึงมีอายุถึงเกือบ 100 ปีแล้ว และผมก็หวังว่าองค์ความรู้นี้จะถูกถ่ายทอดไปยังรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่เฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้บริหารสูงสุดก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้สึกได้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ร่วมงานก็เป็นฝ่ายให้โอกาส ให้อะไรแก่เรามากมาย ก็ย่อมรู้สึกอยากจะให้กลับ ทำให้เรารับรู้ถึงความมั่นคง ความสุขทุกข์ ความเป็นอยู่ที่ดี ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของพวกเขา สัมผัสได้ว่าถ้ามีความร่วมมือกันในระหว่างทีมงานด้วยกัน จะสามารถนำผลลัพธ์ที่ดีมาสู่องค์กร สามารถสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าได้”
กตัญญูคือการเห็นผู้อื่นมีความสุข
“เรามองข้ามตนเองได้ไหม? ก็ไม่ควรมองข้ามตนเอง เพราะถ้าเราไม่ดูแลรักษาสุขภาพเราไม่ดูแลตัวเอง ไม่พัฒนาตัวเราเอง แล้วเราจะไปช่วยเหลือคนอื่น จะไปตอบแทนและไม่เป็นภาระต่อผู้ที่เรารักได้อย่างไร เพราะฉะนั้นหากถามว่าเราต้องกตัญญูต่อตนเองไหม? แน่นอนก็ต้องกตัญญูต่อตนเองด้วย เพื่อให้เราได้มีโอกาสที่จะเป็นฝ่ายให้แก่ผู้อื่น เพื่อให้เรามีโอกาสที่จะตอบแทนสิ่งที่เราได้รับ เป็น Give and Take เพราะความสุขของเราที่จริงแล้วก็คือการที่ได้เห็นคนอื่นมีความสุข การที่เราเป็นผู้ให้และเป็นผู้รู้จักรับด้วยความรู้สึกยินดีด้วยความรู้สึกที่เราอยากจะให้เขากลับคืน อันนี้เป็นความสุขและเป็นความสุขแท้”
ที่มา : วารสารบัวบาน ฉบับที่ 7/2561