“เราต้องจดจำบุญคุณนั้น เราต้องไม่ลืม แต่ไม่ลืมยังไม่พอ
ถ้ามีโอกาสช่วยเหลือเขากลับคืนได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี”
ด้วยเห็นคุณค่าของความกตัญญูจากแบบอย่างที่ดีในครอบครัว ทำให้คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เชื่อมั่นในคุณธรรมดังกล่าวตลอดมา และถ่ายทอดแนวคิดไว้ว่า การตอบแทนความดีให้กันนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนควรช่วยกันสานต่อให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ดีงามในสังคมของเราต่อไป
เริ่มต้นความกตัญญู
“การรู้คุณคนหรือการกตัญญู ต้องเริ่มจากคนในครอบครัว ถ้าเผื่อเราเองไม่รู้จักกตัญญูต่อพ่อแม่ แล้วเราบอกว่าเราจะไปช่วยเหลือคนอื่น จะไปรักสังคม ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่จริง”
ตอบแทนบุญคุณคือสิ่งดี
“ผมมองว่าความกตัญญูกับการรู้คุณคนเป็นเรื่องเดียวกัน เราต้องรู้ว่าใครมีบุญคุณต่อเรา และแค่รู้ว่าใครมีบุญคุณต่อเราก็ยังไม่พอ รู้แล้วก็ต้องคิดด้วยว่าเรามีอะไรที่จะตอบแทนบุญคุณคนที่มีพระคุณต่อเราได้บ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วการกตัญญูไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าจะต้องตอบแทนกับพ่อแม่หรือหัวหน้าเท่านั้น ใครก็ได้ที่เคยช่วยเหลือเรา ใครที่มีน้ำใจต่อเรา ใครก็แล้วแต่ที่มีบุญคุณต่อเรา เราก็ควรจะจดจำบุญคุณนั้นไว้ แต่แค่ไม่ลืมยังไม่พอ ถ้าวันไหนมีโอกาสที่จะคืนคุณ ตอบแทนเขาได้ มีโอกาสช่วยเหลือเขากลับคืนได้ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่น่าจะทำ”
กตัญญูที่สมบูรณ์แบบ
“เกี่ยวกับเรื่องปรัชญา 3 ประโยชน์ของเครือฯ ก็คือประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน และสุดท้ายจึงเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ก่อนอื่นเลยประเทศชาติที่เราได้อยู่อาศัย ที่เราได้ไปทำธุรกิจจากประเทศชาตินั้นๆ ก็ถือว่าประเทศชาตินี้มีบุญคุณต่อเรา เกี่ยวกับเรื่องประชาชน เวลาเรามาทำธุรกิจกับประเทศของเขานี่ จริงๆ แล้วมันเป็นหน้าที่ของเราด้วยที่ต้องคิดว่าต้องทำอย่างไรให้ดีต่อสังคมของประเทศนั้นๆ ด้วย ถือเป็นหน้าที่ที่เราควรจะทำอะไรที่ดีต่อประเทศชาติของเขา ดีต่อประชาชนของเขา และสุดท้ายดีต่อองค์กร อันนี้แน่นอน เพราะว่าองค์กรต้องเลี้ยงดูพนักงาน แล้วจริงๆ พนักงานทุกคนที่ได้ทุ่มเทให้กับองค์กร ก็ต้องถือว่ามีบุญคุณต่อองค์กร เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ต้องดูแลคนที่ทุ่มเท เสียสละ และทำหลายๆ อย่างที่ดีให้กับองค์กร”
กตัญญูคือสิ่งประเสริฐ
“คำว่า ‘กตัญญู’ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตที่ดีงาม อยากจะให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่คนทั่วโลกยึดมั่น แล้วก็เชื่อในความกตัญญู รู้คุณคน ใครที่เคยดีกับเรา ถ้ามีโอกาสเราก็ควรจะดีต่อคนเหล่านั้น สำหรับตัวผมเองก็ยังยึดถือเรื่องความกตัญญูรู้คุณคน และผมก็เชื่อว่าเรื่องนี้ ถ้าเราสามารถทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่ดี
“การรู้คุณคนและการรู้จักทดแทนคุณคนนั้นเป็นความเชื่อที่ดี จะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมหรือความเชื่อก็ได้ แต่มันเป็นสิ่งที่ดี อยากจะฝากคนรุ่นหลัง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เชื่อในสิ่งนี้”
ที่มา : วารสารบัวบาน ฉบับที่ 7/2561