ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก มีศักยภาพการผลิตมากกว่า 4,000,000 ตันต่อปี หรือกว่าหนึ่งในสามของโลก ประมาณร้อยละ 88 เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ที่เหลือร้อยละ 12 ใช้ในประเทศผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ
ตลาดส่งออกหลักของไทย คือ จีน รองลงมา มาเลเซีย ญี่ปุ่น ยุโรป เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา
“ยางพารา” ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากรายได้การส่งออกยางพาราในปี 2013 ที่มีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท (ยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยาง) มากเป็นอับดับ 1 ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่าล้านคนต่อปี
ปัจจุบันแม้ราคายางจะไม่สูงเท่าในอดีต แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าต้นปีหน้าแนวโน้มราคายางพาราจะขยับขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก เพราะหากดูจากรายงานขององค์กรศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ หรือ International Rubber Study Group (IRSG) จะพบว่า ความต้องการใช้ยางพาราของโลกในปี 2020 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 14 ล้านตัน จากตัวเลขปี 2556 ประมาณ 11.2 ล้านตัน โดยคาดว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากตลาดเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดีย เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว
โอกาสที่กำลังจะมาถึง ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรให้กับอุตสาหกรรมยางพารา
การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยต้องทำอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ประกอบการและเกษตรกร ต้องจับมือกันยกระดับการผลิตยางพาราของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไปสู่ความยั่งยืน
การผนึกกำลังระหว่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด หนึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร กับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส. เลย จำกัด(สกต.) เพื่อขับเคลื่อน “โครงการ 4 ประสานว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาดยางก้อนถ้วยคุณภาพของเกษตรกรในจ.เลย อย่างยั่งยืน (Loei Model)” ที่เริ่มเดินเครื่องไปเมื่อเร็วๆ นี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเป็นการนำเอาจุดแข็งแต่ละองค์กรมาช่วยเกษตรกรซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมยางให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อรองรับโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
เพราะโครงการนี้สนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้ถึงการผลิตน้ำยางคุณภาพตามหลักวิชาการและการผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่ายางพาราอย่างน่าสนใจ
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมซี.พี.ถึงให้ความสนใจไปพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในจังหวัดเลย จากการสำรวจข้อมูลของซี.พี.พบว่า จังหวัดเลยเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการปลูกยางมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย เพราะมีการที่ปลูกยางถึง 800,000 ไร่ ซี.พี.จึงได้เลือกที่นี้ตั้งโรงงานแปรรูปยางแท่งแห่งแรกขึ้นที่ ต.ปากปวน อ.วังสะพุง จ.เลย บนพื้นที่ 134 ไร่ มูลค่าลงทุนกว่า 400 ล้านบาท รับซื้อยางก้อนถ้วยสะอาด คุณภาพดี จากเกษตรกรในโครงการในรัศมี 30 กิโลเมตร สามารถรองรับผลผลิตยางพาราได้ 150,000-200,000 ไร่ หรือประมาณ 40,000-60,000 ตัน/ปี
ภายในโรงงานได้นำเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ทำให้โรงงานแห่งนี้สามารถแปรรูปยางก้อนถ้วยเป็นยางแท่งได้ถึง 40,500 ตันต่อปี หรือประมาณวันละ 135 ตันต่อวัน โรงงานนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ทางซี.พี.ได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งด้านหน้าโรงงานจัดสร้าง “คลินิกยางพารา” ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ให้คำแนะนำกับเกษตรกรที่มีปัญหาด้านการปลูกยาง และจัดทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา แนะนำการกรีดยางที่ถูกต้อง การวิเคราะห์ดิน เพื่อให้เกษตรใส่ปุ๋ยถูกวิธี ถูกจังหวะ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจ่ายลง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ปลูกยางพาราพันธุ์ใหม่ ที่ได้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ปัจจุบัน
หากเกษตรกรปลูกยางถูกวิธีก็จะได้ยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพ โดยแทบไม่ต้องใช้งบลงทุนอะไรเพิ่ม เช่น การเก็บเกี่ยวใช้ฝาครอบถ้วยก็ราคาถูกมาก และเมื่อผลผลิตดีมีคุณภาพก็สามารถขายได้ราคาสูง แถมยังไม่ต้องนำไปขายในพื้นที่ห่างไกล ประหยัดค่าขนส่ง และไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรก็มีรายได้เพิ่ม ซี.พี.ได้ของคุณภาพดีไปขาย
ปัจจุบันเกษตรผลิตยางได้ 200 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อซี.พี.เข้าไปส่งเสริมตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรได้ถึง 400 กิโลกรัมต่อไร่ นั่นหมายถึงว่าระยะยาว เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน ในส่วนนี้เป็นประโยชน์ทั้งเกษตรกร ประโยชน์ประเทศชาติ ประโยชน์ทั้งบริษัท
การเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีการปลูกยางของเกษตรกรในจังหวัดเลย ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำให้เกษตรกรเห็นว่า เมื่อเขาเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นซี .พี.จึงเข้าไปช่วยเกษตรกรตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือ วิเคราะห์ดิน เลือกพันธุ์ยางที่ดี แนะนำให้ใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง และดูแลสวนยางอย่างถูกหลักวิชาการ
ยกตัวอย่างชัดๆ การกรีดยาง ชาวบ้านจะใช้ภาชนะที่ไม่มีฝาปิด อาจจะถ้วยบ้าง กะลาบ้างในการรองน้ำยางที่ได้จากการกรีด ทำให้ เศษสิ่งสกปรกปนเปื้อนเข้าไปในยางก้อนถ้วย หลายสวนเมื่อน้ำยางเต็มถ้วยก็นำไปวางกองรวมไว้ที่พื้นโคนต้นรอการขนย้าย ทำให้ยางสกปรกเมื่อนำยางไปขายก็ไม่ได้ราคา แต่เมื่อเกษตรมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ซีพี ยังพัฒนาการกรีดยางเป็นระบบปิด สามารถกรีดตอนกลางวัน เวลาฝนตกก็กรีดได้ ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านสะดวกขึ้น นับเป็นนวัตกรรมระบบใหม่ในวงการยางพารา นอกจากจะทำให้ได้น้ำยางคุณภาพ ขายได้ราคาสูงขึ้นแล้วยังได้ปริมาณน้ำยางที่เพิ่มขึ้น การทำสวนยางพาราก็จะมีความยั่งยืน อุตสาหกรรมยางพาราไทยก็จะมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ เมื่อโอกาสมาถึงประเทศไทยก็พร้อมที่จะเป็นเบอร์หนึ่งด้านการผลิตยางพาราของโลก