นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เชื่อมั่นว่า ในยุค E-commerce เช่นปัจจุบันการผลิตที่ทันสมัยเท่านั้นจะนำมาซึ่งชัยชนะ ทั้งนี้นายธนินท์ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจในนิตยสาร NIKKEI ASIAN REVIEW ฉบับวันที่ 30ตุลาคม2557
NIKKEI ASIAN REVIEW : คุณคาดหวังอะไรจากการร่วมทุนกับบริษัทอิโตชู ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น
นายธนินท์ : บริษัทญี่ปุ่นมีความสามารถ มีองค์ความรู้ และมีศักยภาพ นอกจากนี้บริษัทญี่ปุ่นยังเก่งในการใช้จุดแข็งของตนเองเข้าไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครือเจริญโภคภัณฑ์นั้นก็ใช้วิธีเดียวกับบริษัทญี่ปุ่นในการเข้าไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา และได้ประสบความสำเร็จในธุรกิจเกษตรและอาหาร วิธีการก็คือเครือเจริญโภคภัณฑ์สรรหาเงินทุน และเทคโนโลยี และให้การตลาดแก่ประเทศนั้น ๆ รับซื้อวัตถุดิบแล้วนำมาแปรสภาพเป็นสินค้าที่มีคุณภาพจำหน่ายต่อประชาชนในประเทศนั้น ซึ่งทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ประสบความสำเร็จและเติบโต
ในช่วงหลังสงคราม บริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นก็ใช้วิธีนี้เช่นเดียวกัน แม้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของญี่ปุ่นจะมีขนาดเล็กกว่าจีน แต่รายได้ต่อหัว (per-capita) ยังคงสูงกว่า จึงเชื่อว่าความรู้คความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของญี่ปุ่นจะยังคงสามารถนำไปใช้ได้ดีในประเทศกำลังพัฒนา หรือ แม้กระทั่งในประเทศจีน
เครือเจริญโภคภัณฑ์ใช้หลัก “3 ประโยชน์” ในการลงทุน คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และบริษัท ถ้าเราสามารถผลิตสินค้าที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศที่เข้าไปลงทุน รัฐบาลของประเทศนั้นก็ให้การสนับสนุน ประชาชนในประเทศนั้นก็ซื้อหรือบริโภคสินค้าของเรา ซึ่งก็ช่วยให้เครือเจริญโภคภัณฑ์เติบโต
NIKKEI ASIAN REVIEW : สิ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์จะได้รับจากพันธมิตรคืออะไร
นายธนินท์ : เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความเข้าใจในประเทศกำลังพัฒนาและมีวิธีการที่จะให้ความช่วยเหลือ เราประสบความสำเร็จในจีน รัสเซีย ในอาเซียน บังคลาเทศ ตรุกี และปากีสถาน ทั้งนี้สิ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์คาดหวังจากอิโตชูก็คือการหาเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การสนับสนุนการขายสินค้าเกษตรไปทั่วโลก และโอกาสที่จะซื้อเครื่องจักรที่มีคุณภาพ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์หวังว่าอิโตชูจะนำพาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจมาให้แก่เรา เพื่อที่เราจะได้ใช้โอกาสนั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการพัฒนาธุรกิจต่อไป
เครือเจริญโภคภัณฑ์เก่งในธุรกิจเกษตรและอาหาร และก็ยังทำธุรกิจค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านซีพีเฟรชมาร์ท แมคโคร และโลตัส ซึ่งธุรกิจของอิโตชูก็มีครอบคลุมในส่วนนี้ทั้งหมด รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่อิโตชูมีอยู่ทั่วโลก ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่กว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์เสียอีก นี่คือสิ่งที่เราตั้งความหวังไว้อย่างสูง
ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตที่ดีที่สุดในโลก เป็นผู้ผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพและใช้เทคโนโลยีสูง ทั้งนี้เชื่อว่าผู้ผลิตจะมีความสำคัญมากขึ้นในทิศทางเดียวกับการเพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ตและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แม้ทุกอย่างสามารถทำได้ทางออนไลน์จากการซื้อการขายในห้างสรรพสินค้าเสมือน (virtual shopping malls) แต่ก็ต้องมีการผลิตสินค้า แม้แต่เพลงและภาพยนตร์ บางประเทศกล่าวว่าการผลิตไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมมั่นใจว่าผู้ผลิตจะเป็นผู้ชนะ
NIKKEI ASIAN REVIEW : ปัจจุบันทั่วโลกสนใจและมุ่งสู่เอเชีย แต่ทำไมเครือเจริญโภคภัณฑ์ถึงซื้อ Tops Foods ในเบลเยี่ยม
นายธนินท์ : บริษัทนี้มีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในโลก มีคนงานเพียง 7 คนแต่สามารถผลิตอาหารได้ถึงวันละ 200,000 กล่อง บริษัทโดดเด่นมาก เครือเจริญโภคภัณฑ์จะใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตนี้เพื่อผลิตอาหารส่งไปขายทั่วเอเชีย ในเวลาเดียวกันก็จะผลิตอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปขายในยุโรปด้วย เพราะฉะนั้นเครือเจริญโภคภัณฑ์จึงจำเป็นใช้การผลิตที่ทันสมัยของยุโรปซึ่งมีหุ่นยนต์ ไม่ต้องใช้แรงงาน และใช้ Tops Foods เป็นเครือข่ายการขายเข้าไปในยุโรป ในขณะเดียวกันเราก็สามารถขายสินค้าจากทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ที่ยุโรปด้วย
วันนี้ทุกคนสามารทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยง่าย เพียงแค่การตั้งห้างสรรพสินค้าเสมือน แต่ในมุมมองของผม ผู้ผลิตที่มีกระบวนการผลิตที่ทันสมัยและล้ำหน้าเท่านั้นจะเป็นผู้ชนะคนสุดท้ายในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
NIKKEI ASIAN REVIEW : ทำไมเครือเจริญโภคภัณฑ์ถึงสนใจลงทุนเพิ่มขึ้นในธุรกิจค้าปลีก
นายธนินท์ : ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้นเท่าใดก็ตาม สุดท้ายก็ต้องการผลิต การขนส่งและการกระจายสินค้า เราจึงวางแผนที่จะผลิตสินค้าแล้วรวบรวมไว้ในศูนย์กระจายสินค้า เพื่อส่งมอบให้กับผู้บริโภคทั้งในส่วนที่ของธุรกิจกับธุรกิจ (B to B) และธุรกิจเพื่อผู้บริโภค(B to C)ผ่านเครือข่ายการขนส่งและการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
NIKKEI ASIAN REVIEW : ทำไมเครือเจริญโภคภัณฑ์ถึงร่วมลงทุนกับเซี่ยงไฮ้ออโต้โมทีฟในจีน
นายธนินท์ : ในความจริงแล้ว ผมไม่ได้สนใจธุรกิจรถยนต์มากเท่าใดนัก แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเซี่ยงไฮ้ออโต้โมทีฟเป็นเพื่อนเก่าแก่ที่เคยร่วมทุนทำธุรกิจมอเตอร์ไซต์ด้วยกัน ผมตัดสินใจร่วมลงทุนกับเซี่ยงไฮ้ออโต้โมทีฟเพราะต้องการขยายธุรกิจนี้มาที่ประเทศไทย ผมคิดว่าธุรกิจรถยนต์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์คงสู้กับโตโยต้าไม่ได้ แต่รถยนต์แบรนด์MG(เซี่ยงไฮ้ออโต้โมทีฟเป็นผู้ผลิต)ก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นรถสปอร์ตคันแรกของโลก ซึ่งคิดว่าเป็นจุดที่นำมาขายได้ในเอเชีย ซึ่งทำให้กับเซี่ยงไฮ้ออโต้โมทีฟสามารถที่จะแข่งกับรถยนต์ของบริษัทยุโรปได้
NIKKEI ASIAN REVIEW : นอกเหนือไปจากธุรกิจอาหารและรถยนต์ เครือเจริญโภคภัณฑ์สนใจธุรกิจใดอีก
นายธนินท์ : อะไรที่ญี่ปุ่นมีมากที่สุด ซึ่งก็คือเสื้อผ้า ของใช้ อาหาร และรถยนต์ซึ่งล้วนอยู่ใต้แบรนด์ที่แข็งแกร่ง ผมมั่นใจว่าผู้ผลิตญี่ปุ่นที่มีแบรนด์แข็งแกร่งจะเป็นผู้ชนะในวันพรุ่งนี้ แต่เมื่อผลิตมากไปก็จะล้นตลาด ผู้ผลิตก็อาจจะแพ้ได้ ขณะนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโต วันนี้บริษัทในธุรกิจอีคอมเมิร์ชมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงขึ้น 60 - 70 เท่า บางแห่งถึง 100 เท่า ยิ่งขายมากก็ต้องผลิตมาก ผู้ที่มีเครือข่ายขนส่งและกระจายสินค้าที่ดีจะได้รับประโยชน์
NIKKEI ASIAN REVIEW : บริษัทไทยหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จในจีน แต่เครือเจริญโภคภัณฑ์เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ไม่ทราบว่ามีเคล็ดลับอะไร
นายธนินท์ : ความสำเร็จในจีนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ขึ้นอยู่กับการบรรลุเป้าหมาย “3ประโยชน์” ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ประโยชน์แรกคือบริษัทจำเป็นต้องลงทุนในโครงการที่เกิดประโยชน์แก่ประเทศจีน ถ้าเราทำได้เช่นนั้นรัซบาลจีนก็จะให้การสนับสนุน นอกจากนี้การลงทุนของเราต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศจีนด้วย
อีกเคล็ดลับความสำเร็จของเครือเจริญโภคภัณฑ์คือการมอบเทคโนโลยีที่ดีที่สุดเข้าไปเพื่อสร้างคนของประเทศนั้น ปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นพี่น้องกัน เราส่งคนไทยไปไม่กี่คน มีแค่ ฝ่ายการเงิน บัญชี เทคนิค
NIKKEI ASIAN REVIEW : วิสัยทัศน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในอีก 10, 20 และ 50ปีข้างหน้า และแผนการสืบทอดธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์
นายธนินท์ : ในอนาคตข้างหน้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น 10 ปี 20 ปี หรือ 50 ปีก็ตาม เรายังคงผลิตอาหารและสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในส่วนของธุรกิจเกษตรเราพยายามที่ดำเนินธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิตไปจนถึงโต๊ะอาหาร
ผมต้องการให้ลูกชายของผมกำกับดูแลธุรกิจโดยรวมมากกว่าการลงไปบริหารแบบลงลึก เราพยายามใช้มืออาชีพทั้งหมด ใช้ผู้บริหารมืออาชีพที่มีความสามารถสูงควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจอย่างใกล้ชิด และผมยังจ้างคนที่มีความสามารถในเรื่องเทคโนโลยี การตลาด และคนที่เก่งในเรื่องการระดมทุน เพราะนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์คือ “คนเก่งทั่วโลกเป็นของซี.พี.”
หมายเหตุ : สัมภาษณ์โดย มร.เท็ตซึยะ อิกูชิ หัวหน้ากองบรรณาธิการ นิเกอิประจำภูมิภาคเอเชีย เผยแพร่ในนิตยสาร NIKKEI ASIAN REVIEW ฉบับวันที่ 30ตุลาคม2557
ที่มา : Nikkei Asian Review