ที่มา : MBA Connected Vol.24
เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว ที่ซีพีแรมผลิตเบเกอรี่ชิ้นที่ 1 เพื่อส่งร้าน 7-Eleven สาขาที่ 1 ที่พัฒน์พงศ์ ในปี 2532 จนนับมาถึงปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ตรา “เลอแปง” และ “7-Fresh” ออกสู่ตลาดร้านสะดวกซื้อกว่า 1 ล้าน 8 แสนชิ้นต่อวัน ทั่วประเทศ
คนไทยเรียกเบเกอรี่ว่า “ขนม” ทั้ง “ขนมปัง” และ “ขนมเค้ก” เพราะวัฒนธรรมการกินเบเกอรี่มาจากซีกโลกตะวันตก และผู้บริโภคคนไทยจะนึกถึงเบเกอรี่เมื่ออยากกินขนมรองท้องหรือของหวาน ขณะที่อาหารจานหลักยังคงเป็นข้าวเจ้า แต่ตลอดเวลาของการดำเนินธุรกิจเบเกอรี่ของซีพีแรมที่มุ่งมั่นสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในระดับราคาคุ้มค่า ที่เพียบพร้อมด้วยความอร่อยสู่สังคมไทย เพื่อให้เป็นทางเลือกของอาหารสะดวกซื้อสะดวกรับประทาน ที่มีความหลากหลาย การรับประทานเบเกอรี่ของคนไทยได้พัฒนาเป็นอาหารมื้อเช้าที่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตสมัยใหม่ของครอบครัวเล็ก ซึ่งต้องการความเร่งรีบที่ถูกใจและถูกปากจากขนมปังพื้นฐานที่คุ้นเคย เช่น ไส้กรอก หมูหยอง ผู้บริโภคมีความสุขกับผลิตภัณฑ์ที่คัดสรรมานำเสนอหลากหลาย ทั้งแซนด์วิชชนิดต่างๆ ไส้หลากชนิด ขนมปังที่มีรูปร่าง ขนาด และรสชาติแตกต่างกัน พายยอดนิยมมากเมนู ไปจนถึงเดนิช หรือครัวซองท์ ซึ่งซีพีแรมได้นำความรู้และเทคโนโลยีของตะวันตกมาผสมผสานกับองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเครื่องจักรของตะวันออก เพื่อมุ่งสู่คุณภาพของเบเกอรี่ที่เหมาะสมกับคนไทย โดยใส่ใจกับการนำศิลปะและวัฒนธรรมการกินของผู้บริโภคมาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งมอบให้กับลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจคือ การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคผ่านช่วงชีวิต 6 ยุคของการพัฒนาองค์กร ได้แก่
ยุคที่ 1 ยุคก่อร่างสร้างตัว (พ.ศ. 2531-2535)
ยุคที่ 2 ยุคแห่งการพัฒนา (พ.ศ. 2536-2540)
ยุคที่ 3 ยุคสู่สากล (พ.ศ. 2541-2545)
ยุคที่ 4 ยุคสู่ความเป็นเลิศ (พ.ศ. 2546-2550)
ยุคที่ 5 ยุคเติบโตอย่างมั่นคง (พ.ศ. 2551-2555)
ยุคที่ 6 ก้าวสู่...ยุคครบเครื่องด้วยนวัตกรรม (พ.ศ. 2556-2560)
การก้าวสู่ยุคนวัตกรรม คืออีกช่วงการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขององค์กร นั่นคือการมุ่งนำธุรกิจเข้าสู่ยุค “เบเกอรี่ 4.0” มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง ลงทุนสูง เข้ามาบริหารเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ประสิทธิภาพสูงขึ้น ในราคาต้นทุนที่ต่ำลง เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคจำนวนมาก โดยยังคงตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแบบ Mass Customization ได้อย่างประสบผลสำเร็จ
การบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างบูรณาการ ด้วยการผนึกกำลังกับทุกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนำมาสู่ความสำเร็จร่วมกัน โดยมีทีมงานที่เพียรค้นหา Voice of Customer ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเป็นผู้นำการผลิตสินค้าเพื่อเป็น “อาหารเช้า” จึงเป็นหลักฐานที่ดีของความสำเร็จในยุคเริ่มต้นของ “เบเกอรี่ 4.0” ซึ่งซีพีแรมเป็นรายแรกที่ผลิต “ขนมปังแซนด์วิชกระเป๋า” หรือ “Pocket Sandwich” ซึ่งเป็นขนมปังแผ่นตัดขอบประกบคู่สอดไส้ตรงกลางและปิดขอบริมทุกด้าน ออกวางจำหน่ายราคา 12 บาท จนกลายเป็นสินค้าฮิตสำหรับคนทำงาน ผู้หญิงและเด็ก ด้วยไส้ยอดนิยม หมูหยอง ทูน่า ปูอัด และเมนูเทศกาล หรือเมนูใหม่ๆ อินเทรนด์ มาสลับหมุนเวียน และได้มีการต่อยอดด้วย “ดับเบิ้ลแซนด์วิชกระเป๋า” หรือ “Double Pocket Sandwich” คือ แซนด์วิชกระเป๋าสองรสชาติมาบรรจุคู่ในหนึ่งชิ้น ราคาเพียง 20 บาท ให้ลูกค้าผู้ชายวัยทำงานเลือกหยิบซื้อด้วยความอิ่ม อร่อย คุ้มค่า
สายการผลิตอัตโนมัติพาย เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงของ Mass Customization ที่ทำให้ซีพีแรมเป็นผู้นำตลาดเพรสตี้ ด้วยยอดขาย 250,000 ชิ้นต่อวัน กับพายที่มีลักษณะเฉพาะตัว สูตรพิเศษที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าคนไทย ด้วยไส้หลากหลาย ซึ่งนำความสุขมาให้กับผู้บริโภคที่เลือกสรร
อย่างไรก็ตาม “เสน่ห์” ของเบเกอรี่ยังคงเป็นการผสมผสานความ “นำสมัย” และความ “พื้นฐาน” ของความชอบของคนไทยลงสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้ลองรับประทาน นับเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของการพัฒนาตลาดเบเกอรี่ ซีพีแรมจึงคงแรงงานฝีมือด้วยทักษะ ประสบการณ์ ของช่างทำขนมอบ ภายใต้องค์ความรู้จากทั่วโลกและพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ การจัดประยุกต์สายการผลิตแบบดั้งเดิม พื้นบ้าน และแบบกึ่งอัตโนมัติ ให้เหมาะสมในการส่งมอบสินค้าและบริการสู่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายทั่วประเทศ เช่น เค้กชิ้น เค้กโรล เค้กปอนด์ ทั้งในอุณหภูมิปกติและอุณหภูมิแช่เย็น ให้เป็นของหวานที่ผู้บริโภคเรียกหาหลังมื้ออาหาร
ความเป็นตะวันตกและตะวันออก ความเป็น Mass และความ Homemade ความอิ่มอร่อยอย่างเต็มมื้อกับความละมุนรองท้อง หรือความคุ้นเคยกับความนำสมัย ทั้งหมดนี้คือความแตกต่างที่ซีพีแรมนำมาผสมผสานให้ลงตัว ก่อเกิดเป็น “เบเกอรี่ 4.0” ที่ตอบสนองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสุขและประโยชน์ของลูกค้าอย่างจริงใจตลอดไป