• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

ประเทศไทยต้องก้าวให้พ้นกับดัก ด้านการผลิต


โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนากลยุทธ์และธุรกิจ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

17 ตุลาคม 2560

เมื่อมีข่าวเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวหมายเลข 1 ของโลกทีไร ดูเหมือนพวกเราจะพากันเสียอกเสียใจกันยกใหญ่ และพยายามที่จะแย่งแชมป์กลับคืนมาให้ได้ ไม่ว่าจะจากเวียดนามในปัจจุบัน หรือพม่าในอดีต

โดยสภาพทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยึดโยงอย่างใกล้ชิดกับข้าว ทำให้คนไทยยึดอาชีพปลูกข้าวต่อเนื่องกันมานานแสนนาน จนอาชีพทำนาได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ อันแปลความได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่งยวดต่อชาติประเทศกันเลยทีเดียว

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 80 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปี 65 ล้านไร่ และข้าวนาปรัง 15 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวนาปี 28.5 ล้านตัน นาปรัง 10 ล้านตัน (ตัวเลขปี 2556-กรมการข้าว) การปลูกข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี 2556 พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มจากปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 12 สำหรับข้าวนาปี และร้อยละ 15 สำหรับข้าวนาปรัง ด้วยการคมนาคมที่ดีขึ้น การแทนที่โคและกระบือด้วยรถแทรกเตอร์เพื่อทำงานในนา ระบบชลประทานที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนา ตลอดจนข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวมากขึ้น การปลูกข้าวส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงร้อยละ 57 ภาคเหนือร้อยละ 22 ที่เหลือเป็นภาคกลางและภาคใต้ 

อย่างไรก็ตาม ข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้แม้จะถูกส่งออกเป็นข้าวที่สีแล้ว ในรูปของข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวเหนียว และข้าวนึ่ง ฯลฯ แต่ธรรมชาติของสินค้าก็ยังคงมีความเป็น "คอมมอดิตี้" ทำนองเดียวกับข้าวโพดหรือยางพารา กล่าวคือ ราคาจะขึ้น-ลงค่อนข้างผันผวนตามอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply) ในแต่ละปี ถ้าปีไหนผลผลิตน้อย ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ก็จะสูง ถ้าผลผลิตออกมามาก ราคาก็จะลดฮวบฮาบลง โดยที่ "ต้นทุน" อันเกิดจากค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรง ค่าเช่าที่ดิน ฯลฯ จะคงที่ อาจเปลี่ยนแปรบ้างเล็กน้อยตามประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตของ แต่ละคน

ปัญหาทำนองนี้เกิดกับสินค้าเกษตรซึ่งถูกนับให้เป็นพืชเศรษฐกิจแทบทุกตัว นอกจากข้าวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ที่โด่งดังมากอีกตัวหนึ่งก็คือยางพารา เพราะมีผู้ยึดเป็นอาชีพจำนวนมาก พื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศมีประมาณ 22 ล้านไร่ กว่าครึ่งหนึ่งปลูกอยู่ในภาคใต้ เฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลามีพื้นที่ปลูกยางรวมกันมากกว่าที่ปลูกอยู่ในภาคอีสานทั้งหมด คือเกือบ 5 ล้านไร่ทีเดียว

การเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนคงที่ อันเกิดจากค่าจ้างกรีดยาง ค่าแปรสภาพเป็นยางแผ่นดิบ ค่าจัดเก็บ ฯลฯ เฉลี่ยตกกิโลกรัมละ 50 บาท ถ้าราคายางต่ำกว่านี้ เกษตรกรก็อยู่ไม่ได้แล้ว นี่จึงเป็นปัญหาอีหรอบเดียวกันกับกรณีของข้าวดังที่กล่าวมาข้างต้น

ปัญหาเช่นนี้เกิดมาชั่วนาตาปี และก็มีดราม่าให้พวกเราได้เห็นกันทุกปีถึงความลำบากของพี่น้องชาวนาและชาวสวนยางที่ต้องเผชิญกับการขายข้าวขาดทุน ขายยางไม่ได้ราคา มีหนี้สินพะรุงพะรัง ยังผลให้รัฐบาลยุคต่างๆ ต้องยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งกลไกก็แสนสลับซับซ้อน ใช่ว่าจะแก้ไขได้โดยง่าย

แอบมองประเทศที่ไม่มีที่ทางในการทำเกษตรอย่างเพื่อนบ้านสิงคโปร์ เขาก็เลยไม่มีปัญหานี้ ด้วยสภาพการณ์บังคับ ไม่มีพื้นที่ปลูกทุเรียน จึงสั่งทุเรียนจากประเทศไทยไปค้าขายเสียเลย จนกลายเป็นตลาดกลางในการค้าทุเรียนไปฉิบ 

 พูดง่ายๆ คือ ประเทศไทยเป็น "ผู้ผลิต" แต่สิงคโปร์เอาไป "ทำตลาด" และเขาก็ได้ส่วนต่างจากการคัดทุเรียนเกรดดี เสริมเติมด้วยบริการอื่นๆ (Value Added Services) ที่ลูกค้าต้องการ

ประเทศเราในอดีตจนถึงปัจจุบันยังเกาะเกี่ยวอยู่แต่กับภาคการผลิต เราจึงมีกรมวิชาการเกษตรที่เน้นงานวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิต ทั้งข้าว ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ มีกรมการข้าวที่ดูแล "การผลิตข้าว" เป็นหลัก ถ้าเข้าไปดูโครงสร้างของกรมก็จะเห็นชัดเจน เช่น กองเมล็ดพันธุ์ข้าว กองวิจัยและพัฒนาข้าว สำนักส่งเสริมการผลิตข้าว สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ฯลฯ โดยเน้นด้านการตลาดไม่มาก หรืออาจไม่มีเลย กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวและกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ อาจมีคำว่า "ผลิตภัณฑ์" อยู่ แต่ไม่ทราบว่ามีภารกิจมุ่งเน้นไปทางการตลาดมากน้อยเพียงใด

เมื่อให้ความสำคัญกับงานด้านการตลาดน้อย หรือแทบไม่มีเลยเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พืชเศรษฐกิจตัวนี้ช่วยแค่ให้ประเทศได้ชื่อว่าเป็นแชมป์ส่งออกข้าวโลก (เพราะผลิตได้เยอะ) แต่บรรทัดสุดท้ายขาดทุน เพราะขายได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน ผู้ที่เกี่ยวข้อง (stakeholder) รายใหญ่สุด ซึ่งก็คือชาวนา จึงได้รับความเดือดร้อน

ในเชิงยุทธศาสตร์และโครงสร้าง ถ้าจะปฏิรูปให้ได้ผล ประเทศไทยต้องพาตัวเองก้าวให้พ้นกับดักด้านการผลิตโดยเร็ว หันมามองผลิตผลเชิงเศรษฐกิจทุกตัวอย่างครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม ดูให้ทะลุจากหัวถึงหาง และมุ่งเน้นงานด้านการตลาดมากขึ้น การจัดโครงสร้างในกรมกองต่างๆ ควรต้องปรับให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวนี้ มีกรมหรือกระทรวงเกี่ยวกับการตลาดมารับผิดชอบในการวางยุทธศาสตร์อย่างมีหลักการและเป็นมืออาชีพ เพื่อกำหนดตัวผลิตภัณฑ์ที่จะผลักดันอย่างสอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

ดูแล้ว ก.พ.คงต้องรีบให้ทุนข้าราชการไปเรียน MBA ที่ Harvard หรือ IMD เพื่อให้กลับมาช่วยกันกำหนดทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมในเชิงธุรกิจก็จะดีไม่น้อย 

ปัญหาที่คาราคาซังมานาน อาจต้องคิดใหม่ทำใหม่ จึงจะแก้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าจะปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง ผมขอเสนอเรื่องนี้ให้ท่านผู้มีอำนาจอยู่ในตอนนี้พิจารณาด้วย ไม่ทราบว่าจะช้าเกินไปไหม?

 

ที่มา: มติชน

ข่าวยอดนิยม

เครือเจริญโภคภัณฑ์บริษัทข้ามชาติแห่งแรกในจีนจดทะเบียนการค้าหมายเลข 000...

17 พฤษภาคม 2560
26576

การบริหารงานบุคคลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในยุค 4.0...

08 พฤศจิกายน 2560
21872

โครงการเลี้ยงไก่ไข่อาหารกลางวันนักเรียน การ “ให้” อย่างมีคุณค่า ทั้งด้...

03 กรกฎาคม 2558
20474

Cage Free Eggs ไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภ...

18 กรกฎาคม 2562
12442

แชร์ข่าวสาร

“ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์” แสดงวิสัยทัศน์บนเวทีการป... ‘ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ นำพาพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น’...
  • เกษตร
  • ข้าว
  • Rice
  • บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

“มาริษา เจียรวนนท์” บนเส้นทางรังสรรค์ อาหารเพื่อสังคม ผ่านมูลนิธิ CHEF...

23 พฤศจิกายน 2564
3787

สูตรรอด 'CPF' อยู่ร่วมโควิด กระจายความเสี่ยง 47 ประเทศ...

30 สิงหาคม 2564
3530

ทำความรู้จัก “สบขุ่นโมเดล”: CP ร่วมพัฒนา พลิกเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป...

13 กรกฎาคม 2564
4298

CP ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อน Social Enterprise ผู้นำหญิงนักพัฒนา ก้าวสู่ชุมช...

07 กรกฎาคม 2564
4175

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th