ฮ่องกง วันที่ 27 ก.ย. 60 ในการประชุม Forbes Global CEO Conference: The Next Generation ในงานฉลองครบรอบ 100 ปี Forbes คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ Building Legacies ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้บริหารระดับสูงรุ่นใหม่ของธุรกิจครอบครัวจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินเดีย (Dabur International) ไทย (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ฮ่องกง (Hip Shing Hong Holdings Co. Ltd. และ Li & Fung) และอินโดนีเซีย (Mayapada Group) ในการนำบทเรียนที่ได้รับจากผู้บริหารที่ส่วนใหญ่เป็นบุพการีของตนมาปรับใช้ รวมทั้งแนวทางการบริหารเพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ต่อไปในระยะยาว
ในการนี้ คุณศุภชัยได้แบ่งปันประสบการณ์จากกรณีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะการทำงานในธุรกิจโทรคมนาคม ที่ได้ผ่านทั้งความสำเร็จและอุปสรรคมาหลายประการ พร้อมกับการแข่งขันที่สูงมาก ตลอดจนการเข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารของเครือฯ ในปัจจุบัน โดยย้ำความสำคัญของการคัดเลือกและพัฒนาบุคลากรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาบริหารคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของผู้บริหารทั้งหมด รวมถึงการคัดเลือกกรรมการบริษัทด้วย ซึ่งจำเป็นต้องคัดเลือกคนที่เป็นทั้ง “ดีและเก่ง” เพื่อให้การบริหารงานเป็นแบบอย่างแก่มืออาชีพอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน คนที่ได้รับการคัดเลือกมาบริหารงานจำเป็นต้องมี “ใจ” ในสิ่งที่ทำเพราะจะช่วยให้พยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ดังกรณีของตนเองที่ถึงแม้ได้รับการศึกษาในประเทศตะวันตก หากไม่มีการขวนขวายเพิ่มเติม ความรู้เหล่านั้นก็ล้าสมัยไปในไม่ช้า
คุณศุภชัยเองก็ได้นำแนวปฏิบัติที่ได้รับการถ่ายทอดจากท่านประธานอาวุโสมาใช้กับครอบครัวด้วย ที่เน้นการฝึกฝนให้เป็น “เถ้าแก่” (entrepreneurs) ซึ่งนับเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ได้รับการถ่ายทอดมาในครอบครัว เพราะการเป็นเถ้าแก่ที่สำเร็จได้นั้นต้องอาศัยทั้งความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่น โดยคุณศุภชัยเปิดโอกาสให้บุตรของตนสร้างธุรกิจใหม่แทนการเข้าร่วมงานกับธุรกิจของเครือฯ และถึงแม้จะเป็นงานเพื่อช่วยเหลือสังคมดังเช่นที่บุตรสาวสนใจ ก็จะสอนให้คำนึงว่ากิจกรรมนั้นสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว กล่าวคือต้องมีรูปแบบธุรกิจ (business model) มาสนับสนุนด้วย
คุณศุภชัยยังได้กล่าวถึงกิจกรรมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมว่าต้องการเน้น 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การศึกษา ซึ่งเครือฯ ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อผลักดันกิจกรรมด้านนี้มาโดยตลอด (2) การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อาจจะเป็นในรูปของสหกรณ์หรือกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) เพื่อให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้และได้รับผลประโยชน์จากการเกษตรโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และ (3) การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ที่เน้นเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนและระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ โดยโครงการทั้งสามกลุ่มนี้ต้องมีการตั้งเป้าหมายและผลลัพธ์ชัดเจน