กลุ่มประเทศที่เรียกว่า CLMV ประกอบด้วย กัมพูชาลาวพม่า และเวียดนาม เป็นประเทศที่น่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นแหล่งของการค้า การลงทุน เป็นฐานการผลิตใหม่ในอนาคต
ประเทศอาเซียนสามารถแบบออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่อยู่ในทะเลประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ บรูไน เรียกว่า“อาเซียนเกาะ” เป็นประเทศที่เปิดตัวมาใกล้เคียงกันมีการพัฒนาประเทศไม่แตกต่างกับประเทศไทยมากนัก จึงมองว่าประเทศเหล่านี้มีความเป็นคู่แข่งมากกว่าพาร์ทเนอร์ ขณะที่ประเทศในกลุ่ม CLMV มีโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง และยังเป็นประเทศที่มีช่วงห่างของการพัฒนาต่างจากประเทศไทยมากพอสมควร ประกอบกับสภาพสังคม วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและเข้ามาทำงานในประเทศไทย มีความคุ้นเคยกับสังคมไทยหากเกิดความร่วมมือ เชื่อมต่อความสัมพันธ์ก็จะเป็นผลดีของทุกฝ่าย
ความน่าสนใจของประเทศกลุ่ม CLMV +T ในเชิงเศรษฐกิจพบว่า มีมูลค่า GDP รวมกันประมาณ 6.6แสนล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะในเมืองไทยมีมูลค่าประมาณ 3.9 แสนล้านเหรียญ มีประชากรรวมกันกว่า 240 ล้านคน มีพื้นที่เชื่อมต่อกัน รวม 1.94 ล้านตารางกิโลเมตร จึงเป็นที่สนใจของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนในการสร้างทางรถไฟเข้าพม่า ผ่านบังคลาเทศ แล้วเชื่อมไปสู่ประเทศอินเดีย
อย่างไรก็ดี เมื่อเปิด AEC ในปี 2015 ประเทศในกลุ่ม CLMV จะเกิด “9 ปฏิวัติด้านเศรษฐกิจ สังคม” ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่มีศักยภาพในด้านความรู้ ความสามารถ และเทคโนโลยี ที่จะเข้าไปเจาะตลาดเหล่านั้น
1. ปฏิวัติมอเตอร์ไซค์ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทาง เปลี่ยนแปลงด้านยานพาหนะจากที่คนพม่า กัมพูชา ลาวเดินเท้า ก็จะเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ และจากที่คนเวียดนามนิยมนิยมใช้มอเตอร์ไซค์ก็เปลี่ยนมาเป็นรถเป็นรถกระบะแทน
2. ปฏิวัติร้านโชห่วย มีอัตราการเติบโตของร้านโชห่วยเพิ่มสูงขึ้น มีการนำเข้าสินค้าไปขายมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของ Modern Trade ยังเป็นเรื่องที่ยากในปัจจุบัน อาทิ ในประเทศเวียดนามขณะนี้มี Modern Trade เพียง 300-400 ร้านเท่านั้น ส่วนใหญ่คนเวียดนามจะนิยมซื้อสินค้าที่สหกรณ์ร้านค้ามากกว่า
3. ปฏิวัติเครื่องใช้ไฟฟ้า จากที่ปัจจุบันหลายพื้นที่ในประเทศกลุ่ม CLMV ยังมีไฟฟ้าใช้ไม่ครอบคลุม จึงทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ายังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่เมื่อมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศเกิดการพัฒนามากขึ้น โอกาสของโรงไฟฟ้าโรงเล็กๆ จะเกิดขึ้นก็มีมาก ดังนั้นในอนาคตเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเป็นอุปกรณ์ที่มีความต้องการสูง และเป็นโอกาสของประเทศไทย เนื่องจากประชากรในประเทศเหล่านั้นมองว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศไทยมีคุณภาพสูง แม้ราคาจะแพงกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศจีนก็ตาม แต่คนเหล่านั้นก็ยินดีที่จะซื้อใช้
4. ปฏิวัติสินค้าอุปโภคบริโภค จากเดิมที่ประชากรในประเทศเหล่านั้นยังใช้วิถีชาวบ้านในการดูแลตัวเอง เช่น คนใน “CLM” จำนวนไม่น้อยยังใช้ผลมะกรูดเผาไฟสระผมอยู่ เมื่อเศรษฐกิจโต รายได้ต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น สินค้าที่จะใช้ เพื่อตอบสนองความเป็นอยู่พื้นฐานย่อมเปลี่ยนแปลงไป ก็จะเริ่มเปลี่ยนมาใช้สบู่ แชมพู แทน ซึ่งสินค้าเหล่านั้น ประเทศของเค้ายังไม่มีโรงงานผลิต จึงต้องนำเข้า
อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ เมื่อแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยย้ายกลับไปทำงานยังประเทศตน ก็จะนำวิถีการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการบริโภคติดตัวไปเผยแพร่ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย
ดังนั้น ประเทศไทยควรหันมาให้ความสำคัญในการยกระดับ R&D ก็จะเปลี่ยนจาก ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง หรือ Original Equipment Manufacturer (OEM) มาเป็น Original Technology Manufacturer (OTM) คือเริ่มมีเทคโนโลยีมากขึ้น แล้วไปสู่ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์หรือ Original Design Manufacturer (ODM) ก็จะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจไทยในที่สุด
5. ปฏิวัติภาคการเกษตร จะเห็นการขยายพื้นที่ทางการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างพม่ามีพื้นที่ทั้งประเทศสูงถึง 450 ล้านไร่ ยังไม่ได้นำมาใช้ทำการเกษตรประมาณ 130 ล้านไร่ เมื่อเทียบกับพื้นที่ในการเกษตรของไทยที่มีเพียง 150 ล้านไร่เท่านั้น ถือว่ามีโอกาสในการทำการเกษตรอีกมหาศาล และแนวโน้มในอนาคตพม่าจะเปลี่ยนการทำการเกษตรจากทำมาหากินเป็นทำมาค้าขายด้วยนโยบายการเปิดประเทศ ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะทำให้เป็นศูนย์การทางภาคเกษตร รวมถึงโอกาสในการเพิ่มมูลค่าสินค้า เนื่องจากไทยมีศักยภาพที่สูง
6. ปฏิวัติอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ผลิตเพื่อขายในประเทศ โดยเฉพาะประเทศCLMที่เริ่มมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ไทยควรศึกษาข้อมูล และนโยบายของแต่ละประเทศว่า ประเทศไหนให้การส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมประเภทไหน เพื่อหาช่องทางในการที่ไทยเชื่อมโยงหรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศนั้นๆ หรือเป็นผู้ส่งชิ้นส่วนไปขาย เพราะไทยมีศักยภาพในการผลิต มีโอกาสเป็นศูนย์กลาง Supply Chain ในภูมิภาคนี้
7. การปฏิวัติการก่อสร้าง เมื่อเปิด AEC ย่อมมีการค้าขาย และการลงทุนเกิดขึ้น ดังนั้นสาธารณูปโภคพื้นฐานย่อมเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศในกลุ่ม CLMV ขณะนี้ยังมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ดีเท่าที่ควร แนวโน้มจะมีการพัฒนาถนน การเพิ่มปั๊มน้ำมัน ฯลฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง และเศรษฐกิจยังมีอีกมาก
8. การปฏิวัติเมือง มีแนวโน้มความเป็นเมืองขยายตัวมากขึ้น และเกิดเมืองใหม่เพิ่มมากขึ้น วิถีการดำเนินชีวิต ความต้องการ และพฤติกรรมการบริโภคย่อมเปลี่ยนแปลงไป
9. การปฏิวัติเศรษฐกิจชายแดน เมื่อเกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าขายแดนมีแนวโน้มจะเฟื่องฟูยิ่งขึ้นไทยต้องประเมินโอกาสในการลงทุนว่า ควรจะย้ายฐานการลงทุนไปยังชายแดนของต่างประเทศ หรือหากมีการตั้งเศรษฐกิจพิเศษจะใช้ในรูปแบบไหนถึงจะเหมาะสม ตัวอย่างตอนประเทศจีนเปิดประเทศ ฮ่องกงย้ายฐานเข้าไปลงทุนในเซินเจิ้น จูไห่ ไม่ได้ตั้งเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดนฮ่องกงเพื่อดึงเอาแรงงานจีนเข้ามาทำงานในฮ่องกง หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นตอนที่ย้ายฐานการผลิตเข้าไปในประเทศเกาหลีใต้และไต้หวัน เพราะตอนนั้นเกาหลีและไต้หวันยังเป็นประเทศยากจนอยู่
ภายใต้การ “ปฏิวัติ” ที่กำลังจะเกิดขึ้น ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตั้งที่สามารถเชื่อมสู่ประเทศเหล่านั้น ความสามารถในด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์อันดีที่มีมาอย่างช้านาน ถือเป็นศูนย์กลางยุทธ์ศาสตร์เชื่อมความร่วมระหว่าง CLMV+ T ให้เกิดการผนึกความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตยิ่งขึ้