เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มสดใสในปี 2560 ด้วยแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การเติบโตจากภาคท่องเที่ยวและการส่งออก รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายจากภาครัฐ สถาบันหลายแห่งคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตระหว่างร้อยละ 3.0-4.0 ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ ทั้งจากมาตรการการกีดกัน ทางการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป โดย IMF คาดว่า ปี 2560 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ปรับขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการ เมื่อต้นปีที่ร้อยละ 3.4
ในปี 2560 สถาบันในประเทศและต่างประเทศประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่เติบโตร้อยละ 3.2 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ เห็นได้จากการดำเนินนโยบาย ขาดดุลต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวได้ที่ร้อยละ 10.9 ในปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีแรงบวกจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวสูงขึ้นและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้ที่ลดลง การขยายตัวที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการส่งออก รวมถึงผลดีจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตจากต่างชาติมาไทยและการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยก็ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างของการค้าโลก ความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าออกของไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยูโรโซน และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะต่ำกว่า ที่คาด ซึ่งจะมีผลกระทบกับการส่งออกตามมา
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2560 IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ตามการฟื้นตัวของการผลิตและการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปจากการเลือกตั้งผู้นำในประเทศสำคัญอย่างฝรั่งเศส อิตาลีและเยอรมนี ที่จะมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจในภูมิภาคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจสหรัฐฯ IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 จากร้อยละ 1.6 ในปี 2559 เป็นผลจากความคาดหวังของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังจะเห็นได้จากการบริโภค ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มสูงกว่าก่อนการเลือกตั้งและคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในอนาคตตามความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในวงเงิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถทำได้ ก็จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามมา
เศรษฐกิจยุโรป IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวในระดับเดียวกับปี 2559 ที่ร้อยละ 1.7 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคและการส่งออกที่ฟื้นตัว เนื่องจากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้นำของฝรั่งเศส อิตาลีและเยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่าร้อยละ 65 ของเศรษฐกิจยูโรโซน ซี่งผลการเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน นอกจากนี้ ความคืบหน้าของการเจรจาการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ยังเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญที่อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค
เศรษฐกิจญี่ปุ่น จะค่อยๆ ขยายตัวดีขึ้น IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 เพิ่มจากปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังของภาครัฐ รวมถึงการตั้งวงเงินงบประมาณประจำปี 2560 ที่สูงถึง 97.45 ล้านล้านเยน เพื่อหวังจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากภาวะเงินฝืด นอกจากนี้ ยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกและการลงทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 0.2 ถือเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาภาวะเงินฝืดเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจแดนซากุระก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่น การชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐและความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป
เศรษฐกิจจีน การประชุมประจำปีของสภาประชาชนจีน (National People’s Congress) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 เหลือร้อยละ 6.5 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายในปี 2559 ที่ร้อยละ 6.5-7.0 สะท้อนถึงการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่น้อยลง เพื่อให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ในระบบสูงและการปฏิรูปทางเศรษฐกิจมากขึ้น ที่ผ่านมา จีนยังเผชิญหน้ากับปัญหาเงินทุนไหลออก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาครัฐเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเงินทุนไหลออกมากขึ้น ทำให้เสถียรภาพทางการเงินของจีนอยู่ในระดับที่ดี โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.9 และ IMF ประมาณการว่าทั้งปี 2560 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพที่ร้อยละ 6.6 ชะลอตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 6.7 ในปีก่อน สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่สำคัญ คือ การเผชิญหน้ากันระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า ความตึงเครียดจะพัฒนาสู่การใช้อาวุธสงคราม
เศรษฐกิจอาเซียน IMF ประมาณการว่า ปี 2560 เศรษฐกิจอาเซียน 5 (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนามและไทย) ยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.9 ในปี 2559 เป็นผลสืบเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศและแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนามขยายตัว สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจอาเซียนที่สำคัญคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผันผวนของสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาค