ศุภชัย เจียรวนนท์ บุตรชายคนสุดท้องของ ธนินท์-คุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารหรือซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คนใหม่ สืบแทนบิดาของเขา ซึ่งขยับขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานอาวุโส
ธนินท์ ในวัย 77 ปี พูดถึงบทบาทของ ศุภชัย ในนิตยสาร Nikkei Asian Review ว่า ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540 ศุภชัย ได้เจรจาแผนปรับโครงสร้างธุรกิจโทรคมนาคมกับธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่ง จนเกิดความเชื่อมั่นและสามารถผ่านพ้นวิกฤติพัฒนาเติบโตจนกลายเป็นบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน
เขายังบอกกับ Nikkei Asian Review ด้วยว่า ระหว่าง 10 ปีจากนี้ ต้องสร้างว่าที่ซีอีโอคนใหม่ ขึ้นมารับช่วงต่อ โดยผู้บริหารระดับสูงควรมีวาระบริหารงานที่ 10 ปี เพราะ 5 ปีนั้นสั้นเกินไป เมื่อพ้นจากซีอีโอแล้ว ศุภชัย ซึ่งปัจจุบันอายุ 50 ปี จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการต่อไป
ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ "ทีมเศรษฐกิจ" ได้พูดคุยกับ ศุภชัย ในหลากหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายในบทบาทใหม่ ที่ใหญ่ขึ้น รวมทั้ง "ข้อกล่าวหา" ที่สังคมไทย ตั้งข้อสงสัยต่อการทำธุรกิจของซีพี ตลอด 96 ปี ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย
"ผมไม่ได้เข้ามาเพื่อพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน อะไรที่ดีอยู่แล้ว อย่างเช่นธุรกิจอาหารภายใต้ซีพีเอฟ ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งอย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่น แมคโคร ก็ปล่อยให้ทำไป อะไรที่อ่อนแอ ก็อาจต้องเสริมโดยปัจจุบันซีพีมีสายธุรกิจทั้งหมด 8 กลุ่มได้แก่ อาหาร, ค้าปลีก-ค้าส่ง, โทรคมนาคม-สื่อ, ยา (ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน), รถยนต์, การเงิน-การลงทุน, อสังหาริมทรัพย์ และล่าสุดอี-บิซิเนส"
ธุรกิจพวกนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวเข้าไป ถ้าเราไม่ปรับหรือไม่พยายาม เราอาจกลายเป็นองค์กรล้าสมัย แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคต หรือจะเข้าไปเสริมในธุรกิจที่มีอยู่
ในแง่ขององค์กร นอกจากการมุ่งไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลแล้ว เรายังมีเป้าหมายที่จะยึดมั่นใน 2 หลักการสำคัญ นั่นคือ 1.การมีธรรมาภิบาลซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงความพยายามในการแก้ปัญหา ที่ทำให้ซีพีกลายเป็นจำเลยสังคมในหลายๆเรื่อง และ 2.การจัดการประเมิน วิเคราะห์ ข้อมูล (Information) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้รู้จักลูกค้าให้มากที่สุด ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด
นอกจากนั้น จะเป็นเรื่องของการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งไม่ใช่แค่สร้างศูนย์ R&D หรือมีงบสนับสนุนเพียงพอเท่านั้น แต่สำหรับซีพียังหมายถึงการลงทุนในบริษัทนวัตกรหรือสตาร์ตอัพที่ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ที่เราวางเอาไว้ และสุดท้ายคือเรื่อง "คน" ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในองค์กร
การทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ถ้าบอกว่าเราแค่รักษาสิ่งที่มีอยู่ นั่นคือการถอยหลัง เราต้องเติบโตให้ได้ต่อเนื่อง ต้องรุกไปข้างหน้า เพื่อประกันความยั่งยืนของธุรกิจ เราไม่สามารถอยู่เฉยๆแล้วบอกว่าองค์กรจะอยู่รอดได้
ถ้าถามว่าซีพีจะใหญ่ไปถึงไหน ผมอยากให้มองว่าซีพีวันนี้แข่งกับใคร อย่างซีพีเอฟวันนี้เราแข่งกับระดับโลก ถ้าไม่แข่งอยู่ไม่ได้แล้วคู่แข่งจะกลับมาตีเราในประเทศด้วยถ้าสมมติวันนี้ซีพีเอฟแพ้ เราถูกต่างชาติเทกโอเวอร์ไป เราคงถูกโจมตีน้อยกว่านี้ มันอาจเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ
หรืออย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่นเราแข่งกับรายใหญ่ๆทั้งนั้น ถ้าสมมติญี่ปุ่นมาลงทุนเซเว่นเอง เซเว่นอาจไม่โดนด่าเท่านี้ อ่อนไหวน้อยกว่านี้
เซเว่นทุกวันนี้มีพนักงาน 160,000 คน ใน 1 ร้านมีพนักงาน 3 กะ 12 คน มีร้านทั้งหมด 9,000 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 4,500 ร้าน ต่างจังหวัด 4,500 ร้าน การที่เซเว่นทำให้โชห่วยอยู่ไม่ได้นั้น เป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว
พบว่าร้านโชห่วยที่อยู่ใกล้เซเว่น เปลี่ยนเป็นให้เช่าที่ รวยกว่าเดิม เพราะทำเลดีขึ้นมากเมื่อเซเว่นเปิด หลายร้านปรับไปขายของที่เซเว่นไม่ขาย รวยขึ้น
ประเด็นของผมคือ เซเว่นไม่ได้กระทบโชห่วยมากขนาดนั้น แต่ที่กระทบคือยี่ปั๊วซาปั๊ว เราไม่ได้จัดจำหน่ายผ่านพวกนี้ ศัตรูของเราอยู่ที่ในมืด ทำอย่างไรได้
60% ของร้านเซเว่นเป็นแฟรนไชส์ เราสร้างงาน สร้างคน สร้างเถ้าแก่ ให้ความสะดวกปลอดภัยแก่ชุมชน อยากให้มองในแง่ประโยชน์บ้าง
คนถาม ทำไมตั้งร้านติดกัน ในข้อเท็จจริง เราเป็นร้านสะดวกซื้อ ถ้าร้านหนึ่งแน่นเกินไป คนรอนานเราต้องเปิดอีกร้าน เป็นมาตรฐานของธุรกิจ และเราจะต้องถามเถ้าแก่ร้านเดิมก่อน ว่าช่วยขยายร้านได้ไหม ลูกค้ารอนานถ้าเถ้าแก่ปฏิเสธ เราจะหาเถ้าแก่รายอื่นให้มาเปิด ถ้าไม่มีคนเปิด จึงจะเปิดเอง
ที่ผ่านมาไม่เคยมี ที่เปิดอีกร้านแล้วอีกร้านเจ๊งเพราะส่วนใหญ่เป็นเจ้าของเดียวกัน
ผมกำลังบอกว่าสิ่งที่เราอาจไม่เห็นก็คือ วันนี้คนไทยแข่งกับทั้งโลกเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) เพราะคำว่าฟรีเทรดหรือการค้าเสรี ซีพีคือตัวแทนคนไทยที่แข่งกับระดับโลก ในเกือบทุกมิติธุรกิจจะบอกว่าซีพีผูกขาดไม่ได้ มันไม่จริง เป็นเรื่องที่สมมติขึ้นมา แล้วมันเพี้ยน
สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีกลุ่มแอนตี้ซีพี กล่าวหาเราต่างๆนานา เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ทุกประเทศที่เราเข้าไปทำธุรกิจ เขาเหล่านั้นมองว่าเราเป็นองค์กรระดับชาติที่เป็นตัวอย่างที่ดี
ผมมองว่าเป็นเพราะซีพีเป็นนักพัฒนา เป็นนักอุตสาหกรรม (Industrialist) เราไม่เก่งด้านการสื่อสาร
พอเรากลายเป็นองค์กรที่ถูกบอกว่าเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ของประเทศ เราจะถูกมองว่าเป็นตัวแทนของระบบ "ทุนนิยม" (Capitalisation) ทันที เหมือนตกเป็นเหยื่อ เป็นตัวอย่างที่ถูกหยิบยกได้ง่าย
บางเรื่องไร้สาระ ไม่จริง บางเรื่องมีส่วนที่จริง แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
แต่ซีพีต้องยอมรับว่า เมื่อเราใหญ่ เมื่อเป็นบริษัทที่เขาเรียกว่าเป็นผู้นำ ก็ต้องยอมรับว่าความคาดหวังในซีพี สูงกว่าองค์กรปกติ จริงๆแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรต่ำกว่ามาตรฐาน สูงกว่าด้วยซ้ำ แต่เราถูกคาดหวังมากกว่า
ถ้าซีพีไม่อยู่ในมาตรฐานที่ดี พูดตรงๆนะครับ มันอยู่ไม่ได้จนทุกวันนี้แน่ส่งออกก็คงไม่ได้ ไปลงทุนที่ไหนก็คงไม่มีใครต้อนรับ คงเจ๊ง มาตรฐานเราสูง แต่ก็เข้าใจว่าความคาดหวังก็ยิ่งสูง เพราะเราถือเบอร์ 1 ในฐานะธุรกิจไทย เราทำธุรกิจครอบคลุมกว้างขวาง
เราไล่ตามความคาดหวังไม่ทันเรายอมรับและยังสื่อสารแย่ด้วย หลายเรื่องเราละเลยนี่เป็นสิ่งที่ซีพีต้องปรับ ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ในยุคนี้
ประกอบกับเมื่อการเมืองไม่มั่นคง ไม่เสถียร การเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้กันทางอุดมคติ มีการจับกระแสสังคม มองว่าอะไรพูดแล้วมีน้ำหนัก สร้างกระแสสังคมได้ เราก็ตกเป็นเป้า เป็นเหยื่อได้ง่าย
ยกตัวอย่างเรื่องกล้ายาง จริงๆลองไปนับดู ซีพีแทบไม่ยุ่งกับโครงการภาครัฐ มีอยู่แค่เรื่องกล้ายาง โครงการตอนนั้น 3 ปีมูลค่า 1,500 ล้านบาท ซีพีเอฟตอนนั้น รายได้ก็เกิน 300,000 ล้านบาทแล้ว
มีคนไปถามคุณธนินท์ว่า ทำไปทำไม คุณธนินท์ตอบว่า ต้นยางต้องใช้เวลา 7 ปีในการปลูก ถ้าเกษตรกรเอาไปปลูก แล้วไม่ได้พันธุ์ดี ก็คือสูญเปล่า ซีพีต้องช่วยเรื่องนี้เรามีเทคโนโลยีมีความรู้ สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเกษตรที่เหมือนกันหมดทุกภาคการเกษตรก็คือ พันธุ์ต้องดี
เราพยายามชี้แจง แต่ไม่มีใครฟัง ซีพีคือเป้าที่ ยิงมั่วก็โดน ในที่สุดโปรเจกต์นี้ เราขาดทุนเป็นจำนวนมาก เพราะเกษตรกรภาคอีสานปลูกยางไม่เป็น พอกล้าตาย ซีพีก็โดนอีกว่า เอากล้าไม่ดี ไม่แข็งแรงมาให้ปลูก ซึ่งเราต้องเอากล้าใหม่ไปให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
อย่างซีพีเอฟ เราถูกโจมตีว่าจ้างเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ให้ซื้ออาหารสัตว์ของเรา แล้วเอาสัตว์มาขายให้กับซีพี เกษตรกรที่ทำสัญญา Contact Farming กับเราเป็นสัญญาทาสจนเท่าเดิมเพิ่มเติมคือหนี้ มีแต่ซีพีที่รวยขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
ตอนนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ทำสัญญา Contact Farming กับซีพีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 5,000 ราย เราสำรวจพบว่ามากกว่า 90% ของเกษตรกรพึงพอใจที่จะอยู่กับซีพี อยากให้ลองไปสำรวจดู ถ้าไม่เชื่อข้อมูลของเรา
เกษตรกรส่วนใหญ่ ที่ไม่พอใจที่สุด คือที่ไม่ได้เป็น Contact Farmer กับเรา เขาเสียโอกาสเพราะไม่ได้รับการประกันราคา ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ พวกเขาไม่ถูกเลือกและมีเป็นจำนวนมาก
คุณธนินท์สอนไว้ว่า ซีพีเป็นคู่ชีวิตกับเกษตรกรผมก็ยืนยันได้อีกแรงว่า ถ้าไม่สำเร็จเราไม่โตมาถึงขนาดนี้แน่ เรามีการปรับปรุงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เคยมาดู Contact Farming ของเรา แล้วบอกว่าเป็นมาตรฐานที่ดี
ความจริงซีพีเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรไม่กี่ตัว นอกจากหมู ไก่ ข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ อย่างข้าวเราแค่เป็นผู้ซื้อแล้วเอามาบรรจุถุงขายต่อในนามข้าวตราฉัตร
เรื่องข้าวโพด มีคนบอกเราถางป่า ตัดต้นไม้บนภูเขา เอาพื้นที่ไปปลูกข้าวโพด ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง เรารับซื้อข้าวโพด แต่ไม่เคยสนับสนุนให้ไปปลูกบนภูเขา เพราะน้ำน้อย ผลผลิตต่ำ ปลูกบนที่ราบได้ 1,500-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ปลูกบนเขาอย่างมากก็ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ค่าขนส่งก็แพง
ข้าวโพดเป็นพืชพิเศษ ปลูกง่าย ฝนเดียวก็ขึ้น ถ้าไม่อยากให้เอาไปปลูกบนเขา ก็ต้องอย่าตัดถนนเข้าไป ตัดถนนเข้าไป ชาวบ้านก็เข้าไปปลูกข้าวโพด กู้เงินได้ด้วย ทั้งที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
ที่สุดแล้ว มันคือปัญหาความยากจน เขาไม่มีที่ดินทำกินที่ถูกต้อง สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องจริงก็คือ ถ้าคนขาดความมั่นคงในชีวิต เขาจะทำอะไรก็ได้ แม้แต่ทำผิดกฎหมาย
ปัญหาที่ดินทำกิน การรุกป่า เป็นเรื่องที่หยั่งรากลึกมาก เป็นปัญหาระดับโลกและอ่อนไหวมาก
เราเคยไปตามตรวจสอบ ทำไมปล่อยให้ถางป่า ถางเขาได้ง่ายๆ ก็พบว่ากฎหมายไม่มีความเข้มแข็งไม่มีการจับกุมเพราะเกษตรกรทำกันมาตั้งนานแล้วเราเคยถึงขั้นให้รางวัลนำจับแต่จับเข้าคุก 3 เดือน เกษตรกรออกมา ก็กลับไปปลูกใหม่ เพราะมันเป็นบ้านของเขา
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องร่วมแก้ปัญหาด้วย แต่ซีพีไม่ได้รุกป่า ถางเขา เราเกี่ยวเพราะเป็นคนซื้อข้าวโพด ซึ่งเป็นการซื้อจากพ่อค้าคนกลางหรือผู้รวบรวมด้วยซ้ำ เราไม่ได้ลงไปซื้อกับเกษตรกรโดยตรง
แต่เราก็เข้าใจว่า ถ้าจะหาผู้ร้ายของเรื่องนี้ ก็ต้องเป็นซีพีนี่แหละ เพราะความใหญ่
นี่เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับว่ามันเป็น "ภาระผู้นำ" การถูกโจมตีมันมาพร้อมกับความเป็นผู้นำ ผมมองว่ามันเป็นความท้าทายที่ซีพีต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องที่ถูกเข้าใจผิดๆให้ได้รวมทั้งปรับปรุงตัวของเราเอง
แน่นอน ซีพีไม่ต้องการซื้อข้าวโพดที่มาจากที่ผิดกฎหมาย ที่เป็นพื้นที่บุกรุก ทำลายป่ารวมทั้งสินค้า ผลผลิตที่มาจากการละเมิดแรงงานเด็ก แรงงานประมงผิดกฎหมายแรงงานทาส
เรากำลังจริงจังกับเรื่องนี้ เราจี้ไปกับพ่อค้าคนกลางแล้ว แต่พอเริ่มทำเรื่องนี้ เราก็ถูกต่อต้านมาก โดยเฉพาะจากเกษตรกรที่เรายืนยันว่าจะไม่รับซื้อผลผลิต ถ้าไม่แก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด
นอกจากนั้นเรายังกำลังทำงานกับภาครัฐอย่างจริงจัง ช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างถูกต้องซึ่งเขาจะหวงแหนที่ดินของเขา อาจต้องเริ่มต้นจากการให้ความยุติธรรมแฟร์กับเขาก่อน
มาถึงวันนี้ซีพีช่วยปรับให้การเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม (Industrialization) ไปแล้ว นั่นคือเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ ใช้แรงคนน้อยลง ซึ่งทำมากว่า 10 ปีแล้ว
แต่ภาคเกษตรอื่นๆ อย่างภาคพืชผล ไม่มีคนช่วยทำ เกษตรกรจึงเป็นธุรกิจขนาดเล็กสุดคือธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในความเสี่ยงของการไม่มีองค์ความรู้ การไม่มีการบริหารจัดการ การเข้าไม่ถึงทุน การไม่มีตลาด ขาดมิติของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และยังอยู่บนความเสี่ยงภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยโรคระบาด ภัยตลาดโลกผันผวน
การที่ Industrialization ไม่เกิด ในภาคเกษตรพืชผล เป็นที่มาของปัญหามากมายเกิดช่องว่าง มีการใช้ประชานิยม
มีถึง 300 อำเภอที่ประชากรอยู่ใต้เส้นมาตรฐานความยากจน รายได้ต่ำกว่าวันละ 5 เหรียญสหรัฐฯ พอไทยแลนด์ 4.0 เข้ามา ช่องว่างก็จะกว้างขึ้นไปอีก
ที่เรากำลังทำหรือพยายามช่วย ในฐานะภาคเอกชนที่ถูกคาดหวังมากกว่าบริษัททั่วไปก็คือเรากำลังสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยชุมชนทั้งเรื่องการศึกษาและวิชาชีพผ่านผู้ประกอบการระดับเล็กถึงกลาง ซึ่งมีความยึดโยงกับชุมชน ช่วยเหลือชุมชน พาเดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน
ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ภาคเกษตรกรจะกลายเป็นผู้สูงวัยก่อนภาคอื่นๆ ถ้าการเปลี่ยนแปลง (Transform) ตรงนี้ไม่เกิด จะมีปัญหาแน่ เราต้องทำให้พวกเขาก้าวไปสู่ระบบอุตสาหกรรมให้ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ